หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > สินค้าเครื่องดื่มที่กำลังอยู่ในกระแสนิยมในตลาดญี่ปุ่น

สินค้าเครื่องดื่มที่กำลังอยู่ในกระแสนิยมในตลาดญี่ปุ่น

ตลาดสินค้าเครื่องดื่ม (ในที่นี้หมายถึงเครื่องดื่มที่มีระดับแอลกอฮอล์ไม่ถึงร้อยละ 1 และบรรจุในภาชนะ เช่น ขวด PET กระป๋องหรือภาชนะกระดาษซึ่งสามารถดื่มได้ทันที)  ในญี่ปุ่นในปี 2022   มีมูลค่ารวม 4.94 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1.41   ล้าน  ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 2.6 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาสองปี ตั้งแต่ปี 2021 ซึ่งฟื้นตัวจากผลกระทบโรคโควิด 19 ที่เริ่มระบาดเมื่อปี 2020      สาเหตุที่ ตลาดเครื่องดื่มขยายตัวนั้น เนื่องมาจากกิจกรรมต่างๆที่ถูกจำกัดในช่วงการระบาดของโรค โควิดได้เริ่มผ่อนคลาย ทำให้ผู้คนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ และออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านซึ่งส่งผลให้มีการบริโภคเครื่องดื่มมากขึ้น นอกจากนั้นในฝ่ายของผู้ประกอบการเองก็กระตือรือล้นในการทำกิจกรรมการตลาด หรือพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มยอดจำหน่าย  อีกทั้งยังได้รับอิทธิพลจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย กล่าวคือ  ฤดูฝนที่สิ้นสุดเร็วกว่าปกติ และอากาศที่ร้อนมากในช่วงฤดูร้อน และมีการคาดการว่าในปี 2023 ยอดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.06 ล้านล้านเยน (1.44 ล้านล้านบาท)

ที่ผ่านมา โดยปกติผู้บริโภคญี่ปุ่นมีความต้องการดำรงสุขภาพของตนให้แข็งแรงหรือให้ดีขึ้น และเมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด ความต้องการดังกล่าวยิ่งมีสูงขึ้นอย่างเด่นชัดโดยฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความเครียดเพิ่มพูนขึ้นเนื่องจากความวิตกกังวลทั้งทางร่างกายและจิตใจ ก็ยิ่งทำให้มีความต้องการที่จะดูแลสุขภาพของตนให้แข็งแรง เพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคที่เกิดจากวิถีการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน บรรเทาความเครียดหรืยกระดับคุณภาพ การนอนให้ดีขึ้น จากพฤติกรรมผู้บริโภคดังกล่าว ฝ่ายผู้ผลิตสินค้าก็ได้ตอบสนองความต้องการดังกล่าวของผู้บริโภค โดยการพัฒนาออกจำหน่ายสินค้าหลากหลายซึ่งกลายเป็น กระแสนิยมในวงกว้าง

สินค้าเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมและจำหน่ายได้ดีในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่
(1) เครื่องดื่มที่ช่วยป้องกัน Heat Stroke ในปี 2022 มีมูลค่า 2.86 แสนล้านเยน (ประมาณ 8.2 หมื่น ล้านบาท) คาดการว่าในปี 2023 ตลาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 เป็นมูลค่า 3.15 แสนล้านเยน (ราว 9 หมื่นล้านบาท) ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิดเมื่อ   ปี 2020  การบริโภคเครื่องดื่มโดยรวมมีปริมาณลดลงเนื่องจากการจำกัดการออกนอกบ้านและกิจกรรมกีฬาต่างๆถูกยกเลิก แต่ในปี 2022 เมื่อสถานะการดีขึ้น โอกาสออกไปนอกบ้านมีมากขึ้น การจัดกิจกรรมต่างๆเริ่มกลับมาสู่สภาพปกติ ทำให้ตลาดกลับฟื้นตัวจนเกือบเท่ากับเมื่อปี 2019 โดยเฉพาะสินค้าน้ำดื่มผสมน้ำผลไม้ “Kiritto Kajitsu” ของบริษัท Santory เป็นสินค้ายอดฮิตในช่วงดังกล่าว โดยมีส่วนผสมของวิตามินซี บี6 ไนอะซิน (Niacin) ในปริมาณที่ร่างกายต้องการในหนึ่งวัน และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคลมแดด เช่นเดียวกันกับเครื่องดื่ม Calpis The Rich ของบริษัท Asahi ซึ่งใช้วัตถุดิบนมของฮอกไกโดและน้ำตาลเคลือบคาราเมล (Caramelized sugar) รวมไปถึงเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอื่นๆ เช่น เครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมแบคทีเรียแลคติก (Lactococcus lactis) ของบริษัท Kirin ซึ่งช่วยดูแภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งได้รับเลือกเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 บนพลตฟอร์มขายสินค้า Amazon ในญี่ปุ่น และมีโอกาสเติบโตอีกมากในช่วงครึ่งปีหลัง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเครื่องดื่มผสมโซเดียมและน้ำส้มแมนดารินแบรนด์ POM ผลิตโดยบริษัท Ehime Inryo จากจังหวัดเอฮิเมะ ในเกาะชิโกกุ ซึ่งนอกจากจะช่วยเติมน้ำและเกลือแร่ให้ร่างกายที่สูญเสียเหงื่อแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสดชื่นและปราศจากแคลลอรี่ด้วย
(2) เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีส่วนผสมของผลไม้ ในปี 2022 มีมูลค่า 2.46 แสนล้านเยน (ประมาณ 7.03 หมื่นล้านบาท) คาดการว่าในปี 2023 ตลาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เป็นมูลค่า 2.54 แสนล้านเยน (7.27 หมื่นล้านบาท) ปัจจุบันผู้บริโภคมีความใส่ใจในสุขภาพกันมากขึ้นจึงพยายามลดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ทำให้เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของผลไม้จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยม อย่างไรก็ตามบริษัทผู้ผลิตได้มีการพัฒนาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของผลไม้ที่มีมูลค่าเพิ่มและมีความแตกต่างจากเดิม เพื่อขยายวงของกลุ่มผู้บริโภคให้กว้างยิ่งขึ้น เช่น ในกลุ่มสินค้าน้ำอัดลม มีการเพิ่มความเข้มข้นของส่วนผสมผลไม้เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกถึงคุณประโยชน์ที่จะได้รับจากผลไม้ธรรมชาติ และปรับให้เป็นสินค้าพรีเมียมซึ่งทำให้มีความต้องการจากผู้บริโภคที่พร้อมจะจ่าย ขณะที่เครื่องดื่มประเภทสมู้ทตี้ (smoothies) สำเร็จรูป ที่มีส่วนผสมของเส้นใยผักผลไม้และวิตามินประเภทต่างๆก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและมีภาพลักษณ์ของสินค้าช่วยเรื่อง diet และความงาม นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดื่มประเภทชาผลไม้ (Fruit Tea) ซึ่งมีส่วนผสมของผลไม้ เช่น ชาผสมน้ำแอปเปิล Apple Tea plus ผลิตภัณฑ์ที่บริษัท Kirin ร่วมมือพัฒนากับบริษัท FANCL ผู้ผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชั้นนำของญี่ปุ่น ซึ่งช่วยปรับปรุงสภาวะการทำงานของลำไส้ เป็นต้น
(3) เครื่องดื่มที่บรรจุในขวดพาสติก PET ที่ไม่มีฉลาก เป็นกระแสนิยมที่กำลังมาแรงในตลาดสินค้าเครื่องดื่มอีกประเภท ซึ่งเริ่มต้นจากการออกจำหน่ายทางออนไลน์เป็นแบบแพ็คใหญ่ โดยมีการระบุชื่อสินค้าและรายละเอียดอื่นๆอยู่เฉพาะบนกล่องเท่านั้น จุดมุ่งหมายของเครื่องดื่มที่ไม่มีฉลากนี้คือ เพื่อลดปริมาณพาสติกซึ่งเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดภาระสำหรับผู้บริโภคซึ่งไม่ต้องแกะฉลากออกก่อนที่จะทิ้งเป็นขยะรีไซเคิล อีกทั้งได้ซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลง คาดว่าจะมีบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มในญี่ปุ่นที่ผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีฉลากกันเพิ่มมากขึ้น

สินค้าน้ำผลไม้ของไทยในตลาดญี่ปุ่น
สำหรับสินค้าเครื่องดื่มที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยนั้น เครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้นับเป็นสินค้าหลักในปัจจุบัน ในปี 2022 ญีปุ่นนำเข้าสินค้าน้ำผลไม้ (HS Code 2009) ปริมาณรวมราว 241.3 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่าราว 669 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แหล่งนำเข้าหลัก ได้แก่ อเมริกา บราซิลและจีน มีการนำเข้าจากไทยรวม 5.4 ล้านลิตร มูลค่าราว 9.1 ล้านเหรีญสหรัฐฯ หรือราวร้อยละ 1.4 ของมูลค่าการนำเข้ารวม โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 16 ในเชิงปริมาณ และลำดับที่ 17 ในเชิงมูลค่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามูลค่าการนำเข้าจากไทยลดลงเฉลี่ย ร้อยละ 1% – 2% ต่อปี ปัจจุบัน น้ำผลไม้แบรนด์ไทยมีวางจำหน่ายในญี่ปุ่นหลายแบรนด์ เช่น FOCO, MALEE, CHABA เป็นต้น โดยมีวางจำหน่ายทั้งในร้านค้าปลีก chain supermarket ร้านอาหารไทยและร้านอาหารเอเชียอื่นๆ รวมทั้งมีจำหน่ายอย่างกว้างขวางทางแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำของญี่ปุ่น น้ำผลไม้ไทยที่วางจำหน่ายในญี่ปุ่นมีจุดเด่นที่เป็นผลไม้เมืองร้อนและมีผลไม้มากมายหลายชนิด และส่วนใหญ่ระบุว่าเป็นน้ำผลไม้ 100% จึงมีภาพลักษณ์ในด้านสุขภาพในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ มีสินค้าน้ำผลไม้ผสมเม็ดแมงลักซึ่งนับเป็นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จสูงในตลาดญี่ปุ่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพราะมีภาพเป็นสินค้าเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ตรงกับความต้องการของตลาด กล่าวคือมีส่วนผสมของเม็ดแมงลักซึ่งเส้นใยอาหารสูง ช่วยเรื่องการขับถ่ายและการลดน้ำหนัก จัดเป็นสินค้าเครื่องดื่มที่ไทยแทบจะไม่มีสินค้าคู่แข่งจากประเทศอื่นในญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการระบาดของโควิดซึ่งได้ส่งผลให้เกิดความเครียดจากความวิตกกังวลทั้งทางร่างกายและจิตใจของคนญี่ปุ่น จนนำไปสู่ความต้องการรักษาสุขภาพ การปรับปรุงภูมิคุ้มกันของร่างกาย การป้องกันโรคที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพของการนอนหลับ ความต้องการใหม่ๆเหล่านี้จึงนับเป็นความท้าทายต่อสินค้าไทยในปัจจุบันด้วย

ข้อแนะนำสำหรับผู้ผลิตผู้ส่งออกไทย
ตลาดเครื่องดื่มในญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะยังคงขยายตัวมากขึ้นเมื่อการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในญี่ปุ่นกลับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ความใส่ใจในสุขภาพที่มีมากยิ่งขึ้นหลังจากเกิดการระบาดของโรคโควิด ทำให้เครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพจะเป็นสินค้าที่มีโอกาสขยายตัวมากเป็นพิเศษ ผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยควรศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของชาวญี่ปุ่นและพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มและมีความแปลกใหม่ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการแข่งขันในตลาดสินค้าเครื่องดื่มในญี่ปุ่น

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login