หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > ส่องภาพยนตร์ไทยสุดปังในสายตาชาวจีน ความท้าทายในการส่งออก Soft power ผ่านเอกลักษณ์ความบันเทิงแบบไทย

ส่องภาพยนตร์ไทยสุดปังในสายตาชาวจีน ความท้าทายในการส่งออก Soft power ผ่านเอกลักษณ์ความบันเทิงแบบไทย

ที่มาภาพ: https://bkk.com.tw/5-recommended-movies-in-thailand/

ภาพยนตร์ไทยถือเป็นอีกหนึ่ง Soft power ที่ทำให้คนจีนรู้จักและเริ่มสนใจประเทศไทยมากขึ้น ภาพยนตร์ไทยที่ชาวจีนรู้จักมีหลากหลายแนว ทั้งเรื่องเกี่ยวกับความรัก การต่อสู้ หรือแม้แต่ภาพยนตร์แนวสิ่งลี้ลับที่ทางรัฐบาลสั่งห้ามผลิตและฉายในประเทศจีนก็ตาม

ที่มาภาพ: https://visionthai.net/article/netflix-thai-horror-films/

หากคิดถึงภาพยนตร์ไทยแล้วแนวที่ชาวจีนนึกถึงและเป็นจุดเด่นของภาพยนตร์ไทย ได้แก่ “ภาพยนตร์แนวสยองขวัญ” นับตั้งแต่ความสำเร็จของ “นางนาก (鬼妻)” ในปี 2542 ชาวจีนได้เริ่มรู้จักหนังและยอมรับในความน่ากลัวของหนังผีจากไทย โดยภาพยนตร์แนวสยองขวัญที่เป็นที่รู้จักของชาวจีน ได้แก่”โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต (厉鬼将映)” “สี่แพร่ง (死神的十字路口)” “ห้าแพร่ง (鬼乱5 )” “เด็กหอ (鬼宿舍)”      “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (鬼影)” “แฝด (连体阴)” “ลัดดาแลนด์ (怨鬼之家)” และภาพยนตร์สยองขวัญของไทยที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวจีนมากที่สุดได้แก่ “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (鬼影)”

ภาพยนตร์ประเภทนี้ได้นำเอาความเชื่ออันเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยในเรื่องศาสนาและประเพณีอันลี้ลับในท้องถิ่น และพัฒนาแนวภาพยนตร์สยองขวัญให้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ทำให้มีความแปลกใหม่และไม่เหมือนกับภาพยนตร์ของชาติอื่น ๆ

แต่เนื่องจากในประเทศจีนยังมีข้อจำกัดในการสร้างและนำเข้าหนังผีจากต่างประเทศมาฉายในประเทศจีน ทำให้ไม่สามารถส่งเสริมกระแสหนังผีในประเทศจีนได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งตลาดหนังสยองขวัญในจีนนั้นไม่ได้มีขนาดใหญ่ และภาพยนตร์สยองขวัญของไทยมีความน่ากลัวอย่างมาก เป็นการยากที่จะผ่านการเซ็นเซอร์และได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในประเทศจีนหรือช่องทางออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์

ที่มาภาพ: https://flashforward.pixnet.net/blog/post/19511707

ภาพยนตร์อีกประเภทที่ชาวจีนรู้จักเป็นอย่างดี ได้แก่ “ภาพยนตร์แอ็กชัน” โดยในปี 2546 ภาพยนตร์    แอ็กชันอย่าง “องค์บาก (拳霸) ” ที่นำแสดงโดยปรมาจารย์มวยไทยอย่างจาพนม ได้สร้างความตื่นเต้นและ   ติดอันดับ Box office ในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้จาพนม กลายเป็นดาราแอ็กชันระดับนานาชาติหน้าใหม่ และส่งผลให้วัดโบราณ ช้าง พระพุทธรูป และองค์ประกอบอื่นๆ ที่สามารถพบเห็นได้ทุกที่ในภาพยนตร์แนวนี้ล้วนเป็นที่รู้จักและกลายเป็นภาพจำในสายตาของชาวจีน เมื่อรวมกับความคิดแบบไทยพุทธที่สะท้อนให้เห็นในภาพยนตร์ ประเทศไทยได้กลายเป็นม้ามืดในโลกแห่งภาพยนตร์แอ็กชัน

แต่อย่างไรก็ตาม จากมุมมองของตลาดภาพยนตร์ในจีนแผ่นดินใหญ่ ภาพยนตร์มวยไทยถูกหนังกังฟู      ที่ผลิตในประเทศจีนเองแย่งความสนใจไป และหนังประเภทนี้มีคู่แข่งจากหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เป็นการยากที่จะตีตลาดผู้ชมในจีนแผ่นดินใหญ่ให้ติดตามและเลือกรับชม และยังไม่มีซูเปอร์สตาร์รุ่นใหม่คนใดนอกจากจาพนม ที่จะเป็นตัวดึงดูดความสนใจของชาวจีนได้

ภาพยนตร์ประเภทที่สาม ได้แก่ “ภาพยนตร์โรแมนติก” ที่สามารถเข้าถึงคนส่วนมากได้ โดยในบรรดาภาพยนตร์ไทยทุกประเภทที่กล่าวมาข้างต้น ภาพยนตร์โรแมนติกสำหรับวัยรุ่นมีผู้ชมในต่างประเทศมากที่สุดอย่างเห็นได้ชัด โดยภาพยนตร์ที่ที่ชาวจีนรู้จักและชื่นชอบ ได้แก่ “แฟนฉัน (小情人)” ในปี 2546 “รักแห่งสยาม (爱在暹罗)” ในปี 2550 “SuckSeed ห่วยขั้นเทพ (音为爱)” และ “แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว (相爱一天)” ในปี 2559 เป็นต้น

ที่มาภาพ: https://www.sohu.com/a/257832285_650754

รักแห่งสยาม (爱在暹罗) ภาพยนตร์รักโรแมนติกที่แฝงไปด้วยเรื่องราวภายในครอบครัวและเพื่อน ภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยาม นอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้กับนักแสดงหน้าใหม่อย่างมารีโอ้และพิชให้มีชื่อเสียงทั้งในประเทศไทยและประเทศจีนแล้ว แต่ยังทำให้วงออกัสที่เป็นเพียงวงดนตรีในภาพยนตร์ก็ได้กลายเป็นวงดนตรีจริงและทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศจีนอีกด้วย นอกจากนี้ รักแห่งสยามยังเป็นภาพยนตร์ที่ปลุกกระแส “สาววาย” ทั้งในไทย จีน และประเทศอื่น ๆ แม้ว่าความรักระหว่างเพศเดียวกันจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างไม่ถูกยอมรับภายในประเทศจีน และสื่อที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้จะถูกสั่งห้ามผลิตและฉายทางช่องทางต่าง ๆ ภายในประเทศจีน ซึ่งทำให้วัยรุ่นชาวจีนไม่ค่อยเข้าถึงสื่อแนวนี้ แต่ส่งผลดีต่อหนังของไทย เนื่องจากเป็นแนวแปลกใหม่ในสายตาของชาวจีน และยังทำให้ไม่มีข้อเปรียบเทียบกับภาพยนตร์เรื่องอื่น เรื่องนี้จึงกลายเป็นกระแสของวัยรุ่ยในยุคสมัยนั้น

ที่มาภาพ: http://www.taiguo.com/thread-6991-1-1.html

นอกจากนี้ หนังรักของไทยที่ชาวจีนในยุคปัจจุบันคุ้นเคยมากที่สุดคือภาพยนตร์ประเภทโรแมนติกคอเมดี้ เช่น “สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่า…รัก (初恋这件小事)” และ “Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน (友情以上)” ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังคงมีการผลิตหนังรักวัยรุ่นผลิตออกมาค่อนข้างมาก เช่น “รถไฟฟ้า…มาหานะเธอ (下一站,说爱你)” “ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้ (我很好,谢谢,我爱你)” “กวน มึน โฮ (你好,陌生人)” “ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย..ห้ามพัก..ห้ามรักหมอ (恋爱诊疗中)” “ATM เออรัก เออเร่อ (争钱斗爱ATM)” “พี่มาก..พระโขนง (淒厲人妻)” เป็นต้น

  

ที่มาภาพ: https://www.sohu.com/a/226344820_356087

สิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารัก (初恋这件小事)” เข้าฉายในปี 2553 แนวโรแมนติกคอเมดี้ เป็นเรื่องราวความรักในรั้วโรงเรียนมัธยมของไทย

ที่มาภาพ: https://pantip.com/topic/39371338

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีนทำให้ทั้งใบเฟิร์นและมารีโอ้มีชื่อเสียงในประเทศจีนมากขึ้น และภาพยนตร์ถูกนำไปผลิตใหม่เป็นเว็บซีรีย์ของจีนเรื่อง 初恋这件小事 (A Little Thing Called First Love) ในปี 2562

ที่มาภาพ: https://pantip.com/topic/38557860

Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน (友情以上)” เข้าฉายในปี 2562 ถือได้ว่ามีข้อได้เปรียบเนื่องจากสร้างมาในแบบหนังรักทั่วไปของภาพยนตร์ไทยซึ่งเป็นแนวที่ค่อนข้างได้รับความนิยม และยังภาพยนตร์ตลกของไทยทุกเรื่องมีจุดเด่นที่ความสามารถในการสร้างฉากตลกได้อย่างเป็นธรรมชาติ จุดขายของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการผสมทิวทัศน์ที่สวยงามของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเรื่องราวความรัก เป็นหนังแนวที่ชาวจีนคุ้นเคย และมีความคล้ายคลึงกับภาพยนตร์ของจีน เป็นคู่ชายหญิงที่เริ่มจากการเป็นเพื่อน ฝ่ายชายแอบรักฝ่ายหญิง และในท้ายที่สุดฝ่ายหญิงก็เปลี่ยนใจมารักฝ่ายชายได้ในที่สุด แต่ตัวหนังได้เพิ่มเรื่องราวที่สร้างความแตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องอื่นคือการสืบเพื่อจับโกหกแฟนของฝ่ายหญิง เพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมภาพยนตร์ และตัวหนังได้เดินทางและเสนอประเทศอาเซียนและจีนภายในหนัง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทางผู้ผลิตต้องการตีตลาดเอเชียและจีนแผ่นดินใหญ่

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้ตามมาตรฐานของไทยที่ค่อนข้างคาดการณ์ได้ว่าจะสามารถสร้างกำไรให้แก่ผู้สร้างได้ แต่เมื่อพิจารณาจากผลการดำเนินงานของ Box office แล้ว กลับไม่สามารถกระตุ้นความตื่นเต้นในจีนได้มากนัก จากคำวิจารณ์ของผู้ชมชาวจีนบางกลุ่มถึงสาเหตุที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่มีเนื้อหาสนุกและสามารถเข้าถึงกลุ่มคนดูส่วนใหญ่ แต่ผลตอบรับในประเทศจีนกลับไม่ได้โดดเด่นเหนือกว่าภาพยนตร์เรื่องอื่น ได้ความว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาที่คล้ายกับภาพยนตร์ไทยเรื่องอื่น ๆ พระเอกนางเอกที่หน้าตาดี ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน และจบด้วยเรื่องราวความรักแบบเดิม ๆ เหมือนเป็น “สินค้า” ที่ผลิตมาแบบเดิม ๆ เพื่อขายในตลาดเดิม ๆ เป็นแนวหนังที่ทำให้ผู้ชมเพลิดเพลินในการรับชม แต่ไม่ได้ทิ้งประเด็นหรือความประทับใจให้ได้ครุ่นคิดหลังจากดูจบลง ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่เห็นได้ชัดว่าการทำหนังเพื่อตีตลาดกระแสหลักไปเรื่อย ๆ อาจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องสำหรับการตีตลาดภาพยนตร์ในประเทศจีนในปัจจุบัน แม้ว่าหนังวัยรุ่นจะสนุก แต่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเบื่อหลังจากดูหนังแนวนี้มากเกินไป

จากที่กล่าวมาข้างต้น ภาพยนตร์ไทยที่ชาวจีนรู้จัก มีหลัก ๆ สามประเภท คือภาพยนตร์ระทึกขวัญและสยองขวัญ ภาพยนตร์แอ็กชัน และภาพยนตร์โรแมนติกวัยรุ่น ซึ่งเป็นที่นิยมแต่ยังไม่มีหนังประเภทไหนที่สามารถตีตลาดและสร้างรายได้ในจีนเป็นอันดับต้น ๆ ได้ และภาพยนตร์ของไทยเองก็ยังคงผลิตออกมาแบบเดิม ๆ เพื่อเอาใจฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่

ที่มาภาพ: https://news.sina.cn/gn/2019-10-03/detail-iicezueu9845513.d.html

อย่างไรก็ดีมีภาพยนตร์ของไทยเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง (天才枪手)” เป็นภาพยนตร์แนวอาชญากรรม  ดราม่า เข้าฉายในปี 2560 เป็นภาพยนตร์ที่ถือได้ว่าพลิกฟื้นสถานการณ์หนังไทยในสายตาของชาวจีนได้

แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะยังคงเล่าเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มนักเรียนในโรงเรียน แต่เนื้อหาไม่เน้นเล่าเรื่องราวความรักของเด็ก ๆ อีกต่อไป แก่นของหนังคือเรื่องราวของเด็กอัจฉริยะที่ช่วยผู้อื่น “โกง” ทำให้ลุ้นและน่าติดตามตลอดทั้งเรื่อง ตัวหนังได้กล่าวถึงประเด็นการโกงข้อสอบ เด็กรวยกับเด็กยากจน ปัญหาของระบบการศึกษา และสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้หลุดจากกับดักของหนังไทยแบบเดิม ๆ ไปอย่างสิ้นเชิงและการที่เริ่มสร้างภาพยนตร์ในรูปแบบใหม่ทำให้ฉลาดเกมส์โกงเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ถูกพูดถึงทั้งในประเศไทย และหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศจีนด้วย

ที่มาภาพ: https://bkk.com.tw/5-recommended-movies-in-thailand/

โดยเรื่องนี้ถือเป็นม้ามืดของหนังต่างประเทศที่เข้าฉายในประเทศจีน บริษัทของจีนซื้อลิขสิทธิ์การจัดจำหน่ายในแผ่นดินใหญ่ในราคาเพียง 3.3 ล้านหยวน (ประมาณ 16.5 ล้านบาท) แต่ทำรายได้ทะลุ 135 ล้านหยวน (ประมาณ 675 ล้านบาท) ในเวลาเพียง 5 วัน โดยตลอดโปรแกรมฉาย ตัวหนังสามารถทำรายได้ใน Box office 271 ล้านหยวนในจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนเหตุผลว่าทำไมชาวจีนถึงชอบหนังเรื่องนี้ จากการสำรวจบนโลกอินเทอร์เน็ต ได้ข้อสรุปว่าเพราะตัวหนังเองมีความน่าตื่นเต้นและน่าติดตามตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของภาพยนตร์ของไทยเป็นอย่างมาก ทำให้ชาวจีนได้เห็นถึงศักยภาพและความประณีตในการทำหนังของไทย และได้รู้จักกับภาพยนตร์ไทยแนวอื่นนอกจากภาพยนตร์แนวรัก ต่อสู้ และสยองขวัญ

ข้อคิดเห็นของสคต.เซี่ยงไฮ้

ภาพยนตร์ไทยถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งออก Soft power ของประเทศผ่านเอกลักษณ์ความบันเทิงแบบไทย  เป็นประตูที่ทำให้ชาวต่างชาติรวมถึงชาวจีนได้รู้จักและเรียนรู้วัฒนธรรม เอกลักษณ์ต่างๆ ผ่านการรับชมภาพยนตร์ เป็นสะพานที่ช่วยให้ชาวต่างชาติได้รู้จักกับ Soft power อื่น ๆ ทั้ง ดาราไทย อาหาร หรือ ภาษาไทย เป็นต้น ซึ่งดาราไทยเองก็เป็นอีกส่วนที่ช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมและสินค้าของไทยให้กลายเป็นที่รู้จัก แพร่หลาย โดยชาวจีนจำนวนมากรู้จักสถานที่ท่องเที่ยว เมนูอาหาร หรือสินค้าต่าง ๆ ผ่านการติดตามดาราไทย ทั้งนี้ภาพยนตร์ของไทยเองแม้ในปัจจุบันจะเป็นที่รู้จักและยอมรับในสายตาของชาวจีน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณภาพของภาพยนตร์ไทยไม่คงที่ มีหลายเรื่องที่กลายเป็นกระแส และมีอีกหลายเรื่องที่ไม่ประสบความสำเร็จ หากมีภาพยนตร์ไทยจำนวนมากที่ไม่สามารถทำให้คนชาวจีนชื่นชอบและรู้สึกไม่คุ้มค่ากับเงินและเวลาที่เสียไป จะกลายเป็นภาพจำในสายตาของชาวจีนได้ และหากภาพจำของชาวจีนต่อภาพยนตร์ของไทย   ไม่สนุกและไม่น่าสนใจ จะทำให้กลุ่มผู้บริโภคชาวจีนมีอคติกับภาพยนตร์ไทยเรื่องต่อ ๆ ไปในอนาคต ดังนั้นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยจึงต้องไม่หยุดพัฒนาทั้งในเรื่องคุณภาพของเนื้อหา ความหลากหลาย คุณภาพการแสดง รวมถึงทุ่มงบประมาณเพื่อให้ได้งานที่ดีที่สุด หากทุกคนในอุตสาหกรรมนี้ร่วมมือกัน ภาพยนตร์ของไทยที่เป็นที่ยอมรับในสายตาของชาวจีนอยู่แล้วก็จะได้รับการยอมรับมากขึ้น และได้ขยายฐานกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนได้เพิ่มในอนาคตซึ่งการที่ประเทศไทยสามารถผลิตภาพยนตร์ที่ดีออกมาสู่สายตาชาวไทย จีน และทั่วโลกได้ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมนี้เพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อการส่งเสริมสินค้าอื่น ๆ ของไทย ทั้งสื่อบันเทิงอื่น ๆ อาหาร หรือสินค้าส่งออกที่ทางภาครัฐหรือภาคเอกชนต้องการส่งเสริมได้อีกด้วย

________________________________________________________________________________

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้

วันที่ 20 ตุลาคม 2566

แหล่งที่มา

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1581310773478703377&wfr=spider&for=pc

https://baijiahao.baidu.com/s?d=1581506247783925546&wfr=spider&for=pc

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1723099179043451252&wfr=spider&for=pc

https://entertainment.trueid.net/detail/4EeGaMV5Qed9

https://gdh559.com/post/badgeniusfilm/

https://news.pedaily.cn/201909/446756.shtml

https://news.sina.cn/gn/2019-10-03/detail-iicezueu9845513.d.html

https://sahamongkolfilm.com/saha-movie/love-siam-movie-2550/

https://www.klook.com/zh-CN/blog/thai-romcom-movies/

https://www.sanook.com/movie/91773/

Login