หน้าแรกTrade insight > หนึ่งปีที่ผ่านมา…ราคาสินค้าและบริการเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

หนึ่งปีที่ผ่านมา…ราคาสินค้าและบริการเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

หนึ่งปีที่ผ่านมา…ราคาสินค้าและบริการเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

                    นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) เผยถึงความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและค่าบริการที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยอ้างอิงจากข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งเป็นภารกิจหลักหนึ่งของ สนค. โดยการคำนวณดัชนีข้างต้นเกิดจากการเปรียบเทียบราคาสินค้าและบริการ จำนวน 430 รายการ ใน 7 หมวดที่จำเป็นต่อการครองชีพ ได้แก่ (1) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (2) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (3) หมวดเคหสถาน (4) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (5) หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร (6) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ และ (7) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เปรียบเทียบกับราคาในปีฐาน และคำนวณอัตราการเปลี่ยนแปลงเป็นอัตราเงินเฟ้อ

                    โดยอัตราเงินเฟ้อล่าสุด เดือนกันยายน 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวร้อยละ 1.68 (YoY)ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น และเมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้าและบริการจะพบว่า มีจำนวนการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

  • สินค้าและบริการที่ราคาเพิ่มขึ้น จำนวน 204 รายการ เช่น น้ำมันปาล์ม 1 ลิตร ราคาเฉลี่ยเดือนกันยายน เท่ากับ 47.03 บาท เพิ่มขึ้น 11.11 บาท จากเดือนเดียวกันของปีก่อน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ราคาเฉลี่ย
    เดือนกันยายน เท่ากับ 30.43 บาท เพิ่มขึ้น 8.07 บาท จากเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นต้น
  • สินค้าและบริการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง จำนวน 69 รายการ เช่น ค่าโดยสารรถประจำทาง ค่าบริการ
    ใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
  • สินค้าและบริการที่ราคาลดลง จำนวน 157 รายการ เช่น เนื้อสุกร ส่วนสันนอก 1 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ย
    เดือนกันยายน เท่ากับ 153.74 บาท ลดลง 8.83 บาท จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ข้าวสารเจ้า 1 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยเดือนกันยายน เท่ากับ 39.54 บาท ลดลง 4.90 บาท จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และค่าธรรมเนียมการศึกษา โรงเรียนรัฐบาล ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ราคาเฉลี่ยเดือนกันยายน เท่ากับ 5,232.32 บาท ลดลง 178.75 บาท จากเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นต้น

                    นายรณรงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าการที่ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่าค่าครองชีพสูงขึ้น ทั้งที่เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก อาจจะมีสาเหตุจากค่าใช้จ่ายในสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องและใกล้ชิดกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูงขึ้น เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง อาหารเช้า และอาหารตามสั่ง รวมทั้ง น้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ ด้วยบทบาทและหน้าที่ มีนโยบายและมาตรการเพื่อดูแลราคาสินค้าและบริการอย่างสม่ำเสมอตลอดมา ทั้งนี้ขอให้ประชาชนมั่นใจในเรื่องเสถียรภาพราคา ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนที่บ่งชี้ว่ากำลังอยู่ในภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) เงินฝืด (Deflation) หรือความซบเซาทางเศรษฐกิจ (Stagnation) ในทางตรงกันข้ามมีสัญญาณทางบวก จากทั้งการส่งออกและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ สนค. จะติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการอย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)

Login