หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > หนี้ครัวเรือนแคนาดาพุ่งระดับสูงสุด ท่ามกลางสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัว

หนี้ครัวเรือนแคนาดาพุ่งระดับสูงสุด ท่ามกลางสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัว

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต

ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 11-15 กันยายน 2566

หนี้ครัวเรือนแคนาดาพุ่งระดับสูงสุด ท่ามกลางสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัว

ด้วยภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ชาวแคนาดาส่วนใหญ่ต้องหันไปพึ่งการกู้ยืมเงินมาจับจ่าย ทั้งจากแหล่งสินเชื่อส่วนบุคคล (Line of Credit) หรือบัตรเครดิต โดยตัวเลขล่าสุด หนี้บัตรเครดิตของชาวแคนาดาเฉลี่ยที่ระดับ 4,000 เหรียญ/คน (ประมาณ 104,000 บาท) บริษัท TransUnion ที่จัดเก็บข้อมูลเครดิตและหนี้สิน ได้เปิดเผยข้อมูลใน
ไตรมาสที่ 2 ของปี  2566 พบว่ามูลค่าหนี้ครัวเรือนขยับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 หรือเพิ่มขึ้น 94.8 พันล้านเหรียญฯ (2.46 ล้านล้านบาท) มีหนี้ครัวเรือนรวมสูงถึง 2.34 ล้านล้านเหรียญฯ (60.84 ล้านล้านบาท) โดยหนี้ส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาฯ ซึ่งมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 9 ในช่วง 5 ไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมที่สูงขึ้น

ชาวแคนาดาส่วนใหญ่สามารถบริหารจัดการกับหนี้สินทั้งจากบัตรเครดิตหรือหนี้จากกู้ยืมซื้ออสังหาฯ ได้เป็นอย่างดี โดยอัตราหนี้สินต่อรายได้ (Household Debt Service Ratio) ในไตรมาสที่ 2 ปรับดีขึ้น โดยระดับหนี้ต่อรายได้ลดลงจากร้อยละ 184.2 ไปเป็น 180.5 ที่แสดงถึงรายได้ของคนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกับหนี้ที่เพิ่มขึ้น หน่วยงานสถิติแห่งชาติแคนาดา (Statistics Canada) ประกาศว่ารายได้หลังหักภาษีแล้ว (Disposable Income) ในไตรมาส 2 ขยับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราส่วนหนี้ต่อรายได้ลดลง (แรงงานส่วนใหญ่ในภาคบริการมีการขาดแคลนอย่างหนัก นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำเพื่อแย่งชิงแรงงานมาทำงานในภาคบริการ โดยเฉพาะในธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม) อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังคงมีความกังวลต่อเศรษฐกิจโดยมองว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนถัดไปมีโอกาสปรับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งเนื่องจากราคาสินค้าพลังงานได้ปรับเป็นขาขึ้นอีกครั้งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จะกดดันให้ธนาคารกลางแคนาดาอาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อยอีกหนึ่งครั้งก่อนสิ้นปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งให้ภาระหนี้สินและค่าครองชีพของชาวแคนาดาต้องปรับสูงขึ้นอีกด้วย ที่อาจนำไปสู่จุดที่ชาวแคนาดาจะมีปัญหาในการรับมือกับระดับหนี้ได้

ตัวเลขอัตราการว่างงานในแคนาดาล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ระดับร้อยละ 5.5 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 3 เดือนติดต่อกันแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด ซึ่งจำนวนตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนมีอัตราขยายตัวเฉลี่ย 81,000 ตำแหน่ง/เดือน ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 โดยแต่ละเดือนหากมีตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นที่ระดับมากกว่า 50,000 ตำแหน่ง/เดือน จะทำให้อัตราการว่างงานไม่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจแคนาดา และอัตรารายได้ของชาวแคนาดาโดยเฉลี่ยก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะไม่เท่ากับอัตราเงินเฟ้อ แต่ก็ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจแคนาดายังคงมีความยืดหยุ่นต่อความเสี่ยงของการถดถอยทางเศรษฐกิจ ที่ระดับการจ้างงานยังอยู่ในระดับที่ดี ถึงแม้ว่าระดับหนี้สูงขึ้นแต่ชาวแคนาดาส่วนใหญ่ก็ยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ อย่างไรก็ตาม การจับจ่ายของผู้บริโภคเริ่มมีทิศทางที่ชะลอตัว เห็นได้จากยอดจำหน่ายของร้านอาหารประเภท In person dining ลดลง 3 เดือนติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ในขณะที่ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องเผชิญกับค่าแรง ค่าต้นทุนอาหาร ค่าเช่าที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายต่อธุรกิจร้านอาหาร และสะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจที่คนส่วนใหญ่เริ่มรัดเข็มขัดการจับจ่ายอย่างจริงจัง โดยในช่วงไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจแคนาดาเริ่มมีการหดตัวที่ร้อยละ 0.2

Household credit market debt to household disposable income

ความเห็นของ สคต.         

ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูงในแคนาดา ทำให้ค่าครองชีพของชาวแคนาดาเพิ่มขึ้นและยังส่งผลให้แต่ละครัวเรือนมีอัตราหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนที่เพิ่มขึ้น หรือค่าผ่อนชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นไปทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ย โดยอัตราหนี้ครัวเรือนในแคนาดาในไตรมาส 2 ของปี 2566 พุ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ระดับ 2.34 ล้านล้านเหรียญฯ (60.84 ล้านล้านบาท) แต่นักวิเคราะห์ประเมินว่าสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่น่ากังวล เพราะอัตราการจ้างงานยังคงอยู่ในระดับที่ดี และรายได้ของคนส่วนใหญ่ก็เพิ่มขึ้นถึงแม้ว่าจะเพิ่มในระดับที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ทำให้เศรษฐกิจแคนาดามีความยืดหยุ่น (Resilience) อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจแคนาดามาจากสัญญาณชะลอของภาคจับจ่ายผู้บริโภค (Consumer Spending) ที่คนส่วนใหญ่เริ่มรัดเข็มขัดมากขึ้น ลดการจับจ่ายสินค้า (ที่ไม่จำเป็น) ปรับลดการเดินทางท่องเที่ยว ท่ามกลางอัตราหนี้ที่อยู่ในระดับสูง โดย สคต. ประเมินว่าสินค้าไทยที่น่าจะขยายมูลค่าการส่งออกได้ดีขึ้นในช่วงอีก 6-12 เดือน จะเป็นกลุ่มสินค้าขั้นพื้นฐาน (สินค้าปัจจัย 4) โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารที่ไทยมีศักยภาพสูงในแคนาดา อาทิ ข้าว อาหารกระป๋อง รวมถึงสินค้า นวัตกรรมอาหารที่สินค้าไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะด้านคุณภาพสินค้า

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. ๑๑๖๙ (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +๖๖ ๒๗๙๒ ๖๙๐๐)

——————————————————————-

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login