屌丝饮料(เตี่ยวซือหยิ่นเลี่ยว) หรือเครื่องดื่ม Diaosi (เตี่ยวซือ) คือคำที่ชาวเน็ตจีนใช้เรียกเครื่องดื่มบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ เช่น เครื่องดื่มชาขนาดบรรจุ 1 ลิตร ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของคนหนุ่มสาวชาวจีนในยุคนี้ เนื่องจากปัจจุบันในมุมมองของคนหนุ่มสาวจีนแล้ว เครื่องดื่มขนาด 500 มิลลิลิตร ราคา 3.5 หยวน (17.5 บาท) ซึ่งเมื่อเพิ่มเงินอีก 1 หยวน (5 บาท) จะได้เครื่องดื่มขนาด 1 ลิตร ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามากกว่า แต่อย่างไรก็ดี บรรจุภัณฑ์ขนาด 1 ลิตร มีขนาดใหญ่เกินไปและราคาถูก ทำให้ผู้บริโภคบางคนรู้สึกว่าเสียหน้าที่จะซื้อ จึงได้แต่แอบซื้อกลับไปดื่มที่บ้าน เนื่องจากในอดีตเครื่องดื่มขนาดใหญ่ส่วนใหญ่จะเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ขณะที่ในปัจจุบันคนหนุ่มสาวชาวจีนก็หันมาซื้อเครื่องดื่มขนาดใหญ่กันมากขึ้น (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5 บาท)
ฤดูร้อนปีนี้ พบว่ามีเครื่องดื่มบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่วางจำหน่ายตามท้องตลาดจำนวนมากขึ้น เช่น ชาอู่หลงขนาด 1.25 ลิตร น้ำมะพร้าวขนาด 1 ลิตร เป็นต้น และยอดขายเครื่องดื่มบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ตามร้านสะดวกซื้อทั้งในเมืองและชนบทต่างเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค จากในอดีตที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่บริโภคคนเดียวทำให้บรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กเป็นที่นิยม แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้บริโภคเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับความคุ้มค่ามากกว่า
ทำให้แบรนด์เครื่องดื่มหลายแบรนด์หันมาพัฒนาเครื่องดื่มบรรจุภัณฑ์ขนาด 1 ลิตร ออกมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เช่น แบรนด์ Yuanqisenlin แบรนด์ NONGFU SPRING แบรนด์ SUNTORY เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจากชาวเน็ต แต่เมื่อสำรวจร้านสะดวกซื้อจำนวนมาก ก็ยังพบว่าเครื่องดื่มบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กยังมียอดขายที่ดีกว่าขนาดใหญ่
ปัจจุบันแม้ว่าเครื่องดื่มบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่จะได้รับความนิยมขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเครื่องดื่มขนาดใหญ่จะมาแทนที่ขนาดเล็กได้ทั้งหมด แค่การที่ลูกค้าหันมาซื้อขนาด 1 ลิตรแสดงให้เห็นว่าหนุ่มสาวจีนให้ความสำคัญกับความคุ้มค่ามากกว่า โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวทั้งในเมืองใหญ่และเมืองเล็ก ยกตัวอย่างความคิดเห็นของผู้บริโภคในกรุงปักกิ่งรายหนึ่ง ที่เปิดเผยว่าปีนี้ส่วนใหญ่ตนซื้อเครื่องดื่มขนาด 1 ลิตร และเพื่อนของตนก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากรู้สึกว่าเครื่องดื่มขนาด 1 ลิตร มีปริมาณมากและเหมาะสม อีกทั้งยังรู้สึกว่าพกพาสะดวก ขณะที่พนักงานในร้านสะดวกซื้อในกรุงปักกิ่งก็ให้ความเห็นว่า ตนเองพบเห็นเครื่องดื่มขนาด 1 ลิตรมานานหลายปี แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่ยอดขายเครื่องดื่มขนาด 1 ลิตรเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่พนักงานร้านสะดวกซื้อในมณฑลหูหนานแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า ยอดขายเครื่องดื่มขนาดใหญ่ปีนี้ดีกว่าปีก่อนโดยเฉพาะขนาด 1 ลิตร ซึ่งในปีที่แล้วทางร้านจะสั่งเครื่องดื่มขนาดใหญ่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.3 แต่ในปีนี้ทางร้านได้สั่งเครื่องดื่มขนาดใหญ่ในสัดส่วนที่เท่ากับเครื่องดื่มขนาดเล็กแล้ว
ที่มา www.foodaily.com/articles/34119
เมื่อผู้บริโภคเริ่มนิยมเครื่องดื่มที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มหลายแบรนด์พัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น และกำหนดราคาที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นชาอู่หลง น้ำดื่มโซดา (Sparkling Water) น้ำผลไม้ หรือแม้กระทั่งกาแฟ ก็ต่างมีบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ออกมาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อพิจารณาจากราคาต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์ จะพบว่าผลิตภัณฑ์ที่มีบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กจำนวนมากมีราคาสูงกว่าบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ แต่ที่ผ่านมาผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายให้กับความน่ารัก และขนาดมินิที่ได้รับความนิยม ทำให้หลายแบรนด์ต่างพัฒนาบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กออกมาเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ปัจจุบันนี้ การบริโภคของคนหนุ่มสาวจีนได้เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสอดคล้องกับรายงานสำรวจแนวโน้มการบริโภคของจีนปี ค.ศ. 2023 ที่เปิดเผยว่า ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 30 เลือกแบรนด์ที่มีความคุ้มค่ามากที่สุด แสดงให้เห็นว่าคนหนุ่มสาวยุคใหม่กำลังมีการบริโภคที่สมเหตุสมผล มีการวางแผนการบริโภคทำให้เครื่องดื่มขนาด 1 ลิตรมีโอกาสกลับมาได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากในอดีต อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ขนาด 1 ลิตร เป็นขนาดที่มากเกินไปสำหรับการบริโภคคนเดียว และหากเป็นการบริโภคในครอบครัวหรือในร้านอาหารสำหรับคนจำนวนมาก ก็ไม่เพียงพอ จนทำให้เครื่องดื่มขนาด 1 ลิตร ถูกแทนที่ด้วยเครื่องดื่มขนาด 2 ลิตร แต่สำหรับปัจจุบันนี้ เครื่องดื่มขนาด 1 ลิตร ถือเป็นเครื่องดื่มที่มีความคุ้มค่าคุ้มราคาที่สุด ยกตัวอย่างเช่น น้ำชามะนาวและชาเขียวของแบรนด์ MASTER KONG ที่มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 3 – 3.5 หยวน (15 – 17.5 บาท) แต่ถ้าเพิ่มเงินอีก 1 – 1.5 หยวน (5 – 7.5 บาท) ก็สามารถซื้อขนาด 1 ลิตรได้แล้ว ด้านเครื่องดื่มของแบรนด์ตงฟางสู่เย่ ขนาด 900 มิลลิตร มีราคาอยู่ที่ 7 หยวน (35 บาท) และขนาด 500 มิลลิตรมีราคอยู่ที่ 5 หยวน (25 บาท) ซึ่งเมื่อพิจารณาราคาต่อหน่วย จะพบว่าบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่จะมีความคุ้มค่ามากกว่าขนาดเล็ก ขณะที่เครื่องดื่มขนาด 2 ลิตร ก็มีขนาดใหญ่เกินไปและพกพาไม่สะดวก ส่วนเครื่องดื่มขนาด 500 มิลลิตรก็ไม่คุ้มค่าคุ้มราคา ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบแล้วจึงพบว่าเครื่องดื่มขนาด 1 ลิตร เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้บริโภคหนุ่มสาวจีนยุคใหม่มากที่สุด
ที่มา www.foodaily.com/articles/34119
นอกจากความคุ้มค่าแล้ว แบรนด์เครื่องดื่มยังใช้กระแสรักสุขภาพในการพัฒนาเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล ไม่ใส่สารเติมแต่ง และมีปริมาณ 0 แคลลอรี เพิ่มมากขึ้น ทำให้เครื่องดื่มที่มีบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ ไม่เพียงแต่มีความคุ้มค่าด้านราคา แต่ยังสามารถตอบสนองความต้องการบริโภคน้ำที่เหมาะสมกับสุขภาพและร่างกายในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคได้มากขึ้น ทำให้เครื่องดื่มบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดจีน แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าเครื่องดื่มที่มีบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่จะได้รับความนิยมในช่วงฤดูร้อนของปีนี้ แต่ผู้ค้าปลีกในตลาดจีนหรือร้านสะดวกซื้อต่างๆ กลับมีความต้องการที่จะจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีขนาดเล็กมากกว่า เนื่องจากได้รับกำไรต่อหน่วยการจำหน่ายมากกว่า ทำให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายส่วนใหญ่ในตลาดจีนก็ยังไม่ได้เปลี่ยนไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากการบริโภคดังกล่าวอาจจะเป็นเทรนด์ของการบริโภคแบบ “กักตุน” หรือ “คุ้มค่า” สำหรับหนุ่มสาวชาวจีนในปัจจุบัน ที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตอย่างเทรนด์การบริโภคภายใต้ “เศรษฐกิจคนโสด” หรือ “อาหารสำหรับรับประทานคนเดียว” จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ขนาดใหญ่ได้รับความนิยมมากกว่าในยุคใหม่นี้ ขณะที่ในระยะยาวยังคงต้องติดตามว่าพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดอีกบ้าง เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่ยังคงมีแนวคิดในการบริโภคที่ตอบสนองความพึงพอใจของตนเองเป็นสำคัญ และอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งตลอดไป
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคหนุ่มสาวชาวจีนหลังยุคการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดได้อย่างเหมาะสม เช่นเดียวกับในปัจจุบันที่พบว่าผู้บริโภคหนุ่มสาวชาวจีนเริ่มหันมานิยมเครื่องดื่มบิ๊กไซส์หรือเครื่องดื่มที่มีบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่นั้น แสดงให้เห็นว่าหนุ่มสาวชาวจีนยุคใหม่ที่กำลังกลายเป็นผู้บริโภคหลักในตลาดการบริโภคของจีนมีการจับจ่ายที่สมเหตุสมผล เน้นความคุ้มค่ามากขึ้น ในณะที่เครื่องดื่มที่มีบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กหรือขนาดมินิที่เป็นที่นิยมในช่วงก่อนหน้านี้อาจจะถูกเมิน แต่ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการค้าปลีกของจีนเองกลับนิยมจำหน่ายผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก เนื่องจากมีกำไรดีกว่า ดังนั้น พฤติกรรมการบริโภคและการจำหน่ายสินค้าในตลาดจีนจึงถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการไทยที่จะต้องวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ รวมทั้งกำหนดกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมกับตลาดจีนให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถตอบสนองได้ทั้งผู้บริโภคและผู้ค้าปลีกของจีนได้ในเวลาเดียวกัน เพราะท้ายที่สุดแล้วการบริโภคและการจับจ่ายก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้บริโภคเป็นสำคัญ แสดงให้เห็นว่าการเข้าใจพฤติกรรมการบริโภค และการกำหนดราคาที่เหมาะสมจึงเป็นกุญแจที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยมากที่สุด
ที่มา :
https://www.foodaily.com/articles/34119
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)