“ตลาดสินค้าขนมหวานและขนมขบเคี้ยวสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 1.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565”
เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับงานแสดงสินค้า Sweets and Snacks Expo 2023 (ครั้งที่ 26) ซึ่งถือเป็นงานแสดงสินค้าขนมหวานและขนมขบเคี้ยวที่ใหญ่ที่สุดในเขตทวีปอเมริกาเหนือจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 25 พฤษภาคม 2566 ณ ศูนย์แสดงสินค้า McCormick Place นครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา จัดโดยสมาคมผู้ประกอบการขนมหวานแห่งชาติ (National Confectioners Association หรือ NCA) งานดังกล่าวเป็นงานแสดงสินค้าที่สำคัญที่สุดผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ค้าปลีกต่างให้ความสนใจเข้าร่วมงานเพื่อนำเสนอสินค้ารายการใหม่ๆ และเพื่อเลือกซื้อสินค้าที่น่าสนใจไปทำตลาดในอนาคต อย่างไรก็ตาม ปีนี้ผู้จัดงานมีกำหนดจัดงาน ณ นครชิคาโก เป็นปีสุดท้าย โดยจะย้ายไปสลับจัดงานระหว่างเมือง Indianapolis รัฐอินดิแอนา และเมือง Las Vegas รัฐเนวาดา ในอนาคต กำหนดการจัดงานครั้งต่อไประหว่างวันที่ 13 – 16 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้า Indiana Convention Center เมือง Indianapolis รัฐอินดิแอนา
บรรยากาศภายในงานปีนี้คึกคักมากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกว่า 800 รายต่างเข้าร่วมงานเต็มพื้นที่จัดงานทั้งสิ้น 210,000 ตารางฟุตเพื่อนำเสนอสินค้าขนมหวานและขนมขบเคี้ยวที่น่าสนใจแก่ผู้เข้าร่วมชมงานซึ่งปีนี้มีจำนวนกว่า 18,000 ราย หลังจากที่บางส่วนได้ชะลอการเข้าร่วมงานเนื่องจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยดังกล่าวประกอบกับภาวะเงินเฟ้อในตลาดยังได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้าเพื่อจำหน่ายในตลาดด้วย ในขณะที่กำลังความต้องการบริโภคในตลาดกลับสวนทางปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากแนวโน้มการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในตลาดเปลี่ยนแปลงไปทำให้มีความต้องการบริโภคขนมหวานและขนมขบเคี้ยวมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขนมที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ขนมจากวัตถุดิบธรรมชาติปราศจากการเพิ่มน้ำตาล ขนมปราศจากสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และขนมเสริมโปรตีนจากพืช เป็นต้น
โดย Mr. Christopher Gindlesperger ตำแหน่ง Senior Vice President ด้านการสื่อสารและผู้บริโภค (Communication and Consumer Affairs) สมาคมฯ ตัวแทนผู้จัดงานกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนมหวานและขนมขบเคี้ยวสหรัฐฯ ต่างต้องเผชิญความยากลำบากกับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งปัจจัยการปรับตัวเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตซึ่งส่ง ผลกระทบต่อราคาจำหน่ายและยอดขายของสินค้าในตลาด อย่างไรก็ตาม แนวโน้มตลาดในสหรัฐฯ เริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จากข้อมูลรายงานนิตยสาร Candy & Snack Today พบว่า สัดส่วนกำไรของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมในปีที่ผ่านมาขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้บริโภค ในตลาดเริ่มสนใจบริโภคสินค้าขนมหวานและขนมขบเคี้ยวแปรรูป เช่น ลูกอม และมันฝรั่งทอด ซึ่งแทบจะไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพลดลง แต่ก็พบว่าผู้บริโภคได้หันไปบริโภคสินค้าขนมเพื่อสุขภาพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ สามารถรวบรวมตัวอย่างสินค้าขนมหวานและขนมขบเคี้ยวที่ได้รับความสนใจภายในงานได้ ดังนี้
- ขนมกัมมี่ (Gummy) ซึ่งเป็นสินค้าที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในกลุ่มขนมหวาน ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดต่างพยายามที่จะพัฒนาสินค้ากัมมี่ในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อทำตลาด เช่น สินค้ากัมมี่ ที่มีรสชาติและรสสัมผัสอ่อนนุ่ม บางเบา (Lighter Flavor and Chew) ของบริษัท Ferrara เป็นต้น
- ขนมรส Pumpkin Spice ซึ่งได้รับความนิยมในตลาดมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าผู้ประกอบการในตลาดจะพยายามพัฒนารสชาติใหม่ๆ เพื่อนำเสนอแก่ผู้บริโภคในตลาด เช่น รสสมอร์ (S’mores) รสชานมไข่มุก แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจเท่ารส Pumpkin Spice
- ขนมรสเผ็ด (Spicy Snacks) เช่น ขนมตอติญาอบกรอบรสเผ็ด แบรนด์ Takis หรือมันฝรั่งทอดกรอบแบรนด์ Lays รส Abobadas ซึ่งมีส่วนผสมของพริก รมควัน (Smoky Pepper) มีรสชาติเผ็ดร้อน ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดในสายผลิตภัณฑ์รสชาติเม็กซิกัน (Mexican Sobritos)
- ขนมเพื่อสุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์ปลอดกลูเตน (ไม่มีส่วนประกอบจากข้าวสาลี ข้าวบาร์เล่ย์ ข้าวไรย์) ผลิตภัณฑ์ปลอดน้ำตาลและแป้งตามหลักคีโต (Ketogenic Diet) และผลิตภัณฑ์
- ขนมขบเคี้ยวจากพืช เช่น ขนมขบเคี้ยวจากผักอบกรอบ แบรนด์ Poshi ซึ่งผลิตจากหลายหลายวัตถุดิบ เช่น ดอกกะหล่ำปลี อาร์ติโชค(Artichokes) ถั่วฝักยาว และหน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
สินค้าขนมหวานและขนมขบเคี้ยวจัดเป็นสินค้าที่อยู่เคียงคู่กับผู้บริโภคทั่วโลกมายาวนานไม่ว่าจะซื้อเพื่อรับประทานในครอบครัว หรือสำหรับการจัดงานเลี้ยงฉลอง หรือสำหรับการมอบเป็นของขวัญในโอกาสพิเศษต่างๆ เนื่องจากเป็นสินค้าที่สามารถสื่อถึงความสุข ความบันเทิง สามารถช่วยผ่อนคลายอารมณ์ผู้บริโภคได้ด้วย
นอกจากนี้ สินค้าขนมหวานและขนมขบเคี้ยวยังเป็นสินค้าที่มีบทบาทต่อภาคเศรษฐกิจการค้าของสหรัฐฯ ด้วย โดยในแต่ละปีสหรัฐฯ มีมูลค่าค้าปลีกสินค้าขนมหวานและขนมขบเคี้ยวสูง โดยล่าสุดในปี 2565 มีมูลค่าตลาดทั้งสิ้น 1.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น สินค้าขนมขบเคี้ยวมูลค่า 63.51 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 42.18) สินค้าขนมหวาน มูลค่า 42.60 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 28.29) สินค้าขนมอบและผลไม้อบแห้งมูลค่า 2.60 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 17.28) และสินค้าไอศกรีมมูลค่า 1.84 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 12.25) ตามลำดับ โดยคาดว่าอุตสาหกรรมจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.93 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2570 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.03 ต่อปี (Compound Average Growth Rate หรือ CAGR)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้าขนมหวานและขนมขบเคี้ยวกว่า 1,600 แห่งทั่วประเทศแต่ก็ยังคงมีความต้องการนำเข้าสินค้าเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมทั้งกลุ่มสินค้าขนมหวานและขนมขบเคี้ยวสำเร็จรูปรวมถึงสินค้าวัตถุดิบสำหรับกระบวนการผลิตสินค้า
โดยในระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน 2566 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้ากลุ่มขนมหวานและขนมขบเคี้ยวเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 5.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวร้อยละ 12.47 แหล่งนำเข้าหลัก ได้แก่ แคนาดา (ร้อยละ 42.82) เม็กซิโก (ร้อยละ 24.39) เยอรมนี (ร้อยละ 3.24) อิตาลี (ร้อยละ 2.96) และ ฝรั่งเศส (ร้อยละ 2.70) ตามลำดับ
ในช่วงเดียวกันสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าขนมหวานและขนมขบเคี้ยวจากไทยเป็นมูลค่า 65.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 10) ลดลงร้อยละ 12.02 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.17 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ขนมอบแปรรูป ลูกอม ขนมหวาน ผลไม้อบแห้ง ไอศกรีม และช๊อคโกแลต เป็นต้น ทั้งนี้ แม้ว่ามูลค่าการส่งออกของไทยช่วงดังกล่าวจะหดตัวลงเนื่องจากภาวะการชะลอตัวของตลาดจากปัจจัยภาวะเงินเฟ้อแต่โดยรวมมูลค่าการส่งออกไทยยังสูงกว่าระดับช่วงก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดในปี 2563 ถึงร้อยละ 54.70
โดยภาพรวมปัจจัยด้านการให้ความสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าขนมหวานและขนมเคี้ยวที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภคชาวอเมริกันส่งผลดีและเป็นโอกาสในการขยายตลาดส่งออกสินค้าขนมเพื่อสุขภาพของไทยในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขนมอบกรอบจากผลิตภัณฑ์ข้าวและธัญพืช รวมถึงขนมขบเคี้ยวจากผลไม้อบแห้งซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดปัจจุบันได้อย่างลงตัว
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมควรที่จะศึกษาแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในตลาดทั้งในด้านของตัวผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาสินค้าตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน เช่น การผสมผสานผลไม้เมืองร้อนแปรรูปซึ่งมีมากในไทยผสมผสานพัฒนาร่วมกับช๊อคโกแลตซึ่งนิยมในกลุ่มผู้บริโภคในตลาดเพื่อทำตลาด และการให้ความสำคัญกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์โดยเน้นปัจจัยด้านความสะดวกในการเก็บรักษาคงคลัง จัดวาง และจัดส่งสินค้า อีกทั้ง การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและแสดงข้อมูลอรรถประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ เช่น ปราศจากสารกลูเตน (Gluten Free) ปราศจากน้ำตาล (No Sugar) ปราศจากผงชูรส (No MSG) และมังสวิรัส (Vegan) อย่างเด่นชัดบนบรรจุภัณฑ์ก็น่าจะช่วยดึงดูดความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคในตลาดได้มากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้บริโภคในตลาดยังสนใจพิจารณาเลือกซื้อสินค้าไปถึงขั้นความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ผลิต (Social Responsibility) และการดูแลแรงงานอย่างเป็นธรรม ดังนั้น การเลือกใช้วัตถุดับการผลิตที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ก็เป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้สินค้าไทยสามารถเจาะตลาดได้มากขึ้นในอนาคต
ที่มา: นิตยสาร Eater
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก