หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > สเปนและโปรตุเกสผู้นำพลังงานทดแทนโลก ปตท.สผ.เล็งลงทุนแดนกระทิง

สเปนและโปรตุเกสผู้นำพลังงานทดแทนโลก ปตท.สผ.เล็งลงทุนแดนกระทิง

ทุกวันนี้ สเปนและโปรตุเกสนับเป็นผู้นำอันดับต้นๆ ด้านพลังงานทดแทนของโลก โดยเป็นนโยบายที่สอดรับ EU Green Deal / Carbon Neutrality รวมถึงการรณรงค์ใช้ยานพาหนะไฟฟ้าเพื่อต่อสู้กับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change ซึ่งในกรณีของสเปนนั้นรัฐบาลกำหนดเป้าหมายจะใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 74 ในปี 2030 แหล่งพลังงานทดแทนหลัก ได้แก่ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และไฮโดรเจน ขณะที่สำหรับโปรตุเกส พลังงานทดแทนมีความสำคัญต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ปัจจุบันโปรตุเกสใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเกือบร้อยละ 80 ของประเทศ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีบริษัทข้ามชาติให้ความสนใจลงทุนในสเปนและโปรตุเกสไม่น้อย อาทิ Hanwha Energy ของเกาหลี Esparity Solar ของอังกฤษ Verbund ของออสเตรีย Ardian ของฝรั่งเศส และ Vestas ของเดนมาร์ก และล่าสุดรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของสเปน “Cinco Dias” ระบุว่า บริษัท ปตท.สผ. ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของไทยมีแผนเข้าร่วมการประมูลโปรเจค “Ebro” หรือโครงการพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ของบริษัทพลังงาน Repsol ของสเปนซึ่งจะเป็นการเข้าถือหุ้นร้อยละ 49 ที่มูลค่า 800 ล้านยูโร

แผนกลยุทธ์การขยายธุรกิจสีเขียวของบริษัท Repsol เป็นไปตาม Road map ที่ริเริ่มขึ้นในปี 2020 ภายใต้การนำของนาย Josu Jon Imaz มีเป้าหมายจะพลิกธุรกิจของบริษัทจากธุรกิจน้ำมันเพียงอย่างเดียวไปสู่พลังงานที่ยั่งยืนและมีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2025 โดย Repsol ได้ลงทุนอย่างต่อเนื่องในด้านพลังงานสีเขียว ใช้กลยุทธ์ถือหุ้นส่วนมากและร่วมทุนกับผู้สนใจที่จะมาร่วมถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 50 ที่ผ่านมามีความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของโลกหลายโครงการ อาทิ โครงการ Delta wind farm และ Kappa Solar Farm ซึ่งลงทุนร่วมกับ Pontegadea โครงการ InfraRed ร่วมกับ Valdesolar และยังได้จำหน่ายหุ้นร้อยละ 25 ในราคา 900 ล้านยูโรให้กับกลุ่ม Crédit Agricole และ EIP

โครงการล่าสุดที่ Repsol ดำเนินการ คือ การประกาศประมูลหุ้นร้อยละ 49 สำหรับโปรเจค Ebro โครงการพลังงานแสดงอาทิตย์และโซลาร์เซลล์ สำหรับไฟฟ้า 600 เมกะวัตต์ ในแคว้น Aragon แคว้น Castilla y León แคว้น Castilla-La Mancha และแคว้น Andalusia ซึ่งหนึ่งในผู้ที่น่าสนใจสำหรับ Repsol คือ บริษัท ปตท.สผ. ของประเทศไทย โดยข่าวท้องถิ่นระบุว่าทั้งสองบริษัทไม่ใช่บริษัทแปลกหน้า เพราะเคยร่วมงานกันมาก่อนในการขุดเจาะน้ำมันที่เม็กซิโก อีกทั้งยังมีเป้าหมายที่ตรงกันในการปรับโครงสร้างบริษัทสู่พลังงานที่ยั่งยืนเพื่อขยายฐานผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ในขณะนี้

อนึ่ง ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า สเปนมีแหล่งผลิตพลังงานทดแทนที่อุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะพลังงานลม ซึ่งสเปนมีกำลังผลิตกว่า 27 GW เป็นลำดับสองรองจากเยอรมนี มีกังหันลมกว่า 21,000 แห่งทั่วประเทศ และพลังงานแสงอาทิตย์กำลังผลิตกว่า 15 GW  (ปี 2021)  อีกทั้งกำหนดจะใช้พลังงานทดแทนที่จริงจังและต่อเนื่อง ตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงานจากถ่านหินทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2025 และพลังงานนิวเคลียร์ภายในปี ค.ศ.2035 รวมถึงจะรื้อถอนโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมัน ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030 ด้วย นอกจากนี้ ไฮโดรเจนยังเป็นพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพ ซึ่งรัฐบาลสเปนได้มีการจัดทำ Hydrogen Roadmap เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมเทคโนโลยีและการลงทุนในสาขาดังกล่าวด้วย

ขณะเดียวกัน โปรตุเกสก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความก้าวหน้าด้านพลังงานทดแทนสูง โดยเป็นประเทศที่สี่ของยุโรปที่เลิกใช้พลังงานจากถ่านหินเมื่อหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นหนึ่งใน 4 ประเทศของสหภาพยุโรปที่ตั้งเป้าจะใช้พลังงานสะอาดเต็ม 100% ภายในปี 2030 พร้อมกับเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และออสเตรีย โดยโปรตุเกสมีฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดติดอันดับ 3 ของโลก และมีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมมากเป็นอันดับ 2 ของยุโรป (รองจากเดนมาร์ก) มีฟาร์มกังหันลม (Wind Farm) กระจายอยู่ทั่วประเทศ แหล่งสำคัญอยู่ทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเป็นผู้นำด้านพลังงานจากคลื่นทะเล โดยมี Agucadoura Wave Farm ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นฟาร์มพลังงานจากคลื่นทะเลแห่งแรกของโลก

ข้อคิดเห็นของ สคต.

พลังงานสะอาดเป็นแนวโน้มที่สำคัญของโลก (Megatrend) โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ประเทศสมาชิกในสหภาพฯ มีเป้าหมายร่วมที่จะต้องมุ่งสู่ European Green Deal และร่วมกันลดผลกระทบจาก Climate Change ดังนั้นการทำธุรกิจกับยุโรปจึงจำเป็นต้องใส่ใจกับแนวคิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้เป็นแผนที่นำทางขององค์กร ทั้งนี้ ในด้านธุรกิจพลังงานทดแทน สคต.เห็นว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการขยายความร่วมมือระหว่างไทยกับสเปนหรือโปรตุเกส ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มพลังงาน กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า หรือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ อาจทำได้หลายรูปแบบ อาทิ การแสวงหาโอกาสด้านการร่วมลงทุน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ซื้อขายเทคโนโลยี และการสร้างเครือข่ายเพื่อยกระดับภาพลักษณ์ทางการค้าอันดีให้กับธุรกิจไทย สร้างความเชื่อมั่นให้แก่คู่ค้า และเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจไทยด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด

20 ตุลาคม 2566

ที่มา : หนังสือพิมพ์ Cinco Dias และ ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ

Login