เนื้อหาสาระข่าวและบทวิเคราะห์: ภายในภูมิภาคแคริบเบียนยังคงมีความท้าทายที่มีความสำคัญต่อการค้าอย่างยิ่ง นั่นก็คือความท้าทายด้านการขนส่งในระดับภูมิภาคแคริบเบียนเอง ทั้งในแง่ต้นทุน ระยะทาง ความคุ้มทุนในการดำเนินการ ตลอดจนทางเลือกหรือตัวเลือกของระบบขนส่งที่มี เนื่องจากลักษณะและปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของภูมิภาคแคริบเบียนเองที่ประกอบด้วยหมู่เกาะประเทศ/ดินแดนที่กระจายตัวประมาณ 700 เกาะ รวมประมาณ 25 ประเทศ/ดินแดน แต่ด้วยจำนวนประชากรในแต่ละประเทศที่มีขนาดมาก-น้อยแตกต่างกันมากพอสมควร จะเห็นได้จากขนาดประชากรประเทศที่มีประชากรหลักสิบล้านขึ้นไปซึ่งมีทั้งหมด 3 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐโดมินิกัน (Dominican Republic) เฮติ (Haiti) และคิวบา (Cuba) ประเทศ/ดินแดนที่มีประชากรหลักล้านขึ้นไปซึ่งมีทั้งหมด 3 ประเทศ/ดินแดน ได้แก่ จาเมกา (Jamaica) เปอร์โตริโก (Puerto Rico) และตรินิแดดและโตเบโก (Trinidad and Tobago) ประเทศ/ดินแดนที่มีประชาการหลักแสน เช่น บาฮามาส (Bahamas) บาร์เบโดส (Barbados) และประเทศที่มีประชาการเพียงหลักหมื่นมากถึง 13 ประเทศ ซึ่งจำนวนประชากรของแต่ละประเทศก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการพิจารณาขนาดตลาดสินค้าที่เชื่อมโยงกับปริมาณการขนส่งสินค้าและการคำนวณต้นทุนและความคุ้มทุนในการขนส่ง
ประเด็นเรื่องของความเชื่องโยงภายในภูมิภาค (Intra-Regional Connectivity) ได้ถูกพูดถึงในเวทีการประชุมระดับผู้นำของประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน หรือ CARICOM (Caribbean Community and Common Market) ในการประชุมทั่วไประดับผู้นำรัฐบาลของ CARICOM ครั้งที่ 47 (47th Regular Meeting of the Conference of Heads of Governments of CARICOM) ที่ซึ่งประธาน CARICOM วาระปัจจุบัน และประธานาธิบดีประเทศเกรนาดา (Grenada) Dickon Mitchell ได้ประกาศความคืบหน้าในการดำเนินการจัดหาเรือ (Vessel) ที่มีขนาดที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาและส่งเสริมด้านการค้าและการเดินทางในระดับภูมิภาค อนึ่ง โครงการความเชื่อมโยงทางทะเล (Maritime Connectivity) ได้ริเริ่มขึ้นมาระยะหนึ่งแล้วในภูมิภาคแคริบเบียนตอนใต้ ระหว่างประเทศตรินินแดดและโตเบโก บาร์เบโดส เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ (St. Vincent and the Grenadines) และกายอานา (Guyana) ซึ่งในปัจจุบันยังคงอยู่ในขั้นตอนการจัดหาเรือ และเรือสินค้า (Cargo) ที่มีขนาดเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการขนส่งสินค้าที่มีล้อ (Roll-on and Roll-off)
เมื่อเดือนมกราคมต้นปีที่ผ่านมา CARICOM ได้อำนวยการจัดตั้งบริษัท CARI Cargo Inc. ขึ้นมาซึ่งตั้งอยู่กรุงจอร์จทาวน์ (Georgetown) ประเทศกายอานา และได้ดำเนินการให้บริการเรือขนส่งขนาดบรรทุก 400 คน รถยนต์ 60 คัน ซึ่งมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ร้านอาหาร บาร์ และ VIP Lounge แต่นับได้ว่าเป็นโมเดลทดลอง (Pilot Project) ที่ในขณะนี้ยังมีให้บริการเฉพาะประเทศกายอานา – ตรินิแดดและโตเบโก – บาร์เบโดส เท่านั้น ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็มีแผนที่จะขยายโมเดลลักษณะใกล้เคียงกันให้ครอบคลุมทั้งภูมิภาค
ภาพเรือบริษัท CARI Cargo Inc. (ภาพจาก Caribbean Broadcasting) Cooperation)
นอกจากนี้ยังมีประเด็นการขนส่งทางอากาศ ในที่ประชุมได้รับทราบถึงความคืบหน้าความริเริ่มในการนำสายการบิน LIAT 2020 กลับมาให้บริการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นสายการบินประจำภูมิภาคแคริบเบียนแต่ดั้งเดิม มีชื่อเต็มว่า Leeward Islands Air Transport Services ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1974 เป็นสายการที่ให้บริการเส้นทางการบินภายในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคแคริบเบียนที่มีจุดหมายกว่า 15 แห่งทั่วแคริบเบียน โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศแอนติกาและบาร์บูดา (Antigua and Barbuda) โดยมีรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในแคริบเบียนทั้งหมด 11 ประเทศเป็นผู้ถือหุ้นร่วมกันกว่าร้อยละ 95 แต่นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เป็นต้นมาด้วยการประสบสภาวะขาดทุนอย่างหนักและวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้สายการบินต้องระงับการบริการไป อย่างไรก็ตามความริเริ่มในการนำสายการบิน LIAT กลับมาใหม่ในชื่อ LIAT 2020 ก็เป็นไปได้อย่างดี และได้ทำการเริ่มบินเป็นครั้งแรกอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมานี้ โดยทำการบินจากประเทศแอนติกาและบาร์บูดาไปยังประเทศเซนต์ลูเซีย (St. Lucia) ซึ่งจะยังคงให้บริการในเส้นทางและจำนวเที่ยวบินที่จำกัดอยู่ในระยะนี้ อย่างไรก็ตาม ถือเป็นความคืบหน้าทางการขนส่งทางอากาศที่น่าพึงพอใจอย่างยิ่งสำหรับภูมิภาคแคริบเบียน
ภาพบรรยากาศเที่ยวบินแรกของ LIAT 2020 (ภาพจาก Dominica News Online)
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: จากการประสานงานและหาข้อมูลในพื้นที่ของสคต. ไมอามี พบว่าประเด็นเรื่องของการขนส่งในภูมิภาคแคริบเบียนนั้นยังคงมีความท้าทายอยู่พอสมควรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องต้นทุนและความคุ้มทุน การขนส่งไม่ว่าทางน้ำหรือทางทะเล เพื่อการค้าหรือการเดินทางทั่วไประหว่างประเทศ/ดินแดนเกาะขนาดเล็กด้วยกันในแคริบเบียนยังคงมีต้นทุนสูงกว่ามากเมื่อเที่ยวกับการขนส่งจากประเทศใหญ่กว่ากระจายลงไปแต่ละประเทศ ทำให้สภาพการณ์เรื่องการขนส่งในภูมิภาคแคริบเบียนยังคงต้องพึ่งพาเมืองไมอามี เป็นศูนย์กลางทั้งการขนส่งทางทะเลและทางอากาศ อย่างไรก็ตาม มีความพยายามของประเทศที่มีศักยภาพบางประเทศที่จะผลักดันตัวเองขึ้นมาแบ่งเบาและรับหน้าที่ในการเป็นศูนย์กลางในการขนส่งระดับอนุภูมิภาคอีกทอดหนึ่ง ซึ่งประเทศที่กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทเด่นชัดคือประเทศตรินิแดดและโตเบโก สำหรับอนุภูมิภาคแคริบเบียนตอนใต้ ซึ่งมีความคืบหน้าบางส่วนที่สอดคล้องกับเนื้อหาข่าวที่ได้หยิบยกมารายงานในสัปดาห์นี้
สำหรับผู้ประกอบการไทย การรับทราบข้อมูลและติดตามความคืบหน้าของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งในระดับภูมิภาค / อนุภูมิภาคของแคริบเบียนจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจตลาดสินค้าแคริบเบียน เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนด้านการตลาด และการขนส่งสินค้า รวมถึงโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาคแถบนี้ เพื่อใช้ในการคำนวณต้นทุนราคาสินค้า ตลอดจนการวางแผนทางเลือกเส้นทางในการกระจายสินค้ามายังภูมิภาคนี้
ที่มา: St. Vincent Times
เรื่อง: “CARICOM Explores New Vessel Types for Regional Connectivity”
โดย: St. Vincent Times Editorial Staff
สคต. ไมอามี /วันที่ 6 สิงหาคม 2567
อ่านข่าวฉบับเต็ม : อนาคตความเชื่อมโยงภายในภูมิภาคแคริบเบียน