หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > ส่องแนวโน้มตลาด Functional Food ของจีน

ส่องแนวโน้มตลาด Functional Food ของจีน

ปัจจุบันแนวโน้มความต้องการด้านสุขภาพของผู้บริโภคทำให้ตลาดเครื่องดื่ม Functional ขยายตัวใหญ่ขึ้น และทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม Functional Food มากขึ้นตามไปด้วย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ภายในงาน China Innovation Food Conference ครั้งที่ 4 ได้มีศูนย์วิจัยและพัฒนาของจีนวิเคราะห์แนวโน้มนวัตกรรมใหม่ของ Functional Food ในปัจจุบัน สรุปได้ดังนี้

1. สภาพแวดล้อมการบริโภคมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ Functional Food มีโอกาสที่จะเติบโต โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี ค.ศ. 2023 เศรษฐกิจจีนเริ่มดีขึ้น พร้อมกับส่งสัญญาณการฟื้นตัวในระดับปานกลาง แต่อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาจากภาพรวมของตลาดการบริโภคพบว่า การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ส่งผลต่อพฤติกรรมและรูปแบบการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีน โดยหลังจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคฯ ถูกยกเลิก ก็พบว่าผู้บริโภคมีความถี่ในการซื้ออาหารจากตลาดดั้งเดิมลดลงอย่างมาก
ซึ่งสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว น่าจะมาจากพฤติกรรมและแนวคิดในการบริโภคของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน

ความต้องการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว มีสาเหตุมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น และความต้องการมีสุขภาพที่ดี รวมทั้งมีความเต็มใจที่จะจ่ายเพื่อให้ได้สินค้าและประสบการณ์ที่ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนที่เปิดเผยว่า รายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 (YoY) โดยในที่นี้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวจีนในเขตเมืองขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 (YoY) และรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในเขตชนบทขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 (YoY) เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายในการบริโภคที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 (YoY) โดยแบ่งเป็น การบริโภคอาหาร บุหรี่และสุรา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 (YoY) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.7 ของค่าใช่จ่ายเฉลี่ยต่อหัว นอกจากนี้ ยังพบว่าชนชั้นกลางกลายเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการบริโภคให้เติบโต โดยพบว่าช่วงปี ค.ศ. 2019 – 2021 อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปีของครัวเรือนในเขตเมืองที่มีรายได้สูงกว่า 160,000 หยวน (800,000 บาท) อยู่ที่ร้อยละ 18 และคาดว่าในปี ค.ศ. 2025 จะมี 71 ล้านครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นและเข้าสู่ครัวเรือนที่มีระดับรายได้สูง แสดงให้เห็นว่าชนชั้นกลางใหม่กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลทำให้ตลาดการบริโภคของจีนจะมีศักยภาพขยายตัวมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

2. แนวคิดการบริโภคมีแนวโน้มที่จะมีเหตุผล และการบริโภคเพื่อสุขภาพได้รับความสนใจมากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยภาพรวมที่มีทิศทางที่ดี นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความวางใจในการบริโภคออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่า ผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่ร้อยละ 78.4 มีความเชื่อมั่นในสถานการณ์เศรษฐกิจท้องถิ่นในอีก 1 ข้างปีหน้า ขณะที่ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 77.9 เชื่อว่าสถานการณ์การบริโภคในอีก 1 ปี นี้จะดีขึ้น และความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมมีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2022

เมื่อพิจารณาด้านการยกระดับการบริโภค พบว่าจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของสุขภาพ การสร้างภูมิคุ้มกันพื้นฐาน สุขภาพจิต และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้เกิดการเติบโตของการบริโภคเพื่อสุขภาพ โดยปัจจัยด้านความปลอดภัยของส่วนผสมและสูตรสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อมากที่สุด ผู้บริโภคจะใช้จ่ายอย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น ทำให้การติดฉลากส่วนผสมที่เรียบง่ายและชัดเจนจึงกลายเป็นสิ่งที่ดึงดูดความต้องการของผู้บริโภคและเป็นทิศทางที่สำคัญของการพัฒนาแบรนด์ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บริโภคจะเปลี่ยนจากการประหยัดและไม่มีเหตุผลในการบริโภค กลายเป็นการบริโภคที่มีลักษณะเฉพาะ ดีต่อสุขภาพ และมีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการทางสรีรวิทยาและการดำเนินชีวิตประจำวันขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพสูงขึ้น รวมทั้งเปลี่ยนช่องทางการบริโภคจากออฟไลน์เป็นผสมผสานระหว่างออฟไลน์และออนไลน์ควบคู่กันไป

3. ขนมขบเคี้ยวในชีวิตประจำวันได้รับความนิยมสูง มีแนวโน้มหลากหลายและมีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยสืบเนื่องมาจากการพัฒนาของอุตสาหกรรม Functional Food ของจีนได้รับการสนับสนุนจากนโยบายที่แข็งแกร่ง โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 จนถึงปัจจุบันมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนา Functional Food ถึง 7 ฉบับ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร คำแนะนำอุตสาหกรรมการลงทุนจากต่างประเทศ การผลิตวัสดุยา การพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรและชนบท และการพัฒนาอุตสาหกรรมเบา เป็นต้น

การพัฒนา Functional Food ของจีนในปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับสากล
แต่มีแนวโน้มที่จะเป็นการพัฒนาอาหารที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันอย่างชัดเจน โดยปัจจุบัน Functional Food ในตลาดจีนจะเน้นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภูมิคุ้มกัน เสริมวิตามิน และบรรเทาความเหนื่อยล้า เป็นต้น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.6 ของผลิตภัณฑ์ Functional Food โดยในที่นี้ เนื่องจาก Healing Economy หรือเศรษฐกิจการรักษาได้ถือกำเนิดขึ้น ก็ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์บรรเทาอารมณ์หรือลดความตึงเครียดถือเป็น Functional Food ประเภทหนึ่งที่มีโอกาสในการพัฒนามากขึ้น

ปัจจุบัน เนื่องจากกลุ่มคนหนุ่มสาวกลายเป็นกำลังสำคัญของการบริโภคอาหารในประเทศจีน จึงส่งผลให้ความนิยมในการรับประทานขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และแนวคิดการบริโภคเพื่อสุขภาพก็ได้เริ่มขยายไปถึงกลุ่มเด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุ โดยมีการให้ความสำคัญต่อประเภทของ Functional Food ที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย ดังนี้

–  ขนมขบเคี้ยวสำหรับเด็ก ให้ความสำคัญต่อความเป็นธรรมชาติและมีความปลอดภัย
มีคุณสมบัติด้านการสร้างภูมิคุ้มกัน และคุณสมบัติที่ดีต่อตาเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นขนมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยมีปัจจัยสนับสนุนด้านนโนบายของประเทศที่ให้ความสำคัญต่อคุณค่าทางโภชนาการสำหรับเด็ก และสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ที่ทำให้การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศชะลอตัวลง ส่งผลให้ผู้ปกครองไม่ได้ติดตามอาหาร Functional Food ที่เป็นแบรนด์ต่างประเทศ แต่หันมาให้ความสนใจกับส่วนผสมของผลิตภัณฑ์และชื่อเสียงของแบรนด์ในประเทศที่มีคุณภาพสูงเป็นทางเลือกทดแทน ดังนั้น ขนมขบเคี้ยวที่มีรูปแบบเป็น Functional Food ของจีนจึงได้รับความนิยมมากขึ้น โดยพบว่าเครื่องดื่มและอาหารสำหรับเด็กที่นำเสนอในตลาดจีนในปี ค.ศ. 2022 เกือบร้อยละ 40 เป็นผลิตภัณฑ์ Functional Food

–  ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้หญิง มีแนวโน้มเป็นขนมขบเคี้ยว อาหารพร้อมรับประทาน และมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน มีความเฉพาะตัวและมีส่วนผสมเป็นธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นอาหารที่เกี่ยวข้องกับความต้องการในควบคุมน้ำหนัก และการดูแลผิวพรรณเป็นสำคัญ จึงนำไปสู่การผลิตวัตถุดิบที่เกี่ยวกับสุขภาพของผู้หญิงมากขึ้น โดยมีการคาดกาณ์ว่า ตลาดอุตสาหกรรมความงามโดยการรับประทาน ในปี ค.ศ. 2021 – 2025 จะมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ค่อนข้างคงที่อยู่ที่ร้อยละ 3.3 และคาดว่าในปี ค.ศ. 2025 จะมีมูลค่าสูงถึง 25,570 ล้านหยวน (127,850 ล้านบาท) ซึ่งเบื้องหลังของการเติบโตนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากจำนวนผู้สูงอายุจีนเพศหญิงที่เพิ่มขึ้น และมีการเปิดตัวของผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับสุขภาพของผู้หญิงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดสุขภาพสำหรับผู้หญิงมีการเติบโตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

–  ขนมขบเคี้ยวสำหรับวัยกลางคนและผู้สูงอายุมีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนสำหรับอาหารเพื่อสุขภาพและอาหาร Functional Food สำหรับผู้สูงอายุ แต่สามารถอ้างอิงการพัฒนาของประเทศญี่ปุ่นเพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับวัยกลางคนและผู้สูงอายุในจีนได้อย่างเหมาะสม โดยผู้บริโภควัยกลางคนและผู้สูงอายุชาวจีนให้ความสำคัญต่อการเลือกซื้ออาหารที่มีโภชนาการที่ครบถ้วนและเหมาะสม รวมถึงมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถพกพาได้อย่างสะดวกสบายควบคู่กันไปด้วย

ตลาด Functional Food ในปัจจุบันมีการแบ่งย่อยหมวดหมู่อย่างชัดเจน ผู้ประกอบการแต่ละแบรนด์จึงต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการ และเลือกใช้สารอาหารและโภชนาการที่เหมาะสม รวมทั้งพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความสะดวกในการบริโภคและการพกพามากขึ้น จึงจะทำให้ Functional Food เป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้บริโภคชาวจีนทุกช่วงวัย และทำให้ Functional Food ได้รับการพัฒนานวัตกรรมและโภชนาการที่ดีมากยิ่งขึ้นและกลายเป็นอนาคตของการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ความต้องการด้านสุขภาพและความงาม แนวคิดการรับประทานอาหารของผู้บริโภคชาวจีนในปัจจุบัน รวมถึงนโยบายสนับสนุนการยกระดับสุขภาพของชาวจีนได้ถูกพัฒนาอย่างครบวงจร ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ทำให้ชาวจีนส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพและการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเอง ทำให้อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพของจีนมีโอกาสที่จะเติบโตมากยิ่งขึ้น และอาหาร Functional Food ก็เป็นแนวโน้มของอุตสาหกรรมอาหารของจีนที่จะสามารถพัฒนาเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่มีการเปิดเผยว่า ในปี ค.ศ. 2012 อาหาร Functional Food ครองส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพของจีนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.5 และขยับเพิ่มเป็นร้อยละ 22.6 ในปี ค.ศ. 2020 แสดงให้เห็นว่าตลาดมีการเติบโตในทิศทางที่ดี ทำให้ตลาด Functional Food เป็นอีกตลาดที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการผลิตอาหารได้อย่างหลากหลายและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่อย่างไรก็ดี ในการขยายตลาดในจีน สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องคำนึงถึง ได้แก่ (1) การกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคให้ชัดเจน เพื่อจะได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ คุณค่าทางโภชนาการ และรสชาติ ได้สอดคล้องเหมาะสมกับแต่ละกลุ่มผู้บริโภค (2) การลงทุนในด้านการประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้แบรนด์ สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่แบรนด์สินค้าไทย เพื่อสามารถขยายตลาดได้อย่างแพร่หลายและยั่งยืน (3) การกำหนดราคาที่คุ้มค้า (4) การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เข้าใจง่าย มีการอธิบายคุณสมบัติที่ชัดเจนตรงไปตรงมา เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อได้ทันที และ (5) การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความสะดวกในการรับประทาน และการพกพา ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การเข้ามาขยายตลาดอาหาร Functional Food ในจีนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

https://www.foodtalks.cn/news/47172

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login