โพรไบโอติก คือ จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยในเรื่องการปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหาร การดูดซึมสารอาหาร ป้องกันโรคและการรักษาภาวะที่ผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง
โพรไบโอติกเข้ามาในตลาดสหรัฐฯ ในช่วงปี 2533 ในฐานะอาหารเสริม (supplement) และต่อมาได้รับความนิยมจากผู้บริโภคสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อภูมิคุ้มกันและระบบย่อยอาหาร ส่งผลทำให้โพรไบโอติกกลายมาเป็นสินค้ายอดนิยมในสหรัฐฯ และเป็นส่วนผสมในสินค้าหลายๆ ประเภท เช่น อาหารเสริม อาหาร ของทานเล่น เครื่องดื่มและสินค้าด้านความงาม
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ The American Gastroenterological Association (AGA) ปี 2563 ระบุว่า ชาวอเมริกันมากกว่า 3.9 ล้านคน นิยมบริโภคโพรไบโอติก
ยอดจำหน่ายสินค้าโพรไบโอติกในตลาดสหรัฐฯ ปี 2565 มีมูลค่า 539 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าน่าจะมีการขยายตัวเฉลี่ย 8.10% ในช่วงระหว่างปี 2566-2571 โดยอาศัยแรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคมีการรับรู้ถึงประโยชน์ของโพรไบโอติกต่อสุขภาพมากขึ้นและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพให้การรับรองประโยชน์ของโพรไบโอติในการรักษาแบบธรรมชาติที่แพร่หลายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการใช้โพรไบโอติกเป็นส่วนผสมกับสินค้าหลายประเภท เช่น โยเกิร์ต อาหารเสริม เครื่องดื่ม ของขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและอาหารสัตว์เลี้ยง เหล่านี้เป็นปัจจัยเชิงบวกต่อการเติบโตของอุปสงค์ของสินค้าโพรไบโอติกในตลาดสหรัฐฯ อย่างมาก
จากการสำรวจข้อมูลผู้บริโภคสหรัฐฯ จำนวน 1,000 ราย ของ Food Insight พบว่า
54% ของผู้บริโภคนิยมโพรไบโอติก
38% ของผู้บริโภคนิยมบริโภคพรีไบโอติก
24% หรือประมาณ 1 ใน 4 ระบุว่าสุขภาพทางเดินอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของสุขภาพในภาพรวม
32% หรือประมาณ 1 ใน 3 ระบุว่าพวกเขาพยายามบริโภคโพรไบโอติกอย่างจริงจัง
51% นิยมบริโภคโพรไบโอติกเพื่อบำรุงสุขภาพลำไส้เป็นเหตุผลอันดับหนึ่ง
38% นิยมบริโภคโพรไบโอติกเพื่อสุขภาพโดยรวม
33% นิยมบริโภคโพรไบโอติกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
13% นิยมบริโภคโพรไบโอติกเพื่อสุขภาพจิตหรืออารมณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี
อิทธิพลของกลุ่มผู้ซื้อ Gen Z และ Millennials ที่เปิดกว้างมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะซื้อบริโภคสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย คาดว่าจะมีส่วนช่วยในผลักดันการเติบโตของตลาดให้มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในอนาคต จากข้อมูลของ Insider Intelligence ปี 2566 พบว่า ในจำนวนผู้บริโภคในสหรัฐฯ ทั้งหมด ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z มีสัดส่วน 20% และ Millennials มีสัดส่วน 22%
สินค้าโพรไบโอติกในตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ โยเกริ์ต กิมจิ ผักดอง ขนมปังซาวโดว์ นมหมักคล้ายโยเกริ์ต ชาหมักคอมบูชา ซุปเต้าหู้ น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล ชีส นมบัตเตอร์ เครื่องดื่มผลไม้ผสมโพรไบโอติก เป็นต้น
เทรนด์สินค้าโพรไบโอติกแนวใหม่ในตลาดสหรัฐฯ ที่กำลังมาแรง ได้แก่ โยเกริ์ตพร้อมดื่ม เครื่องดื่มอัดลมที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติก (probiotic carbonated drink) โปรตีนบาร์ เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา ของว่างพร้อมรับประทาน ครีมชีสและนม เป็นต้น
นอกจากนี้เทรนด์ใหม่ที่น่าจับตาและคาดว่าน่าจะมีบทบาทสำคัญในตลาดสหรัฐฯ ต่อไปในอนาคต ได้แก่ สินค้ากลุ่มของทานเล่นที่มีโพรไบโอติกและปราศจากกลูเต้น สินค้าบำรุงสุขภาพที่มีโพรไบโอติกเฉพาะสำหรับเพศชาย เครื่อมดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ผสมโพรไบโอติกที่ดีต่อสุขภาพ สินค้าอาหารจากพืชที่มีโพรไบโอติก สินค้าอาหารและของทานเล่นโพรไบโอติกสำหรับสัตว์เลี้ยง และสินค้าความงามที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติก
สินค้าความงามที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติกมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจาก โพรไบโอติกมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาปัญหาผิวต่างๆ เช่น สิว ริ้วรอย และรอยตำหนิ นอกจากนี้ อุปสงค์ความต้องการเครื่องสำอางจากธรรมชาติและการรับรู้เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของโพรไบโอติกผ่านทางผู้เชี่ยวชาญที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการสินค้าดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ กลุ่ม Millennials
จากข้อมูลจาก Global Newswire คาดการณ์ว่าตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางโพรไบโอติกของสหรัฐฯ ปี 2566 น่าจะอยู่ที่ 15,530 ล้านเหรียญสหรัฐและปี 2571 น่าจะมีมูลค่าถึง 20,500 ล้านเหรียญสหรัฐ
โอกาสของสินค้าไทยในตลาดโพรไบโอติก
- การเติบโตของความต้องการสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ ในตลาดสหรัฐฯ ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ของทานเล่น ตลอดจนสินค้ากลุ่มความงาม และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ได้จากจุลินทรีย์โพรไบโอติกและพรีไบโอติก น่าจะช่วยสร้างโอกาสให้สินค้าไทยได้เป็นอย่างดี
- การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม มีข้อมูลคุณประโยชน์ของสินค้าอย่างชัดเจนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยดึงดูดผู้บริโภค
- การประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลน่าจะช่วยเจาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ให้เกิดความสนใจที่จะทดลองและสร้างกระแสให้ผู้นำเข้าหันมาทดลองนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มมากขึ้น
แหล่งที่มาของข้อมูล: The American Gastroenterological Association/Statista/Impactful Insights/food insight/ food business news/ food beverage insider/exploding topics/cnet/ Global Newswire และสคต. นิวยอร์ก
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)