หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > ส่องเทรนด์ผลิตภัณฑ์กันแดดในตลาดจีน

ส่องเทรนด์ผลิตภัณฑ์กันแดดในตลาดจีน

1.คำนิยามของผลิตภัณฑ์กันแดด

ผลิตภัณฑ์กันแดด หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ป้องกันอันตรายจากแสงแดดที่มีต่อผิวหนัง ได้แก่ รังสีอัลตร้า ไวโอเลต A (UVA), รังสีอัลตร้าไวโอเลต B (UVB) และรังสีที่ตามองเห็น (Visible Light) เป็นต้น ปัจจุบันผลิตภัณฑ์กันแดดที่พบเห็นในตลาดจีน ได้แก่ ครีมกันแดด โลชันกันแดด สเปรย์กันแดด เสื้อกันแดด เจลกันแดด หมวกกันแดด หน้ากากกันแดด เป็นต้น ซึ่งจากประเภทของผลิตภัณฑ์กันแดดทั้งหมด ครีมกันแดดเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในจีน

2.สถานการณ์ของตลาดผลิตภัณฑ์กันแดดในจีน

จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของประชาชนจีนและความนิยมของผลิตภัณฑ์กันแดดในช่วงฤดูร้อนทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์กันแดดในจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของ Euromonitor มูลค่าของตลาดผลิตภัณฑ์กันแดดในจีนปี 2565 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 18,600 ล้านหยวน คาดว่าในปี 2568 จะมีมูลค่าประมาณ 24,400 ล้านหยวน

3. การบริโภค

ปัจจุบันผู้บริโภคเพศหญิงเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักของตลาดผลิตภัณฑ์กันแดดในจีน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากการพัฒนาของอุตสาหกรรมและการจัดส่งแบบเร่งด่วน ทำให้เกิดกลุ่มผู้บริโภครายใหม่ที่ต้องการผลิตภัณฑ์กันแดด ได้แก่ พนักงานส่งของและพนักงานส่งพัสดุของจีน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มผู้บริโภคเพศชาย ทั้งนี้ จากการปรับปรุงมาตรฐานในการดำเนินชีวิต ผู้ปกครองของเด็กจีนได้ใส่ใจดูแลผิวพรรณของบุตรหลานมากขึ้น จึงทำให้ความต้องการในการใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดของเด็ก (อายุประมาณ 7 – 14 ปี) เพิ่มขึ้นตามไปด้วยจากความต้องการผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการจำนวนมากได้คิดค้นผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีความหลากหลายและราคาที่แตกต่างกัน ซึ่งราคาของผลิตภัณฑ์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกซื้อของผู้บริโภคชาวจีน โดยจากการสำรวจพบว่า ช่วงราคาของผลิตภัณฑ์ กันแดดที่ผู้บริโภคชาวจีนยอมรับได้มากที่สุดคือไม่เกิน 200 หยวน/ชิ้น

3.1 ปัจจัยในการซื้อผลิตภัณฑ์ครีมกันแดด

ปัจจุบันผู้บริโภคชาวจีนมีจำนวนการใช้ครีมกันแดดที่สูง ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นในหน้าร้อนของจีน โดยผู้บริโภคกลุ่มคน Gen Z เป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักของสินค้าครีมกันแดด ในขณะเดียวกัน เพศชาย ก็กำลังเป็นกลุ่มที่มีการบริโภคครีมกันแดดที่สูงขึ้น

  • ปัจจัยด้านสรรพคุณ

ผู้บริโภคชาวจีนนิยมเลือกซื้อครีมกันแดดที่มีสรรพคุณบำรุงผิวด้วย โดยีความคาดหวังต่อสินค้าและความต้องการครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน เช่น มีค่า PA+++ และค่า SPF มากกว่า 50+ แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคชาวจีนเลือกซื้อสินค้าครีมกันแดด โดยพิจารณาจากประสิทธิภาพของครีมกันแดดเป็นหลัก

นอกจากนี้ ผู้บริโภคจีนยังต้องการครีมกันแดดที่มีส่วนผสมในการช่วยบำรุงผิวให้ขาวขึ้น ต่อต้านอนุมูลอิสระป้องกันแสงสีฟ้าและสามารถมอบความชุ่มชื้นให้แก่ผิวได้ หรือเป็นครีมกันแดด “2 in 1” “3 in 1” และครีมกันแดดที่มีส่วนผสมที่มีความปลอดภัย อ่อนโยน ทำจากสารสกัดจากพืชก็จะรับได้ความนิยมมากในตลาดจีนด้วย

  • ปัจจัยด้านความรู้สึกหลังใช้

ความรู้สึกหลังใช้ก็ยังกลายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าครีมกันแดดอีกด้วย โดยผู้บริโภคชาวจีนไม่นิยมเลือกครีมกันแดดที่ทำให้หน้าขาวลอย เป็นขุย เหนียวเหนอะหรือแห้งตึงจนเกินไป แต่จะชอบสินค้าที่ใช้แล้วทำให้หน้ามีความชุ่มชื้น ล้างออกง่ายหรือสินค้าที่เหมาะกับผิวแพ้ง่ายมากกว่า

  • ปัจจัยด้านความหลากหลายของสินค้า

ผู้บริโภคชาวจีนไม่เพียงแต่ต้องการสินค้าที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังต้องการสินค้าที่มีความหลากหลายด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะแบรนด์ครีมกันแดดที่มีสินค้าสำหรับทารก เด็ก สตรีมีครรภ์และผู้ชาย

4.ช่องทางการซื้อผลิตภัณฑ์กันแดดในตลาดจีน

นอกจากการขายผลิตภัณฑ์กันแดดแบบออฟไลน์แล้ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จากข้อมูลในเดือนพฤษภาคม 2566 ยอดขายปลีกเสื้อผ้าป้องกัน UV บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนมียอดขายมากกว่า 600 ล้านหยวนขึ้นไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 112.91 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 353.18 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน5. ตัวอย่างแบรนด์ผลิตภัณฑ์กันแดดที่ได้รับความนิยมในตลาดจีน

6.แนวโน้มของอุตสาหกรรม

6.1 ในอนาคตประเภทของผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีประสิทธิภาพสูงจะมีความหลากหลายมากขึ้น และผลิตภัณฑ์กันแดดแบบใหม่ที่ใช้งานง่ายและสะดวกจะเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดจีนเพิ่มขึ้น

6.2 ในอนาคตราคาของผลิตภัณฑ์กันแดดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสังเกตได้จากราคาเสื้อผ้ากันแดดบาง แบรนด์มีราคาสูงถึงหลักพันหยวน แต่อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีราคาสูงก็ไม่ได้หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงเสมอไป

6.3 เนื่องจากเทรนด์รักสิ่งแวดล้อมในจีนกำลังได้รับความสนใจ จึงทำให้ผู้บริโภคจีนตระหนักถึง การปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์กันแดดจากธรรมชาติที่ไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

6.4 ในยุคหลังโรคระบาด ผู้ผลิตวัตถุดิบในจีนหันมาให้ความสนใจครีมกันแดดแบบธรรมชาติมากขึ้น ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์กันแดดที่ให้ผลลัพธ์ที่ติดทนนาน อ่อนโยนต่อผิวและปลอดภัย จะเป็นเป้าหมายหลักในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กันแดดของจีนในอนาคต

6.5 ผู้เชี่ยวชาญทางการตลาดให้คำแนะนำว่าบริษัทผลิตภัณฑ์กันแดดไม่ควรละเลยต่อหน้าที่พื้นฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ในอนาคตนวัตกรรมและความแตกต่างของแบรนด์จะกลายเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการแบรนด์ต่าง ๆ จะเข้ามาแย่งชิงความสนใจจาก ผู้บริโภคและส่วนแบ่งการตลาดผ่านการออกแบบที่แปลกใหม่ วัสดุคุณภาพสูงและคุณสมบัติการใช้งาน เป็นต้น

ความคิดเห็นของสคต.

ในช่วงฤดูร้อนของจีน ผลิตภัณฑ์กันแดดได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจีนทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์เป็นอย่างมาก ได้แก่ เสื้อกัน UV ครีม โลชั่น สเปรย์กันแดด หน้ากากกันแดด เป็นต้น เนื่องจากผู้บริโภครุ่นใหม่ได้ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอกและหันมาใส่ใจดูแลตัวเองกันมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้บริโภคจีนยังนิยมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กันแดดจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบรนด์มิสทีน (MISTINE) ของไทยที่ได้รับ การยอมรับจากผู้บริโภคจีนอย่างแพร่หลายและมียอดขายออนไลน์ติดเป็นอันดับต้นๆ ในตลาดจีน และคาดว่าในอนาคตผลิตภัณฑ์กันแดดนำเข้าก็ยังเป็นที่ต้องการในตลาดจีนอยู่อีกมาก

จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยทั้งรายเก่าและรายใหม่ที่ต้องการต่อยอดธุรกิจหรือต้องการนำทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบที่มีอยู่ของไทยมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตผลิตภัณฑ์กันแดดต่างๆ ที่ปลอดสารเคมี ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการช่วยเกษตรกรในประเทศ แต่ยังเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยควรศึกษากฎระเบียบในการนำเข้าและมาตรฐานการผลิตตามกฎระเบียบของจีน ศึกษาพฤติกรรมการบริโภค รวมถึงมุ่งเน้นการทำตลาดออนไลน์ตามเทรนด์การเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค เพื่อขยายช่องทางการจำหน่าย เสริมสร้างให้ผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นที่รู้จักในตลาดจีนมากขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

*****************************************

 https://finance.sina.cn/2023-03-01/detail-imyiitwx4653262.d.html

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login