“ห้างสรรพสินค้า รายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 13 เดือน”
จำหน่ายดีทั้งสินค้าอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องสำอาง
สมาคมห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น (JAPAN DEPARTMENT STORES ASSOCIATION) ได้รวบรวมข้อมูลยอดจำหน่ายเดือนมีนาคมของห้างสรรพสินค้า (ที่เปิดทำการเกิน 1 ปี) ทั่วประเทศญี่ปุ่น พบว่ายอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ยอดจำหน่ายเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ด้วยอานิสงค์ของเทศกาลชมดอกซากุระ และการแข่งขัน World Baseball Classic ทำให้ยอดจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การที่ผู้คนมีโอกาสออกนอกบ้านมากขึ้นจึงช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่มและเครื่องสำอาง สินค้าราคาสูงมีแนวโน้มจำหน่ายดีต่อเนื่องเช่นกัน
ยอดจำหน่ายเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2562 หรือช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 ฟื้นขึ้นมาอยู่ในระดับร้อยละ 93.1 แม้จำนวนลูกค้าน้อยกว่าร้อยละ 19.8 แต่เห็นได้ชัดว่าจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ยอดจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีเพิ่มขึ้น 4.2 เท่า หากพิจารณาจากมูลค่าจะเห็นได้ว่า สินค้าประเภทกระเป๋า และนาฬิกาซึ่งเป็นสินค้าราคาสูงมีสัดส่วนค่อนข้างสูง แต่หากพิจารณาจากจำนวน สินค้าประเภทเครื่องสำอางก็จำหน่ายดีเช่นกัน จากการสอบถามสมาคมฯ ทราบว่า ยอดจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีระหว่างเดือนธันวาคม 2565 ถึง เดือนมีนาคม 2566 ระยะเวลา 4 เดือนมียอดจำหน่ายประมาณ 20,000 ล้านเยน (ประมาณ 5,000 ล้านบาท)
หากพิจารณาตามประเภทสินค้าพบว่า สินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่มมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 ทั้งนี้คาดว่าเป็นเพราะอุปทานจากการจัดงานและพิธีต่างๆ เช่น พิธีสำเร็จการศึกษา พิธีเปิดภาคเรียน ฯลฯ ทำให้เสื้อผ้าสำหรับสวมใส่ในพิธีการต่างๆเป็นที่ต้องการ และเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศผ่อนปรนการสวมหน้ากากทั้งในและนอกอาคารโดยให้ประชาชนพิจารณาการสวมใส่ด้วยตัวเอง ทำให้ยอดจำหน่ายเครื่องสำอาง เช่น ลิปสติก บลัชออน และครีมบำรุงผิวจำหน่ายได้ดี ยอดจำหน่ายเครื่องสำอางโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4
สำหรับสินค้าอาหารมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 สินค้าประเภทอาหารกล่องและอาหารเรียกน้ำย่อยจำหน่ายดีเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลชมดอกซากุระ และตรงกับช่วงการแข่งขัน World Baseball Classic นอกจากนี้ อีเวนท์จัดจำหน่ายอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดต่างๆ และอีเวนท์ช่วงวัน white day ก็ช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายเช่นกัน
สินค้าประเภทของใช้ส่วนตัวซึ่งรวมถึง luxury brand อย่างกระเป๋าและกระเป๋าสตางค์นั้น มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 เนื่องจากมีการออกนอกบ้านมากขึ้นทำให้สินค้าประเภทกระเป๋าเดินทางและของใช้ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางท่องเที่ยวจำหน่ายดี
หากพิจารณาแยกตามเขตพื้นที่พบว่า ห้างสรรพสินค้าในเมืองใหญ่รายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 18 เดือน ยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น สำหรับเขตพื้นที่อื่นนอกเหนือจากเมืองใหญ่รายได้เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.7 รายได้เพิ่มขึ้นเป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน แต่เขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรายได้ลดลงในรอบ 3 เดือน แสดงให้เห็นว่า การฟื้นตัวของต่างจังหวัดยังค่อนข้างช้า
ยอดจำหน่ายของห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ช่วงวันที่ 1 – 17 เมษายน 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากเปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 และในวันที่ 8 พฤษภาคม รัฐบาลมีแผนประกาศลดระดับเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นระดับ 5 (เทียบเท่ากับไข้หวัดใหญ่) ซึ่งสมาคมฯมีความคาดหวังว่า การที่ผู้คนมีความกระตือรือร้นที่จะออกจากบ้านมากขึ้น จะช่วยฟื้นฟูยอดจำหน่ายของห้างสรรพสินค้าได้
สมาคมห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นแถลงยอดจำหน่ายปีงบประมาณ 2565 (เดือนเมษายน 2565 – เดือนมีนาคม 2566) เท่ากับ 5.1401 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1.28 ล้านล้านบาท) ยอดจำหน่ายห้างสรรพสินค้า (ที่เปิดทำการเกิน 1 ปี) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2564 (เดือนเมษายน 2564 – เดือนมีนาคม 2565) การผ่อนปรนและยกเลิกมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้คนออกนอนบ้านมากขึ้น จำนวนลูกค้าเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สินค้าราคาสูงจำหน่ายดี อีกทั้ง นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นหลังเดือนตุลาคม ปี 2565 ยังช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายของห้างสรรพสินค้า
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
การผ่อนปรนและยกเลิกมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้คนออกนอกบ้านมากขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงที่ประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ฤดูกาลที่อากาศเริ่มอบอุ่น ทำให้กิจกรรมและเทศกาลต่างๆกลับมาจัดขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ยกเลิกการจัดไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และจากการสำรวจการบริโภคประจำเดือนเมษายนของสำนักงานคณะรัฐมนตรีพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคซึ่งเป็นดัชนีที่ชี้ให้เห็นถึงจิตวิทยาการบริโภคนั้นสูงขึ้น 1.5 จุด และสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน เป็นเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ความกังวลเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นเริ่มผ่อนคลายลง และการขึ้นเงินเดือนของบริษัทต่างๆ การผ่อนปรนการสวมหน้ากากของรัฐบาลทำให้ลูกค้าร้านอาหารและผู้เข้าร่วมงานอีเวนท์ต่างๆเพิ่มจำนวนขึ้น ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ มีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคและเพิ่มยอดจำหน่ายห้างสรรพสินค้าของประเทศญี่ปุ่นให้ฟื้นตัวกลับคืนสู่ระดับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
หากพิจารณายอดจำหน่ายของห้างสรรพสินค้าโดยแยกตามประเภทสินค้าแล้วจะเห็นว่า สินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่ม ของใช้ส่วนตัว และของจิปาถะซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์นั้นมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศส่งออกอันดับ 2 ของไทย การฟื้นตัวของห้างสรรพสินค้าย่อมมีส่วนเพิ่มโอกาสและกระตุ้นมูลค่าการส่งออกของสินค้าไทยสู่ประเทศญี่ปุ่น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
15 พฤษภาคม 2566
ที่มา :
หนังสือพิมพ์ Nikkei MJ ฉบับวันที่ 3 พฤษภาคม 2566
ภาพถ่ายและตารางประกอบข่าวจากหนังสือพิมพ์ Nikei MJ
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์ https://www.mistore.jp/store/shinjuku.html
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)