เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2566 ฝูงแกะ 1,100 ตัว และแพะ 200 ตัว พร้อมหนุ่มสาวในชุดพื้นเมืองและนักดนตรี ตบเท้าเข้ายึดครองใจกลางกรุงมาดริดอีกครั้ง ในเทศกาล “Trashumancia” หรือ พาเหรดแกะ ซึ่งเทศบาลกรุงมาดริดและสมาคมอนุรักษ์เส้นทางเดินแกะร่วมกันจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 30 เพื่อระลึกถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวสเปน และรณรงค์อนุรกษ์สิ่งแวดล้อม โดยออกเดินทางจากสวน Casa de Campo ทางใต้ของเมืองผ่านเส้นทางท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ Calle Mayor ต่อไปยัง Sol วงเวียนน้ำพุ Cibeles และจัตุรัส Columbus อวดโฉมให้ชาวเมืองมาดริดและนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัยได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด
ทำไมแกะต้องเดินขบวน ?
ประเพณีการนำแกะเดินเป็นขบวนตามเส้นทางเช่นนี้มีความเป็นมาเก่าแก่กว่า 750 ปี คนเลี้ยงแกะต้องพาฝูงแกะของตนเคลื่อนย้ายไปยังทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์แห่งใหม่ หรือหนีสภาพอากาศที่หนาวหรือร้อนเกินไปในแต่ละปี โดยกษัตริย์อัลฟอนโซได้ริเริ่มบริหารจัดการเส้นทางเคลื่อนย้ายสัตว์ทั่วประเทศในการทำปศุสัตว์อย่างเป็นกิจจะลักษณะเมื่อปี 1273 ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นเส้นทางที่วิ่งผ่านใจกลางกรุงมาดริด อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมเมืองขยายตัว สิ่งก่อสร้างต่างๆ เข้ามาแทนที่ธรรมชาติ ทำให้เส้นทางเดินของแกะหลายเส้นถูกตัดขาดไป นักอนุรักษ์กลุ่มหนึ่งจึงรวมตัวกันจัดเทศกาล Tanshumancia บนเส้นทางมาดริดขึ้นเมื่อปี 1994 เพื่อเป็นเครื่องมือในการผลักดันกฎหมายอนุรักษ์เส้นทางเดินของคนเลี้ยงแกะทั่วประเทศ ทั้งนี้ หลังจากประสบความสำเร็จในการเรียกร้องกฎหมายฉบับดังกล่าว เมืองมาดริดก็ยังคงปักหมุดเทศกาลนี้ไว้ในปฏิทินประจำปีเพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ในการปกป้องเส้นทางธรราชาติ พิสูจน์บทบาทของการทำปศุสัตว์ในสเปน รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และต่อสู้กับปัญหา Climate Change
เมืองมาดริดขอบคุณชนบท
นาย José Luis Martínez-Almeida นายกเทศมนตรีกรุงมาดริด เป็นตัวแทนชาวเมืองต้อนรับขบวนคนเลี้ยงแกะ และผู้แทนฝ่ายการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นย้ำว่า “มาดริดจะไม่มีทางเจริญเช่นนี้ได้หากไม่มีชนบทและผู้คนในชนบท เมืองใหญ่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ก็เพราะทุกอย่างรอบตัว ดังนั้น เรายืนยันว่าจะร่วมปกป้องทุ่งหญ้าที่เป็นมรดกทางธรรมชาติกว่า 425,000 เฮกเตอร์และเส้นทางเคลื่อนย้ายปศุสัตว์กว่า 125,000 กิโลเมตรทั่วประเทศ”
สเปน…เจ้าแห่งเทศกาล
ด้วยนิสัยรักการสังสรรค์ เฮฮา และชอบรวมตัวกันเฉลิมฉลองไม่ว่าจะโอกาสเล็กหรือใหญ่ สเปนจึงมีการจัดเทศกาลในทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี หลายเทศกาลมีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ เทศกาล La Tomatina (The Tomate Fiesta) วาเลนเซีย เทศกาล San Fermines (Bullfighting race) ปัมโปลนา เป็นต้น แต่นอกเหนือจากนี้ แต่ละเมืองก็ยังมีการจัดงานเล็กๆ ของตนเพื่อสร้างสีสัน ความรื่นเริง และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในเมืองอย่างต่อเนื่องด้วย
เทศกาลดันการท่องเที่ยว เชื่อมประเพณีกับ Megatrend โลก
หลังจากผ่านไป 30 ปี ปีนี้เป็นปีแรกที่ผู้หญิงได้รับหน้าที่เป็นผู้นำฝูงสัตว์ โดย Marity González เป็นตัวแทนของครอบครัว Royal Council of La Mesta ซึ่งเป็นสมาคมปศุสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดของสเปน เธอทำหน้าที่นำแกะเดินผ่านเมืองเคียงข้างลูกชาย สะท้อนให้เห็นถึงความเท่าเทียมทางเพศและวัย นับได้ว่าแนวคิดของเทศกาล Transhumancia มีความล้ำลึก นอกจากจะสร้างสีสันให้กับเมือง ดึงดูดได้ทั้งครอบครัวชาวมาดริดและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก แล้วยังแฝงประเด็นทางสังคมไว้ด้วย
ข้อคิดเห็นของ สคต.
แนวคิดการจัดเทศกาลเพื่อรักษาประเพณีและดึงดูดนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันสอดแทรกประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมไว้ด้วยนี้ นับเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับไทยในการขับเคลื่อน Soft Power ผ่าน Festival เนื่องจากปัจจุบันประชาคมโลกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ทางการค้าของประเทศและความเชื่อมมั่นในการทำธุรกิจกับผู้ประกอบการต่างชาติในระยะยาว นอกจากนี้ สคต. เห็นว่าด้วยลักษณะนิสัยชาวสเปนที่รักการสังสรรค์เฮฮา อีกทั้งคนรุ่นใหม่พร้อมเปิดรับวัฒนธรรมจากทั่วโลก เป็นโอกาสดีของประเทศไทยในการนำเสนอเทศกาลไทยและผลักดันสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม ตลอดจนบริการที่เกี่ยวเนื่องสู่ตลาดสเปน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด
27 ตุลาคม 2566
ที่มา : El Mundo และ Madrid Metropolitan