หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > ห่วงโซ่อุปทานแบบยั่งยืนกำลังเป็นเรื่องใหม่ที่มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจ

ห่วงโซ่อุปทานแบบยั่งยืนกำลังเป็นเรื่องใหม่ที่มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจ

สำนักงานตรวจสอบด้านการส่งออกและเศรษฐกิจ (BAFA – Bundesamt für Wirtschaft und Ausfuhrkontrolle) ได้เปิดรับสมัครเจ้าหน้าที่ใหม่เพื่อรองรับการเปิดสำนักงานสาขาย่อยในเมือง Borna ซึ่งตั้งอยู่ 30 กิโลเมตร ห่างจากเมือง Leipzig โดยได้ยื่นข้อเสนอที่น่าสนใจ อาทิ เวลาทำงานที่ยืดหยุ่นโดยสามารถทำแบบ Home office ได้ (เพื่อให้ความสำคัญกับชีวิตครอบครัวที่จะได้มีตารางงานที่ยืดหยุ่น) และเสนอค่าจ้างพิเศษแก่ผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ BAFA ต้องการเจ้าหน้าที่ด้าน IT เป็นจำนวนมาก และใช้ข้อเสนอดังกล่าวเข้ามาดึงดูดใจให้แรงงาน/คนส่วนใหญ่ย้ายมาทำงานกับ BAFA ในเมืองเล็ก ๆ (ในรัฐ Sachsen) สำหรับ พนักงานใหม่ที่จะเข้ามาทำงานกับ BAFA นี้ จะต้องพบกับงานจำนวนมากเพราะ BAFA ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายตรวจสอบความรับผิดชอบในระบบห่วงโซ่อุปทาน (LkSG – Lieferkettensorgfaltspflichtengesetz) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งถึงตอนนี้เป็นระยะเวลากว่า 8 เดือนแล้ว แต่ BAFA ก็ยังคงต้องการเจ้าหน้าที่ด้าน IT เพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก

 

ที่ผ่านมามีหน่วยงาน NGO (Non-Governmental Organisation/Organization) จำนวนมาก ได้ออกมาเปิดเผยว่า “ภาคเอกชนส่วนหนึ่งมีปัญหาด้านการจัดการความรับผิดชอบในระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่มักเริ่มต้นด้วยการเดินหน้าฟ้องร้องผู้ค้ารายใหญ่ อาทิ Ikea และ Amazon ซึ่งตอนนี้จำนวนคดี/เคสที่ร้องเรียนได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีการประเมินกันว่า เป็นไปได้ที่จนถึงสิ้นปีนี้ จะมีข้อร้องเรียนมากกว่า 100 เรื่อง” ด้านนาย Lothar Harings หุ้นส่วนสำนักทนาย Graf von Westphalen ได้ออกมาคาดการณ์ว่า “การร้องเรียนในปัจจุบันเป็นเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง (มีเรื่องอีกจำนวนมากที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำ) โดยจะมีข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงและมีผลกระทบต่อผู้บริโภคอื่นๆ ตามมาอีกจำนวนมาก” นอกจากนี้ นาย Harings ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญและให้คำปรึกษาแก่กลุ่ม SMEs ในธุรกิจเครื่องนุ่งห่มเกี่ยวกับความรับผิดชอบในระบบห่วงโซ่อุปทานด้วย โดยได้ให้ข้อสังเกตว่า นอกจากกลุ่ม NGO แล้ว บริษัทต่าง ๆ ก็เฝ้ามองดูพฤติกรรมของคู่แข่งที่นำเข้าสินค้าจากประเทศที่สาม ซึ่งนาย Harings กล่าวว่า “แน่นอนที่พวกเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะร้องเรียน แต่พวกเขาก็สามารถที่จะเป็นผู้แจ้งเบาะแสให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง BAFA เข้ามาจัดการได้” จึงทำให้ LkSG เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานมีความยั่งยืนมากขึ้น และกลายเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

 

ในขั้นแรก LkSG จะมีผลกับบริษัทที่มีพนักงานจำนวนมากกว่า 3,000 คน แต่นับตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป จะมีผลใช้บังคับกับทุก ๆ บริษัทที่มีพนักงานตั้งแต่ 1,000 คนขึ้นไป อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจาก LkSG แล้ว โดยจากแบบสอบถามของสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเยอรมนี (DIHK – Der Deutsche Industrie- und Handelskammertag) ที่รวบรวมข้อมูลจากบริษัทกว่า 2,400 แห่ง ที่มีการประกอบธุรกิจในระดับนานาชาติ พบว่า “กว่า 41% ตอบว่า ได้ถูกคู่ค้าสอบถามถึงความเสี่ยงของบริษัทเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษย์ชนและความเสี่ยงในด้านสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท” ซึ่ง DIHK แจ้งว่า LkSG ได้ทำให้เกิดผลกระทบแบบลูกโซ่ไปยังบริษัทต่าง ๆ เนื่องจากข้อกำหนดของบริษัทขนาดใหญ่ได้ถูกส่งต่อไปให้แก่บริษัทที่มีขนาดเล็กและกลาง” สำหรับ SMEs แล้ว พวกเขาจะมีภาระด้านการประสานงานกับราชการมากขึ้น ในขณะที่ สมาคมผู้จ้างงานเยอรมนี (BDA – Bundesvereinigung der Deutschen Arbeitgeberverbände) ได้ประเมินผลกระทบเป็นจำนวนเงินไว้ว่า “บริษัทขนาดใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 69,000 ยูโรต่อปี ในขณะที่ บริษัทขนาดเล็กน่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 30,000 ยูโรต่อปีโดยประมาณ” ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจจะมาจากการที่ต้องจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มหรือต้องจ้างบริษัทอื่นมารับช่วงดำเนินการต่อให้ โดย BDA บ่นว่า “สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ผลกระทบนี้มากกว่าที่รับบาลกล่าวไว้ว่าจะมีเพียงบริษัทเพียง 900 บริษัท เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจาก LkSG”

 

อย่างไรก็ตาม นาย Harings เองก็เห็นว่า BAFA เองก็คงไม่ใช้อำนาจที่มีทั้งหมดอย่างไร้เหตุผล ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการกำหนดค่าปรับ และยังกล่าวอีกว่า BAFA ได้เคยแจ้งอย่างชัดเจนแล้วว่า ไม่มีความประสงค์ที่จะเป็นหน่วยงานที่จะคอยไล่เก็บค่าปรับแต่อย่างใด และจะใช้มาตรการนี้ก็ต่อเมื่อเป็นหนทางสุดท้าย ซึ่งเกิดจากการที่ภาคเอกชนที่ถูกตักเตือนแล้วไม่ยอมแก้ไขหรือปฏิบัติตามหน้าที่ที่ควรจะทำ” ด้านนาง Elisabeth Fröhlich ศาสตราจารย์ด้านการจัดการการจัดซื้อ-จัดจ้างของมหาวิทยาลัย CBS International Business School แห่งเมือง Köln กล่าวย้ำว่า “BAFA น่าจะไตรตรองไว้อย่างถี่ถ้วน ก่อนที่จะทำอะไร ซึ่งการจะทำอะไรรวมถึงการเรียกค่าปรับ ก็คงจะเป็นเพราะได้มีการตักเตือนมาแล้วหลายครั้ง” อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคงไม่ใช่เรื่องค่าปรับ นาง Fröhlich ให้เหตุผลว่า “ใครก็ตามที่ไม่ใส่ใจกับห่วงโซ่อุปทานของตน ก็จะไม่สามารถอยู่รอดในระยะยาวได้ กฎหมายนี้ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อทำลายบริษัท แต่สร้างขึ้นเพื่อช่วยผลักดันให้เอกชนเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง” ท้ายสุดนาย Harings กล่าวว่า “เป็นเรื่องยากที่ SMEs จะสามารถตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของตนได้อย่างครบถ้วนได้เอง โดยปราศจากการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ หรือไม่มีการปรับโครงสร้างพนักงานให้มีการดูแลเรื่องดังกล่าวเพิ่มขึ้น เพราะหากขาด Know How ก็จะจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ไม่ดีพอเพราะเป็นเรื่องที่ทำส่ง ๆ ไปไม่ได้”

 

จาก Handelsblatt 4 กันยายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login