หลังจากผ่านพ้นสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บรรยากาศการค้าปลีกและยอดขายร้านอาหารในไต้หวันก็กลับมาอยู่ในภาวะขยายตัวอีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวันได้ประกาศตัวเลขมูลค่าค้าปลีกและยอดขายร้านอาหารในไต้หวันประจำเดือนมิถุนายน 2566 โดยมีมูลค่า 409,090 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 13.9) และ 91,740 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 34.7) ตามลำดับ ซึ่งเป็นตัวเลขประจำเดือนมิถุนายนที่สูงเป็นประวัติการณ์เลยทีเดียว
ห้างและเชนค้าปลีกในไต้หวันต่างพยายามสร้างความแตกต่างเพื่อเอาใจลูกค้า โดยเทศกาลสินค้าไทยเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่หลายห้างหันมาจัดอย่างคึกคักในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ จากเดิมที่ห้างในไต้หวันนิยมจัดเพียงเทศกาลญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ โดยปัจจัยหลักที่ห้างหันมาจัดเทศกาลไทยคือ ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับ 3 ที่ชาวไต้หวันนิยมเดินทางไป รองจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ประกอบกับสินค้าไทยมีการพัฒนาคุณภาพและบรรจุภัณฑ์ที่ดีขึ้นมากจากในอดีต ทำให้ผู้บริโภคไต้หวันให้การยอมรับสินค้าไทยมากขึ้น สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) หน่วยงานภายใต้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทย ที่รับผิดชอบตลาดไต้หวัน ได้เล็งเห็นโอกาสและร่วมมือกับ โมเดิร์นเทรดยักษ์ใหญ่ของไต้หวัน รวมทั้งสิ้น 8 แบรนด์ โดยครอบคลุมถึงไฮเปอร์มาร์ต เช่น ห้างคาร์ฟู ซึ่งจัดเดือนแห่งสินค้าไทยในทั้ง 68 สาขาทั่วไต้หวัน สามารถสร้างยอดขายรวมมากกว่า 14 ล้านบาท โดยสินค้าที่ขายดีได้แก่ ผักผลไม้สด (มังคุด ข้าวโพดอ่อน หน่อไม้ฝรั่ง) น้ำผลไม้ ข้าวหอมมะลิ ขนมขบเคี้ยว และอาหารพร้อมปรุง เป็นต้น และห้าง RT-Mart ซึ่งเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มี 22 สาขาทั่วไต้หวัน มียอดขายรวมประมาณ 9 ล้านบาท (สินค้าขายดีได้แก่ ข้าว น้ำผลไม้ ขนมขบเคี้ยว เครื่องปรุงรสและอาหารพร้อมปรุง) ห้างสรรพสินค้า ได้แก่ ห้าง Pacific ในเมืองผิงตง ห้าง SOGO สาขากว่างซาน เมืองไทจง ห้าง Global Mall สาขาเถาหยวน ห้าง Mega City สาขาป่านเฉียว โดยมียอดขายรวมมากกว่า 18 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีมีซุปเปอร์มาร์เก็ตระดับไฮเอนที่มีชื่อเสียงของไต้หวันได้จัดเทศกาลไทยร่วมกับสคต. ฯ ด้วย เช่น Breeze Super จำนวน 2 สาขาในไทเป และ City Super ที่มี 8 สาขาทั่วไต้หวัน
ที่มา : สคต. ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) / Economic Daily News (July 25, 2566)
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
การท่องเที่ยวถือเป็น Soft Power ที่สำคัญของไทยในการดึงดูดให้ผู้บริโภคชาวต่างชาติเดินทางมาสัมผัสและบริโภคสินค้าและบริการของไทย และทำให้สินค้าไทยได้รับการยอมรับมากขึ้นในตลาดต่างประเทศ เช่น ในไต้หวัน นอกจากนี้ ซีรี่ย์แนว Y ของไทยก็ได้รับความนิยมในตลาดไต้หวันเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเริ่มมีนักแสดงไทยมาร่วมแสดงในซีรี่ย์ของไต้หวันแล้ว เช่น ชานน สันตินธรกุล ในซีรี่ย์เรื่อง Oh No! ผีแซดกับแบดบอย จนทำให้มีดาราไทยไม่น้อยมีแฟนคลับมากจนสามารถจัดแฟนคลับมีตติ้งในไต้หวันได้ เช่น ดาราจากซีรี่ย์เรื่อง รักโคตรร้ายสุดท้ายโคตรรัก, F4 Thailand, แปลรักฉันด้วยใจเธอ, Cutie Pie เป็นต้น ล่าสุดในงานประกาศผลรางวัล Golden Melody Awards ครั้งล่าสุด ซึ่งรางวัลนี้ถือเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดของวงการเพลงไต้หวัน และได้รับความสนใจในระดับสูงมากในตลาดผู้ที่ใช้ภาษาจีนและกลุ่มผู้ฟังเพลงจีน ที่ประกาศผลไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็มีนักร้องไทยมาขึ้นร้องเพลงบนเวทีเป็นครั้งแรกด้วย คือ ภูมิ วิภูริศ ศิริทิพย์ และวงบอยแบนด์ของไทยคือ PERSES ได้ขึ้นโชว์ศักยภาพศิลปินไทยบนเวที GMA Showcase ด้วย สคต. เห็นว่าผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายตลาดมายังไต้หวันสามารถวางแผนการตลาดโดยอาศัย Soft Power ของไทยที่มีอยู่ต่อยอดไปในเชิงพาณิชย์ต่อไป
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)