สำนักงานศุลกากรจีนได้เปิดเผยรายงานการค้า Cross-Border e-Commerce ของจีนประจำปี ค.ศ. 2022 พบว่าการนำเข้า – ส่งออกของ Cross-Border e-Commerce ของจีนมีมูลค่า 2.1 ล้านล้านหยวน (10.5 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 (YoY) ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่มากกว่า 2 ล้านล้านหยวน เป็นครั้งแรก แสดงให้เห็นว่า Cross-Border e-Commerce ไม่เพียงแต่เป็นกำลังขับเคลื่อนใหม่ในการพัฒนาการค้าของจีน แต่ยังนำมาซึ่งการยกระดับรูปแบบธุรกิจ และรูปแบบการผลิตในอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม และธุรกิจ SMEs อีกด้วย
Cross-Border e-Commerce ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและโลกาภิวัตน์ทางการค้าที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์อย่างมาก เนื่องจาก Cross-Border e-Commerceไม่เพียงแต่ทำลายอุปสรรคระหว่างประเทศ และทำให้การค้าระหว่างประเทศไปสู่การค้าที่ไร้พรมแดนเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก นอกจากนี้ ในมุมมองขององค์กรและผู้ประกอบการ พบว่ารูปแบบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าพหุภาคีภายใต้ Cross-Border e-Commerce ได้ขยายความร่วมมือสู่ตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และช่วยส่งเสริมการจัดสรรทรัพยากรและผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างองค์กรและผู้ประกอบการ ขณะที่ในมุมมองของผู้บริโภค พบว่า Cross-Border e-Commerce ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลของประเทศอื่นๆ ได้ง่ายดายมากขึ้น และสามารถซื้อสินค้าที่มีคุณภาพสูงและราคาถูกมากขึ้นด้วย
Cross-Border e-Commerce หรืออีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน หมายถึง กิจกรรมธุรกิจระหว่างประเทศที่หน่วยงานที่อยู่ในพรมแดนของการทำงานภายใต้ศุลกากรที่ต่างกันผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยการเข้าถึงธุรกรรม ดำเนินการชำระเงิน และส่งมอบสินค้าให้เสร็จสมบูรณ์โดยผ่านกระบวนการโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน จึงจะถือว่าเสร็จสิ้นการค้าขายผ่าน Cross-Border e-Commerce
Cross-Border e-Commerce ของจีนส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบการค้าองค์กรกับองค์กร (B2B) และองค์กรกับผู้บริโภค (B2C) โดยภายใต้รูปแบบ B2B องค์กรหรือบริษัทจะใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซในการโฆษณาและการเผยแพร่ข้อมูลเป็นหลัก ขณะที่กระบวนการซื้อขายและพิธีการศุลกากรโดยทั่วไปจะเสร็จสิ้นกระบวนการผ่านช่องทางออฟไลน์ ซึ่งยังคงเป็นการค้าแบบดั้งเดิม ขณะที่รูปแบบ B2C ผู้ประกอบการ/บริษัทจีนจะต้องเผชิญหน้ากับผู้บริโภคต่างชาติโดยตรง โดยส่วนใหญ่จะเป็นการค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล และการขนส่งโลจิสติกส์ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบกล่องพัสดุขนาดเล็กส่งทางอากาศ ไปรษณีย์ หรือการจัดส่งเร่งด่วน (Express Delivery) เป็นต้น
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มูลค่าตลาด Cross-Border e-Commerce ของจีน เช่น Alibaba, JD Mall, Suning.com เป็นต้น ได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ยอดการซื้อขายสินค้าถูกสร้างสถิติใหม่ขึ้นตลอดเวลา มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอีคอมเมิร์ซ และรูปแบบการค้าขายได้รับความนิยมมากขึ้น จนทำให้ธุรกรรมออนไลน์หรือการซื้อขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซถูกรวมเข้ากับเศรษฐกิจการซื้อขายแบบดั้งเดิมมากยิ่งขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตประจำวันของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ยังคงมีพฤติกรรมชื่นชอบในการชอปปิงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ Cross-Border e-Commerce ได้กลายเป็นหนึ่งในรูปแบบการค้าระหว่างประเทศที่ขยายตัวและเติบโตได้อย่างรวดเร็วที่สุดของจีน ดังนั้น ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์และบริบทโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง บูรณาการและพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน รวมทั้ง ความนิยมของการซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซทั่วโลก ทำให้ผู้ประกอบการจีนจึงต่างเร่งคว้าโอกาสของ Cross-Border e-Commerce ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและยกระดับการเปลี่ยนแปลง Cross-Border e-Commerce ให้มีความก้าวหน้าและสร้างมูลค่าได้อย่างมหาศาลมากยิ่งขึ้น
เมื่อพิจารณามูลค่าและขนาดของตลาดอุตสาหกรรม Cross-Border e-Commerce ของจีน พบว่าการพัฒนาของอีคอมเมิร์ซนำเข้าของจีนมีศักยภาพมากขึ้น ในขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซส่งออกมีการที่แข่งขันรุนแรง ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างรวดเร็วของ Cross-Border e-Commerce ของจีน ทำให้รัฐบาลจีนโดยกระทรวงพาณิชย์ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประกาศนโยบายที่ส่งเสริมการขยายตัวของ Cross-Border e-Commerce อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น การขยายโครงการนำร่องการนำเข้าค้าปลีกอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน โดยได้คัดเลือกเมืองทั้งหมด 50 เมืองของจีน รวมทั้งเกาะไห่หนานให้รวมอยู่ในขอบเขตการนำร่องการนำเข้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนา Cross-Border e-Commerce ในอนาคต
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา พบว่าอัตราการเติบโตของมูลค่าการซื้อขายของอุตสาหกรรม Cross-Border e-Commerce ของจีนอยู่ที่ระดับร้อยละ 20 ขึ้นไป ในปี ค.ศ. 2019 มีมูลค่า 10.5 ล้านล้านหยวน (52.50 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 (YoY) และในปี ค.ศ. 2020 มีมูลค่า 13 ล้านล้านหยวน (65 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.8 (YoY) แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรม Cross-Border e-Commerce ของจีนได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว และมูลค่าการค้าขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ห่วงโซ่การค้าระหว่างประเทศยังได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยลดความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงของจีนกับของโลกได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
สำหรับสถานการณ์การพัฒนาของอุตสาหกรรม Cross-Border e-Commerce ของจีนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพบว่ามีลักษณะที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่
- นโยบายระดับชาติมีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนา Cross-Border e-Commerce โดยพบว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 เป็นต้นมา จีนได้ประกาศใช้นโยบายหลายฉบับเพื่อสนับสนุนการพัฒนาและการเติบโตที่มั่นคงของอุตสาหกรรม Cross-Border e-Commerce ของจีน แสดงให้เห็นว่าในปี ค.ศ. 2004 – 2008
รูปแบบกรค้าแบบอีคอมเมิร์ซได้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกและถือเป็นช่วงที่ก่อให้เกิดข้อกำหนดของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของจีน ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 2008 – 2013 ได้มีนโยบายเกี่ยวกับ Cross-Border e-Commerce เช่น การชำระเงิน โลจิสติกส์ และการบริหารจัดการ เพื่อช่วยปรับปรุงขอบเขตของอุตสาหกรรมให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ขณะที่ต่อมาภายหลังปี ค.ศ. 2014 รัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบายสนับสนุน Cross-Border e-Commerce ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการอนุมัติเมืองนำร่องการนำเข้าสินค้าปลีกภายใต้นโยบาย Cross-Border e-Commerce รวมมากกว่า 80 เมือง เพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญต่อพัฒนาของอุตสาหกรรม Cross-Border e-Commerce ของจีนที่มีการเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว
- แพลตฟอร์มการซื้อขาย Cross-Border e-Commerce ของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมาจากการพัฒนาที่แข็งแกร่งของ Cross-Border e-Commerce และการส่งเสริมแพลตฟอร์มการซื้อขาย โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่มีความมั่นคงและแข็งแกร่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแล้ว ยังช่วยสร้างโอกาสในการสร้างการรับรู้แบรนด์ของอีคอมเมิร์ซและส่งผลให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์ด้านการค้าและผลกำไรอีกเป็นจำนวนมาก
หลายปีที่ผ่านมานี้ แพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce ของจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะแพลตฟอร์มแบบ B2B เช่น Global Sources, Dunhuang, และ Alibaba ซึ่งถือเป็นต้นแบบของแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา Cross-Border e-Commerce และได้รับความนิยมสูงในต่างประเทศ ในขณะที่เว็บไซต์ Cross-Border e-Commerce ในรูปแบบ B2C ก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น Amazon, AliExpress และ Silk Road Mall เนื่องจากถือเป็นแพลตฟอร์มที่มีความมั่นคงและปลอดภัยสำหรับการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน
- บริการสนับสนุนใน Cross-Border e-Commerce มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรม Cross-Border e-Commerce ของจีนนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวกับ Cross-Border e-Commerce ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (2) แพลตฟอร์มการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และ (3) ความก้าวหน้าของโลจิสติกส์ ห่วงโซ่อุปทาน และการชำระเงิน ก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมการให้บริการ และขับเคลื่อนการพัฒนาของอุตสาหกรรมจัดส่งเร่งด่วน (Express Delivery) และคลังสินค้าในต่างประเทศได้อย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่า Cross-Border e-Commerce จะมีข้อดีมากมาย และยังคงมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ภายใต้อุตสาหกรรมดังกล่าว ก็ยังมีปัญหาอยู่จำนวนมากที่เป็นอุปสรรค และถือเป็นข้อจำกัดสำคัญของการพัฒนา Cross-Border e-Commerce ของจีน ยกตัวอย่างเช่น ในขั้นตอนการซื้อขายของธุรกิจ Cross-Border e-Commerce ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการถูกกำกับดูแลพิธีการศุลกากร และการจัดเก็บภาษีจากการทำธุรกรรม โดยพบว่าสินค้าจำนวนมากผ่านการข้ามแดนเข้าสู่ประเทศจีนโดยช่องทางไปรษณีย์ ซึ่งมีข้อกำหนดสำหรับการกำกับดูแลศุลกากรและการจัดเก็บภาษีที่เข้มงวด นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านการรับและคืนสินค้าข้ามพรมแดน เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดรูปแบบของพิธีการศุลกากรที่ชัดเจน ส่งผลให้บริษัทอีคอมเมิร์ซหลายรายได้รับผลกระทบจากความยากลำบากในการดำเนินการตามพิธีการศุลกากร ในขณะที่บริษัทอีคอมเมิร์ซจีนก็ยังคงมีความคาดหวังต่อการปรับปรุงกฎระเบียบและประสิทธิภาพของพิธีการศุลกากรจีนในอนาคตที่ดีขึ้น
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจของจีนและการยกระดับการบริโภคในรูปแบบ Cross-Border e-Commerce ที่เติบโตขึ้น อีกทั้งขนาดของตลาด Cross-Border e-Commerce ของจีนก็มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้น และรูปแบบการแข่งขันได้ถูกปรับปรุงให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาด Cross-Border e-Commerce ของจีนเป็นอีกตลาดหนึ่งที่ยังคงมีความสำคัญและน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะเข้ามาขยายตลาดจีนผ่านช่องทาง Cross-Border e-Commerce ซึ่งรัฐบาลจีนก็กำลังให้ความสำคัญในการพัฒนาเป็นอย่างมากเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังพบว่ามีอุปสรรคของการผ่านพิธีศุลกากรจีนอยู่บ้างที่อาจทำให้การจัดส่งสินค้ามีความล่าช้า และอาจจะประสบกับปัญหาความไม่ชัดเจนของขั้นตอนและพิธีการศุลกากรอยู่บ้าง จึงอาจนำมาซึ่งข้อจำกัดในการส่งออกสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะสูญเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาในการดำเนินการเป็นระยะเวลายาวนาน ดังนั้น ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาขยายตลาด Cross-Border e-Commerce นอกจากจะต้องแสวงหาคู่ค้าที่มีความน่าเชื่อถือ และศึกษาความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่อย่างลึกซึ้งแล้ว ผู้ประกอบการไทยยังต้องศึกษากฎระเบียบ และข้อจำกัดของพิธีการศุลกากรภายใต้ข้อบังคับของการค้าในรูปแบบ Cross-Border e-Commerce ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะสูญเสียค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการค้าในรูปแบบนี้ รวมทั้งศึกษาวิธีการและขั้นตอนการจัดส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าชาวจีนได้อย่างรวดเร็วและมีมาตรการรองรับในการขอคืนหรือขอเปลี่ยนสินค้าได้อย่างชัดเจน ก็จะทำให้การเปิดตลาดส่งออกสินค้าไทยภายใต้รูปแบบ Cross-Border e-Commerce ในตลาดจีนประสบความสำเร็จและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการค้าระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
https://www.chinairn.com/scfx/20230711/113924362.shtml
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)