หน้าแรกTrade insight > ส่อง 3 พฤติกรรมผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ที่เปลี่ยนไปในปี 2566

ส่อง 3 พฤติกรรมผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ที่เปลี่ยนไปในปี 2566

การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคชาวสิงคโปร์

ในปี 2566 ผู้บริโภคสิงคโปร์ใส่ใจเรื่องค่าใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากพวกเขาได้เตรียมพร้อมรับมือกับเศรษฐกิจที่อาจจะตกต่ำ และแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ประกอบกับการขึ้นภาษีสินค้าและบริการเป็น 8% ในวันที่ 1 มกราคม 2566 ส่งผลให้ผู้บริโภคสิงคโปร์มีความรอบคอบในการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ดี ความต้องการสินค้าและบริการบางประเภทยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคเชิงเทคโนโลยีมีการเติบโต 2.4% ในปี 2565 ตามมาด้วยสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางและของใช้ส่วนตัว

จากสถานการณ์ดังกล่าวได้นำมาสู่พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของชาวสิงคโปร์ ดังต่อไปนี้

  1. ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์มีความอ่อนไหวต่อราคาสูง และจะใช้เวลานานในการแสวงหาสินค้าที่ราคาคุ้มค่า

จากรายงานของ Adyen ระบุว่า 48% ของผู้ซื้อชาวสิงคโปร์จะสำรวจดีลที่ดีที่สุดในร้านค้า และ 42% จะเปรียบเทียบราคาผ่านช่องทางการซื้อของต่างๆ ตลอดเวลา ส่งผลให้ชาวสิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นผู้บริโภคที่มีความอ่อนไหวต่อราคาสูงที่สุดในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การแสวงหาสินค้าที่ราคาคุ้มค่าของชาวสิงคโปร์แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคจะมีความจงรักภักดีต่อแบรนด์น้อย เพราะหากร้านคู่แข่งได้ลดราคาสินค้าลง ลูกค้าชาวสิงคโปร์อาจจะไม่ลังเลที่จะเปลี่ยนไปซื้อเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้น ร้านค้าอาจจะนำเสนอการขายรูปแบบคูปองส่วนลด หรือรหัสส่งเสริมการขายเพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องรอเทศกาลลดราคาพิเศษต่างๆ เช่น คริสต์มาส หรืองาน Great Singapore Sale และอาจจะให้แก่ลูกค้าปัจจุบันที่มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์เช่นกัน เพื่อเป็นรางวัลโบนัสพิเศษ และเพื่อให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด แบรนด์อาจจะต้องให้เป็นรางวัลปรับแต่งตามบุคคล จากข้อมูลผู้บริโภคที่ทางแบรนด์รวบรวม

2. ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์มีความคาดหวังประสบการณ์การซื้ออีกระดับ

นับจากการปิดประเทศในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ชาวสิงคโปร์ไม่พึงพอใจกับรูปแบบการค้าปลีกแบบเดิมอีกต่อไป โดยร้านค้าในอนาคตต้องปรับปรุง หรืออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น จากผลสำรวจของ Global Consumer Insights Pulse Survey ของ PWC ในปี 2566 พบว่าผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ 34% ถูกดึงดูดจากความบันเทิงในร้านค้า และ 30% ของผู้บริโภคชื่นชอบประสบการณ์การซื้อของแบบดิจิทัล ดังนั้นแบรนด์ต่างๆ ควรปรับปรุงหน้าร้านให้ทันสมัยขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้น เช่น การจัดร้านให้ลูกค้าสามารถลองผลิตภัณฑ์ได้แบบเสมือนจริง

3. ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์แสวงหาสินค้าที่มีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับคุณค่าในสิ่งต่างๆ ดังนั้น การช่วยรักษาโลก หรือการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนในสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคอายุน้อย เช่น กลุ่มมินเลนเนียลและ Gen Z ให้ความสำคัญ ดังนั้น แบรนด์อาจจะมองหาการใช้วัสดุหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นในผลิตภัณฑ์หลัก หรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น การเปลี่ยนถุงพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งด้วยถุงที่ทำจากไม้ไผ่ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จากผลสำรวจโดย OpenText ในสิงคโปร์ ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณครึ่งหนึ่งปฏิเสธที่จะซื้อสินค้าที่มาจากคู่ค้าที่ไม่มีจรรยาบรรณ ดังนั้น แบรนด์ควรจะตรวจสอบการดำเนินงานของคู่ค้าที่จะร่วมงานด้วย เพื่อยกระดับห่วงโซ่อุปทานและแสดงความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ในปัจจุบัน แบรนด์/ร้านค้าต่างๆ ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เพื่อปรับตัวและนำเสนอสินค้าได้ทันกระแส ถึงแม้ว่าเทรนด์ความยั่งยืนจะมีมากขึ้นในสิงคโปร์ แต่ราคา ช่องทางการซื้อ เทคโนโลยีดิจิทัล ยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญและผู้ประกอบการไทยไม่อาจมองข้ามได้ จึงเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะต้องนำเสนอสินค้าที่มีความยั่งยืน แต่ในขณะเดียวกัน สินค้าควรมีราคา และช่องทางที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ เพื่อให้เกิดประสบการณ์การซื้อที่ดีต่อแบรนด์/ร้านค้า

Reeracoen Neocareer Group  :- https://www.reeracoen.sg/en/articles/

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login