หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > ส่องตลาดคอลลาเจน ความงามจากการรับประทานที่เข้าถึงได้ในตลาดจีน

ส่องตลาดคอลลาเจน ความงามจากการรับประทานที่เข้าถึงได้ในตลาดจีน

“เศรษฐกิจความงาม” ของจีนถูกขับเคลื่อนโดยผู้บริโภคกลุ่มคนหนุ่มสาว และ   มักถูกใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ รวมทั้งอาหารเสริมและเครื่องดื่มต่างๆ สืบเนื่องจากความเข้มงวดของจีนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับคอลลาเจน อาทิ อาหาร เครื่องสำอาง อุปกรณ์การแพทย์ และยา เป็นต้น มาตรฐานที่เกี่ยวข้องมีการปรับปรุงใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกณฑ์ในการเข้าสู่ตลาดคอลลาเจนสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ความงามจากการรับประทาน ที่เข้าถึงได้ง่ายกำลังมาแรง ซึ่งยังมีโอกาสสำหรับสินค้าไทยในการบุกตลาดจีน

 

สถานการณ์อุตสาหกรรมคอลลาเจนของโลกและประเทศจีน

การพัฒนาของตลาดคอลลาเจนมีความสัมพันธ์กับสถานะของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจโลก อุตสาหกรรมคอลลาเจนเริ่มเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว นำโดยยุโรป สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ถือเป็นกลุ่มบุกเบิกของอุตสาหกรรมคอลลาเจนโลก โดยอินเดียและจีนเป็นลำดับถัดมา จนถึงปัจจุบันทั้ง สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น แคนาดา และเกาหลีใต้ ฯลฯ ได้นำคอลลาเจนไปประยุกต์ใช้ในหลายด้าน อาทิ การแพทย์ ผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เป็นต้น

 

สถานการณ์ตลาดคอลลาเจนของโลก

พบว่าในปี 2562 ขนาดตลาดคอลลาเจนทั่วโลกมีมูลค่า 15,356 ล้านเหรียญสหรัฐ (552,816 ล้านบาท) และในปี 2565 มีขนาดมูลค่า 17,258 ล้านเหรียญสหรัฐ (621,288 ล้านบาท) และคาดว่าในปี 2570 ตลาดจะมีมูลค่า 22,622 ล้านเหรียญสหรัฐ (814,392 ล้านบาท) มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 5.42 (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐเท่ากับ 36 บาท) ทั้งนี้ จากสถิติในปี 2562 ขนาดตลาดสุขภาพและการแพทย์ที่ประยุกต์ใช้คอลลาเจน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49.83 ของขนาดตลาดคอลลาเจนทั่วโลก หรือมีมูลค่า 7,604 ล้านเหรียญสหรัฐ (273,744 ล้านบาท) และในปี 2563 สัดส่วนขยับเพิ่มขึ้นเป็น 49.93 หรือมีมูลค่า 7,759 ล้านเหรียญสหรัฐ (279,324 ล้านบาท) และคาดว่าในปี 2570 จะมีมูลค่าถึง 11,117 ล้านเหรียญสหรัฐ (400,212 ล้านบาท) ซึ่งด้านสุขภาพและการแพทย์ถือเป็นการเติบโตที่สำคัญของตลาดคอลลาเจนในอนาคต

 

สถานการณ์ตลาดคอลลาเจนของจีน

พบว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ขนาดตลาดคอลลาเจนของจีนมีมูลค่า 9,700 ล้านหยวน (53,350 ล้านบาท) และในปี 2564 มีมูลค่า 28,800 ล้านหยวน (144,000 ล้านบาท) ตั้งแต่ปี 2560 – 2564 ตลาดมีการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 31.3 และคาดว่าในปี 2570 ขนาดตลาดคอลลาเจนของจีนจะมีมูลค่า 173,800 ล้านหยวน มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปี ระหว่างปี 2565 – 2570 อยู่ที่ร้อยละ 34.4 (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5.5 บาท) ทั้งนี้ บริษัทคอลลาเจนชั้นนำของจีน ส่วนใหญ่จะเป็นด้านวัตถุดิบคอลลาเจน ผลิตภัณฑ์คอลลาเจนเพื่อการแพทย์ และผลิตภัณฑ์อาหารคอลลาเจน  โดยผู้นำด้านวัตถุดิบคอลลาเจน ได้แก่ บริษัท Hainan Huayan Biology บริษัท Dongbao Bio-Tech และบริษัท Baiyang สำหรับผู้นำด้านคอลลาเจนเพื่อสุขภาพและการแพทย์ ได้แก่ บริษัทช่วงเอ่อเซิงอู้(创尔生) บริษัทจิ่นปอเซิงอู้ (锦波生物) บริษัท GIANT BIOGENE และผู้นำด้านอาหาร ได้แก่ บริษัท by-health และบริษัท SWISSE เป็นต้น

ปัจจุบัน มีการใช้คอลลาเจนในด้านการดูแลผิว ความงาม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในจีนมากขึ้น อีกทั้งประเภทของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีการพัฒนาในเชิงการแพทย์ อาทิ การรักษาบาดแผลไหม้ การห้ามเลือด และรักษาโรคตา เป็นต้น โดยประเภทอุตสาหกรรมของจีนที่มีการใช้คอลลาเจน สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) การแพทย์ด้านรักษาแผล ความงามทางการแพทย์ สัดส่วนร้อยละ 49 2) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 29 และ 3) การดูแลผิว สัดส่วนร้อยละ 22

 

ผลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคคอลลาเจนในจีน

 

 

กลุ่มที่ 1 ความงามทางการแพทย์

ด้วยค่านิยมรักสวยรักงาม ทำให้ขนาดผู้บริโภคในกลุ่มคอลลาเจนที่เกี่ยวข้องกับความงามทางการแพทย์ขยายใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มคนหนุ่มสาวเป็นผู้บริโภคหลัก ซึ่งคาดว่าในปี 2566 ผู้บริโภคคอลลาเจนกลุ่มความงามทางการแพทย์ในจีนจะมีจำนวนถึง 23.54 ล้านคน และผู้บริโภคที่อายุต่ำกว่า 30ปี จะครองสัดส่วนถึงร้อยละ 82

 

 

กลุ่มที่ 2 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอื่นๆ

ขนาดตลาดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของจีนถือว่าอยู่แถวหน้าของโลก แต่ระดับการบริโภคต่อหัวยังต่ำ จึงยังมีโอกาสที่จะเติบโต โดยในปี 2565 จีนมีขนาดตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมูลค่า 48,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (1.728 ล้านล้านบาท) และคาดว่าในปี 2570 จะมีขนาดมูลค่า 63,900 ล้านเหรียญสหรัฐ (2.30 ล้านล้านบาท) สำหรับรายจ่ายเฉลี่ยต่อหัวของผู้บริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในปี 2565 พบว่า ชาวจีนเฉลี่ยอยู่ที่ 34 เหรียญสหรัฐ (1,224 บาท) ทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 39 เหรียญสหรัฐ (1,404 บาท) และสหรัฐอเมริกาเฉลี่ยอยู่ที่ 271 เหรียญสหรัฐ (9,756 บาท) สำหรับ รูปแบบ/วิธีการดูแลสุขภาพร่างกายของผู้บริโภคจีนในอนาคต พบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 38 เลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้บริโภคร้อยละ 77 เลือกออกกำลังกาย และผู้บริโภคร้อยละ 76 เลือกปรับวิธีการรับประทานอาหาร

 

กลุ่มที่ 3 การดูแลผิว

จากรายงานการพัฒนาอุตสาหกรรมคอลลาเจนปี 2566 เปิดเผยว่าผู้บริโภคกว่าร้อยละ 70 มีสุขภาพผิวไม่ดี ทำให้มีความต้องการซ่อมแซม ดูแลผิว โดยจากการสุ่มสำรวจพบว่าผู้หญิงร้อยละ 57 มีปัญหาผิวหยาบกร้านและรูขุมขนกว้าง ผู้หญิงร้อยละ 57 มีปัญหาผิวแห้ง หน้าขาดน้ำ ข้างนอกมันข้างในแห้ง ผู้หญิงร้อยละ 54 มีปัญหาผิวเหลือง หมองคล้ำ สีผิวไม่สม่ำเสมอ ผู้หญิงร้อยละ 38 มีปัญหา ฝ้า กระ จุดด่างดำ ผู้หญิงร้อยละ 31 มีปัญหาผิวแดงแพ้ง่าย ผู้หญิงร้อยละ 26 มีปัญหาริ้วรอยจางๆ ผู้หญิงร้อยละ 17 มีปัญหาตีนกา กับร่องแก้ม ผู้หญิงร้อยละ 17 ผิวหย่อน โหนกแก้มย้อย ทั้งนี้ ด้วยคุณสมบัติของคอลลาเจนที่ช่วยกเก็บน้ำของเซลล์เนื้อเยื่อมีผลให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ชะลอความชราของผิว ทำให้คอลลาเจนถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางอย่างกว้างขวาง ที่สามารถพบเห็นได้บนตลาดปัจจุบัน อาทิ ผลิตภัณฑ์มาส์กหน้า อายครีม ครีมบำรุงผิว

 

โอกาสของตลาดอุตสาหกรรมคอลลาเจนในจีน

 

การต่อต้านริ้วรอยเป็นความต้องการอันดับ 1 ในการดูแลผิวพรรณของผู้หญิง จึงทำให้ตลาดต่อต้านริ้วรอยเข้าสู่ RED OCEAN ที่มีการแข่งขันรุนแรง โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดต่อต้านริ้วรอยของจีนในอนาคตจะมีโอกาสในการพัฒนาถึง 100,000 ล้านหยวน (550,000 ล้านบาท)  สำหรับอุตสาหกรรม Recombinant collagen ของจีนนั้นอยู่ในตำแหน่งผู้นำของโลก ซึ่งได้ผ่านการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นต้นฉบับ ได้มีการจัดตั้งกลุ่มคุ้มครองสิทธิบัตรทั้งในและต่างประเทศ และได้รับการรับรองระบบคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และอาเซียน ฯลฯ ปัจจุบัน จีนมีบริษัทที่ผลิต Recombinant collagen ที่สำคัญด้วยกัน 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท จิ่นปอเซิงอู้ (锦波生物) บริษัทเจียงซูจู้หยวน (江苏聚源) บริษัท GIANT BIOGENE HOLDING CO., LTD และบริษัท Jiangsu Trautec Medical Technology Co.,Ltd โดยผลิตภัณฑ์ของทั้ง 4 บริษัทนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 98 ของตลาดจีน

 

อย่างไรก็ดี ‘ความงามจากการรับประทาน’ ได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้บริโภค และสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยคอลลาเจนเปปไทด์กลายเป็นส่วนผสมดาวเด่นที่สำคัญ เนื่องจากมีคุณสมบัติที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งด้านสุขภาพและความงาม สามารถส่งเสริมการแพร่กระจายของไฟโบรบลาสต์และบรรเทาความเครียดจากการเกิดออกซิเดชันและมีบทบาทในการปกป้องสุขภาพผิว ปรับปรุงความสามารถในการกักเก็บน้ำของผิว เป็นต้น โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2565 คอลลาเจนเปปไทด์ได้รับการยืนยันจากกระทรวงพาณิชย์จีนในประกาศ White Paper การพัฒนาอุตสาหกรรมคอลลาเจนคุณภาพสูงในจีน ว่าเป็นเปปไทด์โมเลกุลขนาดเล็กที่มีการซึมผ่านสูงและสามารถดูดซึมได้ดี ในเนื้อเยื่อผิวของมนุษย์ เป็นส่วนผสมที่ช่วยเติมสารอาหารที่จำเป็นในผิว เพื่อให้ความชุ่มชื้นและเรียบเนียนยิ่งขึ้น และยังสามารถเพิ่มความยืดหยุ่นและความตึงเครียดของผิว ตั้งแต่นั้นมา เครื่องดื่มคอลลาเจนเปปไทด์ก็ได้รับการยอมรับ ตลาดคอลลาเจนเปปไทด์มีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แบรนด์ต่างประเทศ อาทิ POLA ,Shiseido , FANCL ต่างทยอยเข้าสู่ตลาดจีน และด้วยการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับส่วนผสมคอลลาเจนเปปไทด์ Niacinamide เมล็ดองุ่น กรดไฮยาลูริก เป็นต้น และแบรนด์จีนที่เข้าสู่ตลาดภายหลังอย่างเช่นแบรนด์ Fivedoctors ก็มีการวิจัยและพัฒนาส่วนผสมดังกล่าว ซึ่งคาดว่าในอนาคตอุตสาหกรรมคอลลาเจนเปปไทด์จะมีการเติบโตในทิศทางที่ดี โดยคาดการณ์ในปี 2570 จะมีมูลค่าตลาดราว 173,800 ล้านหยวน (955,900 ล้านบาท)

 

สำหรับขั้นตอนพิธีการศุลกากรนำเข้าผลิตภัณฑ์คอลลาเจน อาทิ เครื่องดื่มคอลลาเจน มีเอกสาร ดังนี้ 1) ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า 2) ใบรับรองสุขภาพหรือใบรับรองการจำหน่าย 3) รายงานการวิเคราะห์องค์ประกอบของสารอาหาร 4) ใบรับรองวันที่ผลิตและอายุการเก็บรักษา 5) ภาพถ่ายสีและการแปลฉลาก 6) หากเป็นพาเลทไม้จะต้องมีโลโก้ IPPC และ 7) ใบกำกับภาษี เป็นต้น

 

ความคิดเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

คอลลาเจนถูกประยุกต์ใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์อุปโภคและบริโภคอย่างกว้างขวาง และประเภทของผลิตภัณฑ์ก็มีความหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคหลากหลายกลุ่มยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตลาดคอลลาเจนเปปไทด์ ที่คาดว่าจะเป็นตลาดที่มีอนาคตที่สดใส มีการเติบโตในทิศทางที่ดี จึงเป็นอีกตลาด Blue Ocean ที่จะเข้ามาขยายตลาดคอลลาเจนของจีน โดยปัจจุบันพบเครื่องดื่มคอลลาเจนแบบซองของไทยมีวางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น JD, TAOBAO, PINDUODUO บ้างแล้ว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเข้าสู่ตลาดจีน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนผสมของคอลลาเจน อาทิ ครีมบำรุงผิว มาส์กหน้า และเครื่องดื่มพร้อมดื่ม เช่น เครื่องดื่มน้ำมะพร้าวที่กำลังเป็นที่นิยมในตลาดจีนที่สามารถเพิ่มส่วนผสมของคอลลาเจน เพิ่มตัวเลือกที่หลากหลายให้กับผู้บริโภคจีนมากยิ่งขึ้น

 

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์คอลลาเจนของไทยบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังของจีน

 

******************************

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

 

แหล่งที่มา : https://www.chinairn.com/scfx/20231206/104354445.shtml

http://www.syntun.com.cn/

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ส่องตลาดคอลลาเจน ความงามจากการรับประทานที่เข้าถึงได้ในตลาดจีน

Login