หน้าแรกTrade insightเกษตรอื่นๆ > ส่องการพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้ในตลาดจีน

ส่องการพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้ในตลาดจีน

เมื่อพิจารณาพื้นที่เพาะปลูกผลไม้ทั่วโลก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 เป็นต้นมา พบว่าพื้นที่เพาะปลูกผลไม้ทั่วโลกขยับเพิ่มขึ้นทุกปี และนับจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 2020 ทั่วโลกมีพื้นที่เพาะปลูกผลไม้ถึง 405.37 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 (YoY) โดยในปี ค.ศ. 2020 จีนมีพื้นที่เพาะปลูกผลไม้มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก จำนวน 79.03 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.5 ของพื้นที่ปลูกผลไม้ทั่วโลก รองลงมา ได้แก่ อินเดีย 45.19 ล้านไร่ บราซิล 13.01 ล้านไร่ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.15 และร้อยละ 3.21 ตามลำดับ

จากตัวเลขดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่าจีนเป็นหนึ่งในพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญของโลก สืบเนื่องจากการบริโภคผลไม้ของจีนที่สูงขึ้นรวมถึงระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้แนวโน้มการเติบโตจากเดิมเน้นด้านปริมาณได้เปลี่ยนแปลงเป็นการผลิตที่เน้นทั้งคุณภาพและปริมาณ ซึ่งส่งผลให้ผลไม้ประเภทใหม่ๆ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการและดีต่อสุขภาพได้รับการตอบรับที่ดีมากขึ้นในตลาดจีน  และเมื่อพิจารณาจากปริมาณการบริโภคผลไม้ต่อหัวประชากรของประชากรจีนจะพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี ค.ศ. 2012 จีนมีการบริโภคผลไม้เฉลี่ยต่อหัวประชากรเท่ากับ 135.51 กิโลกรัม และปี ค.ศ.2021 ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 175.27 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 29.34

ผลไม้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคเกษตรกรรมของจีน และมีบทบาทในการพัฒนาด้านเกษตรกรรมและส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน โดยนับตั้งแต่มีการปฏิรูปและเปิดประเทศเป็นต้นมาก็พบว่าพื้นที่ปลูกผลไม้ของจีนก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง และผลผลิตก็เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน ซึ่งแต่เดิมในปี ค.ศ. 2000 จีนมีปริมาณการผลิตผลไม้จำนวน 62 ล้านตัน แต่จากข้อมูลล่าสุดในปี ค.ศ. 2021 พบว่าจีนมีปริมาณการผลิตผลไม้เพิ่มขึ้นเป็น 293 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 3.73 เท่า โดยในที่นี้ มีการผลิตผลไม้สำคัญ ได้แก่ แอปเปิล 45.97 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ส้ม 55.96 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 สาลี่ 18.88 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 และกล้วย 11.72 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาผลไม้ 5 อันดับแรกที่จีนผลผลิตมากที่สุด ได้แก่ แอปเปิล กล้วย ส้ม สาลี่ และองุ่น พบว่าในปี ค.ศ. 2020 มีปริมาณผลผลิตของผลไม้ทั้ง 5 ชนิดรวมคิดเป็นปริมาณ 139 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.4 ของปริมาณผลผลิตรวมทั้งหมด ในที่นี้ ส้มมีปริมาณผลผลิตมากที่สุด 51 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.8 รองลงมา ได้แก่ แอปเปิล 44 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.4 สาลี่ 18 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.2 องุ่น 14 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 และกล้วย 12 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4 ตามลำดับ

เมื่อยกตัวอย่างอุตสาหกรรมการผลิตผลไม้ในจีนที่สำคัญ ได้แก่ ส้ม พบว่าในปี ค.ศ. 2020 ปริมาณผลผลิตส้มในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มณฑลหูหนาน และมณฑลหูเป่ย คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของผลผลิตรวม โดยเขตปกครองตนเองกว่างซีมีผลผลิตมากที่สุด 13.82 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 และส้มพันธุ์ที่โดดเด่นและช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรชาวกว่างซีจ้วงหลุดพ้นจากความยากจน ได้แก่ ส้มพันธุ์ Tangerine และพันธุ์ Fertile Orange ในขณะที่การผลิตกล้วย กลับพบว่าจีนมีพื้นที่การผลิตลดลงทุกปี แต่อย่างไรก็ดีผลผลิตยังคงที่และไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยในปี ค.ศ. 2021 จีนมีปริมาณผลผลิตกล้วยจำนวน 11.72 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ. 2020 ร้อยละ 0.59 และพื้นที่เพาะปลูกสำคัญของจีน ยกตัวอย่างเช่น มณฑลกวางตุ้ง มีผลผลิตกล้วยสูงสุดในเดือนกรกฎาคมมากถึง 430,000 ตัน ขณะที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มีผลผลิตสูงสุดในเดือนตุลาคม – ธันวาคมอยู่ที่ประมาณ 650,000 – 740,000 ตัน

สำหรับนโยบายของรัฐบาลจีนที่ส่งเสริมการผลิตผลไม้ที่มีนัยสำคัญเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 2019 โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้กำหนดแผนปฏิบัติการสุขภาพจีน หรือ Healthy China Action (2019 – 2030) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนปรับปรุงโครงสร้างการรับประทานอาหาร และให้ความสำคัญต่อการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับ เมื่อมีการสนับสนุนการับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น จึงทำให้คนรุ่นใหม่ชาวจีนกลายเป็นผู้บริโภคหลักผลไม้ที่สามารถรับประทานได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ จนทำให้ผลไม้กลายเป็นอาหารว่างประเภทหนึ่ง ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลดีต่อการขยายความต้องการในการบริโภคผลไม้ในจีนให้เติบโตและแพร่หลายได้มากยิ่งขึ้น

เมื่อพิจารณาตลาดนำเข้าและส่งออกผลไม้ของจีน พบว่าปัจจัยของจำนวนชนชั้นกลางที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความใส่ใจต่อสุขภาพของตนเอง และการแสวงหาชีวิตที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ผลไม้ที่คุณภาพสูงมีโอกาสเติบโตและมีความต้องการในตลาดจีนมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดในปี ค.ศ.  2021 ที่พบว่าจีนมีปริมาณการบริโภคผลไม้นำเข้ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.51 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ในด้านการผลิตและการส่งออก พบว่าจีนเป็นประเทศผู้ผลิตผลไม้รายใหญ่ของโลก โดยอาจกล่าวได้ว่าผลผลิตผลไม้เขตร้อนส่วนใหญ่ผลิตในประเทศจีน และในช่วงครึ่งปีแรกของปี ค.ศ. 2022 ก็ยังพบว่าจีนส่งออกผลไม้ไปทั่วโลกเป็นจำนวนมาก เช่น แอปเปิล 361,800 ตัน ส้ม 393,000 ตัน สาลี่ 7,800 ตัน องุ่น 35,600 ตัน และกล้วย 8,000 ตัน ตามลำดับ ส่วนการนำเข้า จีนก็ยังคงมีการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศที่มีความต้องการในการบริโภคเพิ่มสูงขึ้น เช่น กล้วย 1.11 ล้านตัน องุ่น 175,100 ตัน สาลี่ 184,400 ตัน ส้ม 114,000 ตัน และแอปเปิล 45,100 ตัน ตามลำดับ

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจภายในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้พฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนเปลี่ยนแปลงไป โดยชาวจีนส่วนใหญ่หันมาใส่ใจต่ออาหารการกินและสุขภาพของตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะการรับประทานผลไม้ ซึ่งถือเป็นอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และมีความเป็นธรรมชาติ จึงทำให้การรับประทานผลไม้ในจีนขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับรูปแบบในการบริโภคผลไม้ก็มีความหลากหลายมากขึ้นเช่นกัน เช่น ผลไม้แปรรูป ผลไม้ที่เป็นขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มน้ำผลไม้ เครื่องดื่มชาสมัยใหม่ผสมน้ำผลไม้ เป็นต้น ทำให้ตลาดผลไม้ของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต ดังนั้น ตลาดผลไม้ของจีนจึงเป็นตลาดที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะการที่ผู้บริโภคชาวจีนซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ และถือเป็นผู้บริโภคหลักของผลไม้ในจีนมีพฤติกรรมที่ชื่นชอบการลิ้มลองรสชาติใหม่ๆ และการแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงทำให้ผลไม้ไทยเป็นหนึ่งในผลไม้นำเข้าที่ตัวเลือกในการบริโภคผลไม้ของชาวจีนในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ทุเรียน เป็นผลไม้ไทยที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดที่พบว่าในปี ค.ศ. 2023 จีนมีการนำเข้าทุเรียนเฉลี่ยเป็นรายเดือนสูงเป็นประวัติการณ์ คือในเดือนเมษายน 2023 จีนนำเข้าทุเรียนมากถึง 221,000 ตัน โดยนำเข้าจากไทย 206,000 ตัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 93.21 ของการนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของจีน แสดงให้เห็นว่า ชาวจีนมีความนิยมและชื่นชอบการรับประทานทุเรียนเป็นอย่างมากและยังคงมีแนวโน้มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ แม้ว่าปัจจุบันจีนจะมีการอนุญาตให้มีการนำเข้าทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างเวียดนาม และฟิลิปปินส์แล้ว รวมทั้งยังสามารถปลูกได้เองในบางพื้นที่ แต่ชาวจีนก็ยังคงมีความต้องการบริโภคทุเรียนไทยและเลือกที่จะซื้อทุเรียนไทยเป็นอันดับแรกๆ แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากตลาดผลไม้ถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูง และขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มีการแข่งขันที่สูงมากด้วยเช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจุบันพ่อค้าชาวจีนไม่ได้เน้นการขายให้ได้ปริมาณมากๆ เพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต แต่ยังเน้นการจำหน่ายผลไม้ที่มีคุณภาพ มีความเป็นพรีเมียมสอดคล้องกับตามความต้องการของตลาดและการเปลี่ยนแปลงตามพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการผลไม้ไทยจึงต้องให้ความสำคัญต่อการรักษาคุณภาพของสินค้า มาตรฐานในการผลิต และกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของจีนอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับความเชื่อมั่น และเป็นผลไม้ที่สามารถครองใจผู้บริโภคชาวจีน ตลอดจนครองส่วนแบ่งในตลาดจีนได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา: https://www.chinairn.com/hyzx/20230620/172810845.shtml

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

Login