ออสเตรเลียเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีสัดส่วนประชากรมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน (อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป) สูงเป็นอันดับ 7 ในจำนวนกลุ่มประเทศสมาชิก Organisation for Economic Cooperation and Development (OECD) และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ที่หาซื้อได้ง่ายและราคาประหยัด คาดว่า ภายในปี 2568 ชาวออสเตรเลียวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 3 จะประสบปัญหาน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน และโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินเป็นสาเหตุสำคัญต่อการเสียชีวิตของชาวออสเตรเลียรองจากการสูบบุหรี่ ปัจจุบันชาวออสเตรเลียวัยผู้ใหญ่ร้อยละ 31 และวัยเด็กร้อยละ 8 กำลังประสบปัญหาโรคอ้วนและน้ำหนักเกิน
Australian Medical Association (AMA) คาดการณ์ การบริโภคเครื่องดื่มผสมน้ำตาลของชาวออสเตรเลียในแต่ละปีอยู่ที่ 2.4 พันล้านลิตร ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้เยาว์เพศชาย ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาด้านสุขภาพและความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ได้แก่ โรคเบาหวานชนิด 2 โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคถุงน้ำดี โรคข้อเข่าเสื่อม โรคหัวใจล้มเหลวและระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง และก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อสภาพจิตใจ ซึ่งนอกจากจะบั่นทอนสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของชาวออสเตรเลียแล้วยังเป็นการเพิ่มภาระด้านงบประมาณด้านการป้องกันและการให้บริการโรงพยาบาลและสาธารณสุขออสเตรเลียด้วย
รายงานเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากและฟันในออสเตรเลียล่าสุด โดยสถาบันสุขภาพและสวัสดิการออสเตรเลีย (Australian Institute of Health and Welfare : AIHW) พบว่า สุขภาพในช่องปากของชาวออสเตรเลียแย่ลง ทั้งในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กพื้นเมือง เด็กที่อาศัยในเขตพื้นที่ห่างไกลและเด็กที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ โดยเด็กออสเตรเลียประมาณร้อยละ 42 ที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 5-10 ปี มีปัญหาฟันน้ำนมผุ และเด็ก 1ใน 4 คนที่มีอายุระหว่าง 6-14 ปี มีปัญหาฟันผุถาวร และชาวออสเตรเลียที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปร้อยละ 11.2 มีฟันผุ ฟันหลอและมีการใส่ฟัน เนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือสารให้ความหวานซึ่งเครื่องดื่มกระป๋องที่มีปริมาณสุทธิ 375 มิลลิกรัมจะประกอบด้วยน้ำตาลประมาณ 8-12 ช้อนชา (33-50 กรัม) สูงกว่าปริมาณน้ำตาลที่ควรรับประทานในแต่ละวัน เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือสารให้ความหวานสูงพบมากในเครื่องดื่มหลากหลายประเภททั้งเครื่องดื่มคาร์บอเนตและเครื่องดื่มไม่ผสมคาร์บอเนต เช่น น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มสำหรับผู้ออกกำลังกาย
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ยังไม่มีการเรียกเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มให้ความหวาน แต่จำนวนประชากรที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนมีสัดส่วนสูงติดอันดับโลก ศาสตราจารย์ Steve Robson ประธานสมาคม Australian Medical Association (AMA) รวมทั้งองค์กรและหน่วยงานสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องต่างๆได้เรียกร้องให้รัฐบาลกลางออสเตรเลียพิจารณาเรียกเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มให้ความหวานทั้งหมดโดยเน้นบังคับใช้กับเครื่องดื่มที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นหลัก ยกเว้นน้ำผลไม้ 100% นมและเครื่องดื่ม Cordial
AMA ได้จำลองผลลัพธ์ในการเรียกเก็บภาษีน้ำตาลกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลหรือสารให้ความหวานบางประเภท โดยพิจารณาจากปริมาณน้ำตาลที่กำหนดไว้ 40 เซ็นต์สหรัฐฯต่อประมาณน้ำตาล 100 กรัมที่ผสมในเครื่องดื่ม (หรือประมาณ 16 เซ็นต์ต่อเครื่องดื่มให้ความหวานแบบกระป๋องขนาด 375 มิลลิกรัม) การเรียกเก็บภาษีน้ำตาลจะทำให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้น ความต้องการดื่มเครื่องดื่มของประชากรลดลง ซึ่งจะช่วยลดการบริโภคน้ำตาลลงได้ร้อยละ 12 -18 และสร้างรายได้จากการจัดเก็บภาษีให้แก่รัฐบาลกลางเฉลี่ยประมาณ 814 ล้านเหรียญออสเตรเลียต่อปี
อีกทั้ง ผู้ผลิตน้ำตาลอ้อยออสเตรเลียยังได้รับผลกระทบน้อยเนื่องจากสินค้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าส่งออกร้อยละ 80 และผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศเพียงร้อยละ 20 และผลสำรวจผู้บริโภคออสเตรเลียยังพบว่า ชาวออสเตรเลียร้อยละ 60 สนับสนุนการเรียกเก็บภาษีน้ำตาลและร้อยละ 77 สนับสนุนการเรียกเก็บภาษีน้ำตาลหากรัฐบาลนำรายได้ทั้งหมดไปใช้เป็นเงินทุนป้องกันการเกิดโรคอ้วน
นอกจากนี้ ผลการศึกษาและวิจัยจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง 3 แห่ง (มหาวิทยาลัย Monash ร่วมกับมหาวิทยาลัย Deakin และมหาวิทยาลัย Melbourne) ได้สรุปผลการสำรวจพบว่า การเรียกเก็บภาษีน้ำตาลกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลหรือสารให้ความหวานจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสุขอนามัยในช่องปากของชาวออสเตรเลียทุกช่วงวัย โดยเฉพาะสุขภาพฟันในวัยเด็ก
ศาสตราจารย์ Steve Robson ให้ความเห็นว่า ผลสรุปจากการวิจัยของมหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่งเกี่ยวกับสุขอนามัยในช่องปากของชาวออสเตรเลียจะเป็นอีกหนึ่งข้อมูลและแรงจูงใจเพิ่มเติมในการกระตุ้นให้รัฐบาลกลางเห็นความสำคัญในการเรียกเก็บภาษีน้ำตาลกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลหรือสารให้ความหวาน และยังมีปัจจัยบวกหลายประการ เช่น ช่วยลดค่าใช้จ่ายภาครัฐด้านสวัสดิการสุขภาพและเพิ่มรายได้ภาครัฐเพื่อใช้เป็นเงินกองทุนในโครงการส่งเสริมสวัสดิการด้านสุขภาพของออสเตรเลียต่อไป
…………………………………………………………………….
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์
Australian Medical Association
Australian Institute of Health and Welfare
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)