ธุรกิจ E-Commerce อาหารสดเป็นสาขาหนึ่งของธุรกิจ E-Commerce โดยจำหน่ายสินค้า ได้แก่ ผลไม้ ผัก ไข่และเนื้อสัตว์ เป็นต้น ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อและสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม/แอปพลิเคชันออนไลน์ ซึ่งผู้ให้บริการธุรกิจ E-Commerce อาหารสดจะจัดส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค ทั้งนี้ ในช่วงแรกธุรกิจดังกล่าวเกิดขึ้นจากความนิยมในการใช้งานบนอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภค แต่ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความต้องการสั่งซื้อสินค้าอาหารสดผ่านช่องทาง E-Commerce เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐจีนได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ E-Commerce เพื่อลดการเดินทางของผู้บริโภค
ปัจจุบัน จากการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคที่มีความรีบเร่ง ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่แสวงหาวิถีชีวิตที่มี ความสะดวกสบาย มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง ซึ่งการเกิดธุรกิจ E-Commerce อาหารสดได้ตอบโจทย์การบริโภคในยุคปัจจุบันและทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น
1. มูลค่าตลาดธุรกิจ E-Commerce อาหารสดของจีน
จากข้อมูลการสำรวจพบว่า มูลค่าตลาดธุรกิจ E-Commerce อาหารสดของจีนในปี 2565 มีมูลค่า รวมทั้งสิ้น 363,750 ล้านหยวน และคาดว่าในปี 2570 จะมีมูลค่าสูงถึง 630,200 ล้านหยวน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้มูลค่าตลาดดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสินค้าอาหารสดทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีความเชื่อมั่นต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรม E-Commerce อาหารสด
2.โครงสร้างธุรกิจ E-Commerce อาหารสดของจีน
3.รูปแบบธุรกิจ E-Commerce อาหารสดของจีน
4.ผู้ให้บริการธุรกิจ E-Commerce อาหารสดของจีน
5.กลุ่มผู้บริโภค
5.1 การกระจายตัวของกลุ่มผู้บริโภค E-Commerce อาหารสด
ปัจจุบันกลุ่มผู้บริโภค E-Commerce อาหารสดในจีน กระจายตัวในเมืองเศรษฐกิจระดับ 1 เป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างการกระจายของผู้บริโภค E-Commerce อาหารสดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบว่า สัดส่วนของผู้บริโภคในเมืองเศรษฐกิจระดับ 1 และ เมืองเศรษฐกิจระดับ 1 (ใหม่) มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่สัดส่วนของผู้บริโภคในเมืองเศรษฐกิจระดับ 2 – 5 กลับมีแนวโน้มสูงขึ้น
5.2 สัดส่วนอายุของผู้บริโภค E-Commerce อาหารสด
กลุ่มผู้บริโภค E-Commerce อาหารสดของจีนส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 24 – 35 ปี คิดเป็นร้อยละ 71.90 เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าวอยู่ในวัยทำงาน มีวิถีชีวิตที่รีบเร่งและไม่มีเวลาในการไปจับจ่ายซื้ออาหารสด ในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือตลาดสด ซึ่งการสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม E-Commerce อาหารสดมีความสะดวกและรวดเร็วมาก ที่สำคัญคือไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน อนึ่ง ผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวเติบโตมาพร้อมกับ ยุคการพัฒนาของอินเทอร์เน็ต จึงให้การยอมรับและปรับตัวเข้ากับเทรนด์การชอปปิงผ่านแพลต์ฟอร์ม E-Commerce อาหารสดได้อย่างรวดเร็ว
6.ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค E-Commerce อาหารสด
6.1 การให้บริการจัดส่ง
จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภค E-Commerce อาหารสดของจีนให้ความสำคัญกับเรื่องเวลาและความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้า ดังนั้น เมื่อเผชิญกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดจำนวนมาก ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มต่างๆ ควรปรับปรุงความสามารถในการจัดส่งสินค้าให้ตรงต่อเวลา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วทันใจ
6.2 การให้บริการและราคา
ด้านการให้บริการ ผู้บริโภค E-Commerce อาหารสดของจีนให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายของการใช้แอปพลิเคชันและเวลาการให้บริการของแพลตฟอร์ม ในขณะที่ด้านราคา ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าและกิจกรรมส่งเสริมการขายในแพลตฟอร์ม
6.3 ความชื่นชอบต่อแบรนด์ผู้ให้บริการ
แบรนด์ E-Commerce อาหารสดที่ผู้บริโภคชาวจีนนิยมใช้ 3 อันดับแรกในปี 2565 ได้แก่ เหอหม่า เฟรช คิดเป็นร้อยละ 49.8 Meituan Grocery คิดเป็นร้อยละ 39.4 และ Daily Fresh คิดเป็นร้อยละ 32.8 ซึ่ง การแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์มดังกล่าวมีความดุเดือดมากในตลาดจีน
6.4 ความชื่นชอบของผู้บริโภคต่อกลยุทธ์การจำหน่าย
จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ผู้ให้บริการ E-Commerce อาหารสดของจีน นิยมใช้กลยุทธ์การจำหน่ายแบบให้ส่วนลดทันที คิดเป็นร้อยละ 52.1 และการให้ส่วนลดเมื่อซื้อครบจำนวนเงินที่กำหนด คิดเป็นร้อยละ 46.0 โดยนักวิเคราะห์เผยว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเปรียบเทียบความคุ้มค่ากับราคาของสินค้าเป็นหลัก ซึ่งกิจกรรมและกลยุทธ์การจำหน่ายสินค้าอาหารสดของแพลตฟอร์ม E-Commerce จะดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น
7.แนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรม E-Commerce อาหารสด
7.1 ภาครัฐส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจ E-Commerce อาหารสด
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อลดการสัญจรไปมาของผู้บริโภคจีน ทำให้ความต้องการสินค้า E-Commerce อาหารสดเพิ่มมากขึ้น โดยรูปแบบธุรกิจ E-Commerce อาหารสด สามารถเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่สินค้าเกษตรและความต้องการของผู้บริโภคด้วยการสั่งซื้อทางออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการซื้อสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ภาครัฐจีน อาทิ กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของจีนได้ออกนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและขยายช่องทางการจำหน่าย E-Commerce อาหารสด
7.2 การพัฒนาด้านการขนส่งห่วงโซ่ความเย็น (Cold Chain Logistics)
อาหารสดมีอายุการเก็บรักษาค่อนข้างสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารทะเลสดบางประเภทจำเป็นต้องขนส่งแบบแช่เย็นหรือแช่แข็ง ดังนั้นการขนส่งแบบห่วงโซ่ความเย็นจึงมีบทบาทสำคัญต่อการบริโภคอาหารสดมาก โดยสินค้าอาหารสดจำเป็นต้องขนส่งจากผู้ผลิตไปยังคลังสินค้าอาหารสดผ่านการคัดแยก และดำเนินการขนส่งด้วยห่วงโซ่ความเย็นไปสู่มือผู้บริโภค อย่างไรก็ดี การพัฒนาและยกระดับโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นจะส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซอาหารสดด้วย
7.3 ผู้ประกอบการธุรกิจ E-Commerce อาหารสดเจาะตลาดเมืองเศรษฐกิจระดับต่าง ๆ
บริษัท E-Commerce อาหารสดในจีนมีการแข่งขันในตลาดที่ดุเดือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน เมืองเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วของจีนซึ่งมีแนวโน้มเริ่มอิ่มตัว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการส่งเสริมรูปแบบ การจำหน่ายแบบ Group Buying ในชุมชน/หมู่บ้าน ธุรกิจ E-Commerce อาหารสดได้เข้าบุกช่องว่างทางการตลาด โดยมีการใช้กลยุทธ์ “ราคาถูกและคุ้มค่า” ในการเจาะกลุ่มผู้บริโภค ทั้งนี้ ในเมืองเศรษฐกิจระดับ 2 – 5 ของจีน ส่วนใหญ่ผู้บริโภคมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น และกลุ่มผู้บริโภคมีขนาดใหญ่ ทำให้ดึงดูดบริษัท E-Commerce อาหารสด เข้ามาลงทุนในเมืองที่เศรษฐกิจด้อยการพัฒนา
7.4 ผู้บริโภคมีความต้องการอาหารสดที่มีคุณภาพมากขึ้น
จากการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการด้านคุณภาพสินค้าอาหารสดสูงขึ้นตามไปด้วย โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการตัวเลือกสินค้าอาหารสดที่มีความหลากหลายและมี ความสดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วของจีน ซึ่งมีผู้ประกอบการบริษัท E-Commerce อาหารสดแข่งขันกันอย่างดุเดือด ดังนั้นจึงต้องยกระดับการให้บริการที่มีความสะดวกสบาย หลากหลายและยกระดับคุณภาพสินค้าอาหารสด เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคเป็นวงกว้าง
ความคิดเห็น สคต.
จากการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านทาง E-Commerce ในตลาดจีนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดความนิยมในการซื้อสินค้าอาหารสดผ่านช่องทาง E-Commerce ตามมาด้วย เนื่องจากประหยัดเวลา และสะดวกสบาย ปัจจุบันผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม E-Commerce อาหารสดของจีน ได้แก่ Hema Fresh Meituan Grocery และ Benlai เป็นต้น โดยได้มีการผสมผสานประสบการณ์การค้าออนไลน์กับออฟไลน์เข้าด้วยกัน รวมทั้งได้มีความร่วมมือกับซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ E-Commerce อาหารสดในจีน จะต้องสร้างความมั่นใจในการเลือกซื้อ เพิ่มการเลือกซื้อที่หลากหลายให้แก่ผู้บริโภค เน้นกลยุทธ์การจำหน่ายในลักษณะของการซื้อด้วยแรงจูงใจและกระตุ้นให้อยากซื้อมากขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าเป็นวงกว้าง
อย่างไรก็ดี ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสของสินค้าไทย เนื่องจากแพลตฟอร์มอาหารสดของจีนสามารถพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าอาหารสดเพิ่มมากขึ้น ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ นั่นแสดงให้เห็นว่า ผลไม้และอาหารทะเลแช่เย็นของไทยก็จะมีช่องทางการจำหน่ายที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีนได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยจะต้องรักษาคุณภาพ แบรนด์และมาตรฐานของสินค้า รวมถึงใช้นวัตกรรมมาพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สินค้าอาหารสดของไทยเป็นที่ต้องการและครองใจผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างยั่งยืน
*****************************************
https://mp.weixin.qq.com/s/KGr5JCciRXkwpqXByEMuHw
https://mp.weixin.qq.com/s/mBos5VNHqei001WzdM2uPA
https://mp.weixin.qq.com/s/HFggf2FEzh-Re0jy3Gnuqw
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)