หน้าแรกTrade insight > ส่งออกยังฉลุย! จุรินทร์ ชู ตัวเลข มกรา 65 ขยายตัว 8% มูลค่า 708,312 ล้านบาท ด้านรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่กระทบ แต่พร้อมรับมือถ้ายืดเยื้อ

ส่งออกยังฉลุย! จุรินทร์ ชู ตัวเลข มกรา 65 ขยายตัว 8% มูลค่า 708,312 ล้านบาท ด้านรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่กระทบ แต่พร้อมรับมือถ้ายืดเยื้อ

ส่งออกยังฉลุย! จุรินทร์ ชู ตัวเลข มกรา 65 ขยายตัว 8% มูลค่า 708,312 ล้านบาท ด้านรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่กระทบ แต่พร้อมรับมือถ้ายืดเยื้อ

                       นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนมกราคม 2565  พร้อมด้วย นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศประเทศ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 ตึกสำนักงานปลัด กระทรวงพาณิชย์

                       นายจุรินทร์ กล่าวว่าตัวเลขการส่งออกเดือนมกราคม 2565 ที่ตัวเลขทางการออกล่าช้า เพราะเป็นช่วงเวลาที่กรมศุลกากรปรับระบบพิกัดศุลกากรทุก 5 ปี รายละเอียดรายสินค้าจึงยังไม่ครบถ้วน สำหรับตัวเลขการส่งออกเดือนมกราคม 2565 เป็น +8% มีมูลค่า 708,312 ล้านบาท ตลาดที่ขยายตัวสูง 10 ลำดับแรกประกอบด้วย 1. อินเดีย (+31.9%) 2. รัสเซีย (+31.9%) 3. สหราชอาณาจักร (+29.7%) 4. เกาหลีใต้ (+26.8%) 5. สหรัฐฯ (+24.1%) 6. แคนาดา (+13.6%) 7. อาเซียน5 (+13.2%) 8. จีน (+6.8%) 9. ลาตินอเมริกา (+5.0%) 10. สหภาพยุโรป (+1.4%)

                       ปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนให้การส่งออกเดือนแรกของปี 65 เป็นบวกถึง 8% เพราะ 1.การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน ยังเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มคน 2.ภาคการผลิตทั่วโลกยังขยายตัวดูได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 สะท้อนว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่อง 3.ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งสหรัฐอเมริกากับภาคเอกชนร่วมมือกันขยายเวลาทำการในวันหยุด และเพิ่มการทำงานในช่วงกลางคืน ทำให้คล่องตัวขึ้นและตู้คงค้างลดลง

                       โดยเดือนมกราคม 65 เทียบกับปี 64 ที่ขยายตัว 0.3% แต่เดือนมกราคมปี 65 ขยายตัวถึง 8% ซึ่งปีนี้ยังตั้งเป้าไว้ที่ +3-4% คงเดิม

                       สำหรับสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ตนมอบหมายให้ท่านปลัดกระทรวงฯ ประชุมกับภาคเอกชน ซึ่งมีทั้งสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ สมาคมธนาคารไทย สมาพันธ์ SMEs และสมาคมอื่นที่เกี่ยวข้อง มีข้อสรุปที่เป็นความเห็นร่วมกัน ดังนี้ 1.สถานการณ์ในขณะนี้ การเจรจายังไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นข้อยุติ การประเมินผลกระทบที่มีต่อภาวะการค้าการส่งออกและนำเข้าของไทย จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบทางตรง เพราะตลาดรัสเซียเป็นตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนการตลาดแค่ 0.38% ของไทย และตลาดยูเครน 0.04% ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก เมื่อเจาะรายสินค้าพบว่าถ้าจะมีผลกระทบทางตรงอาจจะกระทบต่อสินค้าประเภทยางรถยนตร์ อาหารแปรรูป อัญมณีและเครื่องสำอาง ที่ส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนเป็นต้น และในอนาคตอาจกระทบต้นทุนธุรกรรมทางการเงิน และต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรือ หากราคาน้ำมันยังสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และหากมีการปิดท่าเรือบางท่าในรัสเซียหรือยูเครน การส่งสินค้าของไทยอาจต้องเปลี่ยนท่าเรือ จะมีผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งได้

                       สำหรับผลกระทบทางอ้อม อาจมีเรื่องราคาพลังงานหรือราคาเหล็กนำเข้า ที่นำมาผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น กระป๋องหรือก่อสร้างเป็นต้น และผลกระทบต่อราคาธัญพืชที่นำเข้า เพื่อทำอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสาลีและ ข้าวโพด เป็นต้น เพราะรัสเซีย-ยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก 

                       ที่ประชุมได้เตรียมมาตรการต่างๆรองรับร่วมกันหากเกิดปัญหา 1.มีการเตรียมบุกตลาดทดแทน เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดแอฟริกา ตลาดลาติน  รวมทั้งเตรียมบุกตลาดทดแทนสินค้าของรัสเซียหรือยูเครนที่ไม่สามารถส่งออกไปตลาดสำคัญในโลกได้ จะถือเป็นโอกาสเข้าไปทดแทนตลาดรัสเซียกับยูเครน เช่น มันสำปะหลัง อาจส่งไปจีนแทนข้าวโพดของยูเครนหรือผลิตภัณฑ์ยางในสหรัฐ อาหารสำเร็จรูปทดแทนตลาดรัสเซียยูเครน เป็นต้น

                       ซึ่งตนมอบให้ท่านปลัดฯ ประสานงานกับภาคเอกชนโดยใกล้ชิดและติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด ทำงานร่วมกันถ้าเกิดปัญหาหน้างานเร่งแก้ปัญหาร่วมกันโดยเร็ว ให้ได้รับผลทางบวกมากที่สุดและทางลบน้อยที่สุด

                       ขณะนี้ยอมรับว่าอาหารสัตว์ วัตถุดิบอาหารสัตว์ บางส่วนเกิดปัญหาเฉพาะกรณี เช่น กากถั่วเหลืองนำเข้าจากสหรัฐฯ กรมการค้าภายในรายงานว่าเกิดจากภัยแล้งในสหรัฐฯ ปริมาณกากถั่วเหลืองลดลง ราคาจึงพุ่งสูงขึ้น มีการเรียกร้องให้ปรับอัตราภาษี โดยกระทรวงคลังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าหากปรับภาษีนำเข้าจะกระทบเกษตรกรไทยอย่างไร อย่างไรก็ตามต้นทุนอาหารสัตว์ในประเทศในกรณีข้าวโพดที่สูงขึ้นมาเพราะราคาข้าวโพดสูงขึ้นถือเป็นความสำเร็จอีกด้านหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯและรัฐบาล ข้าวโพด ราคา 10-11 บาท/กก. ซึ่งเกษตรกรมีความสุข แต่ก็เป็นต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ทำให้ต้นทุนเนื้อสัตว์อาจสูงขึ้น ดังนั้นต้องแก้ปัญหาทั้งสองด้าน ให้สมดุลอยู่ได้ทั้งสองฝ่ายต่อไป

                       สำหรับประเด็นไข่ไก่ 1.ไข่ไก่ช่วงเวลานี้ราคาถูกลง เมื่อติดตามราคาอย่างใกล้ชิดมีแนวโน้มลดลงและทรงตัวแล้ว ราคาเฉลี่ยเมื่อวาน (1 มี.ค.65) ไข่ไก่เบอร์สาม ราคา 3.28 บาท/ฟอง ราคากำกับอยู่ที่ 3.50 บาท/ฟอง  ซึ่งในห้างสำคัญที่ติดตามราคาบิ๊กซี เมื่อวานนี้ 3.20 บาท/ฟอง โลตัส  3.30 บาท/ฟอง เป็นต้น ที่สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ประกาศขอเพิ่มราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มจากที่ตกลงไว้ 2.90 บาท/ฟอง ซึ่งสมาคมแจ้งว่าต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้น ตนมอบหมายกรมการค้าภายในเจรจา และดูข้อเท็จจริงพบว่าสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรายงานว่าต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แต่ต้องรอมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ว่าต้นทุนทางการเพิ่มเป็นเท่าไหร่และจะมีการพิจารณาราคาหน้าฟาร์มและราคาปลีก เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาด้วยความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายโดยเร็ว

ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)

Login