หน้าแรกTrade insightไก่ > สินค้าอาหารแมวในสิงคโปร์

สินค้าอาหารแมวในสิงคโปร์

 

  1. ภาพรวมตลาดอาหารแมวในสิงคโปร์

ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า มูลค่าการขายสินค้าอาหารแมวในสิงคโปร์จนถึงปัจจุบัน ในปี 2567 อยู่ที่ 65 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มสูงขึ้น 6.2% (YoY) โดยประกอบไปด้วยสินค้าอาหารแมวเปียก 32.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โตขึ้น 5.9% (YoY)  สินค้าอาหารแมวแห้งอยู่ที่ 16.2 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โตขึ้น 5.8% (YoY)  สินค้าขนมแมวอยู่ที่ 16.3 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 7.4% (YoY)

ในปี 2567 คาดว่าปริมาณการค้าปลีกอาหารแมวในสิงคโปร์จะเติบโตช้าลง เนื่องจากจำนวนแมวเลี้ยงในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นช้าลงในปี 2566 และคาดว่าจะดำเนินต่อไปในปี 2567 นอกจากนี้ ในปี 2566 ยังมีการทิ้งสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยเฉพาะแมว เนื่องจากไม่มีกฎข้อบังคับเกี่ยวกับบทลงโทษของการทิ้งสัตว์เลี้ยง และไม่มีการบังคับใช้เอกสารใบอนุญาตสำหรับเจ้าของแมว ข้อมูลจาก Singapore Society for the Prevention of Cruelty to Animals : SPCA ระบุว่า จำนวนการทอดทิ้งแมวในปี 2566 เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่จำนวนการรับเลี้ยงแมวก็ลดลงอย่างมากเช่นกัน จากประมาณ 500 ตัว ในปี 2565 เหลือเพียงประมาณ 350 ตัว ในปี 2566 อย่างไรก็ดี แม้ว่าอัตราการเติบโตเชิงปริมาณในปี 2566 จะชะลอตัวลง แต่การเติบโตเชิงมูลค่าของอาหารแมวในสิงคโปร์ยังคงแข็งแกร่ง และคาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไปในปี 2567 โดยได้แรงหนุนจากแนวโน้มการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงให้เหมือนสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าอาหารแมวพรีเมียมมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิด 1) การให้ความสำคัญกับคุณภาพของส่วนผสมมากขึ้น 2) ขนาดบรรจุภัณฑ์ที่เล็กลงเพื่อรองรับแนวโน้มนิยมความสะดวกสบาย และ 3) กลุ่มสินค้า Private Label หรือกลุ่มสินค้าที่เจ้าของบริษัทค้าปลีกผลิตเอง นำเสนอผลิตภัณฑ์
พรีเมียมมากขึ้น

อาหารแมวเปียกในกลุ่มราคากลางและพรีเมียมจึงได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในรูปแบบซอง/ถุง ซึ่งมีปริมาตรน้อยกว่าเมื่อเทียบกับรูปแบบกระป๋อง แต่เป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็วสำหรับเจ้าของในการให้อาหารแมวจำนวนหนึ่งหรือสองตัว นอกจากนี้ รูปแบบซอง/ถุงยังสามารถจัดเก็บเป็นกลุ่มได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับรูปแบบกระป๋อง และสามารถปิดผนึกได้หลังจากเปิดใช้งาน เช่น ในต้นปี 2566 แบรนด์อาหารแมวเปียกแบบพรีเมียม Wellness ได้เปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์ Wellness Core Tiny Tasters Pouch ในรูปแบบชิ้นเล็ก ๆ (Flakes) และแบบสับ (Minced) สำหรับแมวและลูกแมว ในขณะเดียวกัน อาหารแมวแบบเปียกราคาปานกลาง Kit Cat ได้เปิดตัว Kit Cat Petite Pouch 14 รสชาติ สำหรับแมวและลูกแมว แบรนด์ Fussie Cat ซึ่งจำหน่ายอาหารแมวแบบเปียกราคาปานกลาง ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ระดับสูงภายใต้ Fussie Cat Premium Pouches 11 รสชาติ เพื่อใช้ประโยชน์จากตลาดอาหารแมวระดับพรีเมียม กลุ่มสินค้า Private Label ได้หันมาลงทุนในกลุ่มอาหารแมวระดับสูงมากขึ้น โดยวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ใหม่ไว้ที่ระดับราคากลางจนถึงระดับบนซึ่งใกล้เคียงกับระดับพรีเมียม เช่น Burp! กลุ่มสินค้า Private Label ของบริษัทค้าปลีกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงของสิงคโปร์ Pet Lovers Center ได้มีอาหารแมวกระป๋องแบบเปียกในรูปแบบเจลลี่ นอกจากนี้ เทรนด์การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงให้เหมือนสมาชิกในครอบครัวยังให้ความสำคัญกับส่วนผสมที่มีประโยชน์ ด้วยการเสริมอาหารด้วยส่วนผสมที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางกายภาพที่หลากหลายมากขึ้น เช่น บริษัทอาหารแมวเปียกพรีเมียม AIXIA ได้เปิดตัวอาหารแมวกระป๋อง Kima Gourmet ในสิงคโปร์ ซึ่งเสริมด้วยวิตามินอี ที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

ความท้าทายในการจัดจำหน่าย

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการคำนึงถึงต้นทุนและความต้องการอาหารแมวพรีเมียมส่งผลให้เกิดกลยุทธ์ช่องทางที่หลากหลายเพื่อรองรับผู้บริโภคกว้างขึ้น การขึ้นภาษีสินค้าและบริการ (GST) ในปี 2566 และ 2567 ประกอบกับต้นทุนสินค้าจำเป็นที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลต่อรายได้ของผู้บริโภคส่วนมาก รวมไปถึงราคาอาหารแมวโดยทั่วไปเพิ่มขึ้นสาเหตุหลักมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น จากราคาอาหารแมวที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ผลิตชั้นนำ แต่ในขณะที่สินค้าอาหารแมวราคาระดับกลาง เช่น  Burp! และกลุ่มอาหารเจลลี่กระป๋อง Aristo Cats สามารถเจาะกลุ่มไปยังผู้บริโภคที่คำนึงถึงราคา ผู้ให้อาหารแมวจรจัด หรือเจ้าของที่มีแมวหลายตัว นอกจากนี้ ความตระหนักในเรื่องค่าใช้จ่ายส่งผลให้ผู้บริโภคได้มองหารายการส่งเสริมการขายมากขึ้น การลดราคา หรือการเปลี่ยนไปใช้แบรนด์ที่ราคาไม่สูงมากเมื่อเทียบกับสินค้าราคาใกล้ๆ กัน ซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตในสิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะจำหน่ายแบรนด์สำหรับตลาดมวลชน (Mass Market) ที่มีราคาปานกลาง ในขณะที่แบรนด์อาหารแมวซึ่งมีราคากลาง ๆ จนถึงช่วงราคาพรีเมียมอาจจะไม่เหมาะกับช่องทางการขายดังกล่าวเพราะไม่สามารถดึงดูดผู้บริโภคที่คำนึงถึงราคา และมักใช้บริการช่องทางซื้อเหล่านี้ ในทางตรงกันข้าม ร้านขายสัตว์เลี้ยงและซูเปอร์สโตร์มักจะมีแบรนด์ระดับพรีเมียมและอัลตร้าพรีเมียมให้เลือกหลากหลาย โดยร้านค้าบางแห่งมีพื้นที่สำหรับวางตู้แช่แข็งและตู้เย็นที่สามารถวางขายอาหารแช่แข็งหรือแช่เย็นได้

การจำหน่ายอาหารแมวผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ข่องทางค้าปลีกอีคอมเมิร์ซเป็นช่องทางในการซื้ออาหารแมวเพิ่มขึ้น และมีสัดส่วนมากขึ้นจากยอดขายอาหารแมวในสิงคโปร์ โดยตลาดอีคอมเมิร์ซได้ดึงดูดทั้งผู้บริโภคที่มองหาส่วนลดหรือเงื่อนไขการซื้อขายพิเศษ และกลุ่มเจ้าของที่มองหาแบรนด์ระดับอัลตร้าพรีเมียม เช่น แบรนด์อาหารแช่แข็งอัลตร้าพรีเมียม PetCubes และแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงแบบปรับแต่งได้เฉพาะราย BOM BOM นอกจากนี้ เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้ซื้อโดยตรงจากเว็บไซต์ออนไลน์ของแบรนด์ แต่ละแบรนด์มักมีโปรแกรมสะสมคะแนน สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก อัตราค่าสมัครสมาชิก และโปรโมชั่นค่าจัดส่งฟรี เช่น แบรนด์ Hill’s Pet Nutrition Singapore ได้มีรางวัลสำหรับสมาชิกในร้านค้าอย่างเป็นทางการบนแพลตฟอร์ม Shopee เช่น บัตรกำนัลสำหรับสมาชิกเท่านั้น และการแลกของขวัญ หรือแบรนด์ที่ให้บริการสมัครสมาชิก (Subscription services) The Grateful Pet ที่ลูกค้าสามารถเลือกการจัดส่งตามกำหนดเวลาพร้อมด้วยส่วนลดราคาเมื่อเทียบกับการซื้อสินค้าทีละรายการ นอกจากนี้ แพลตฟอร์มอย่าง Shopee และ Lazada ยังทำให้เกิดการซื้อขายกับกลุ่มผู้ขายรายบุคคล ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปรียบเทียบราคาข้ามแพลตฟอร์มและผู้ขายเพื่อให้ได้ข้อเสนอที่คุ้มค่าที่สุด กล่าวคือการมีแบรนด์ให้เลือกหลากหลาย ความสะดวกในการเปรียบเทียบราคาข้ามแพลตฟอร์ม และสิทธิพิเศษต่างๆ มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อซ้ำผ่านช่องทางออนไลน์

เทรนด์อาหารพรีเมียมในแมวจะช้ากว่าสุนัข แบรนด์พรีเมียมมีแนวโน้มที่จะไปช่องทางออนไลน์มากกว่าเมื่อเทียบกับแบรนด์ทั่วไปในตลาดมวลชน การปรับมาใช้อาหารพรีเมียมจึงคาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในอาหารแมว โดยมีข้อดีของการขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง ได้แก่ โอกาสในการสร้างความภักดีต่อแบรนด์ผ่านโปรแกรมสมาชิก ส่งเสริมให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงซื้อจากแบรนด์ของตนตลอดวงจรชีวิตของสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ การเปิดร้านค้าอย่างเป็นทางการบนแพลตฟอร์มตัวกลางจะช่วยกระจายช่องทางการขายมากขึ้น เช่น แบรนด์ Vitakraft ได้เปิดร้านค้าอย่างเป็นทางการ (Official Store) บนแพลตฟอร์ม Shopee และ Lazada ในเดือนพฤษภาคม 2565 อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการขายบนแพลตฟอร์มตัวกลางคือการแข่งขัน โดยตรงกับร้านค้าอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น เมื่อผู้บริโภคได้เข้าเยี่ยมชมร้านค้าเหล่านี้ พวกเขามักจะเลือกดูแบรนด์อื่นๆ ในหมวดหมู่นั้น และเปรียบเทียบราคาระหว่างผู้ขายต่างๆ บนแพลตฟอร์ม ดังนั้นแบรนด์อาจจำเป็นต้องจัดรายการส่งเสริมการขายเป็นประจำเพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่คำนึงถึงราคา เพราะผู้บริโภคเปรียบเทียบราคาได้สะดวกขึ้นแบรนด์ระดับอัลตร้าพรีเมียมได้เลี่ยงช่องทางการค้าปลีกแบบดั้งเดิมจึงทำให้แบรนด์สามารถควบคุมภาพลักษณ์ และกลยุทธ์กำหนดราคาได้ดียิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน แบรนด์สามารถสื่อสารคุณค่าของแบรนด์ไปยังผู้บริโภคโดยตรงโดยไม่ต้องอาศัยอิทธิพลของตัวกลาง และรักษาราคาระดับพรีเมียมเพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ การควบคุมดังกล่าวจะช่วยดึงดูดผู้บริโภคที่ยินดีจ่ายค่าอาหารแมวแบบพรีเมียม

2.  โอกาสทางการตลาดของอาหารแมวในสิงคโปร์

อาหารสำหรับแมวสูงอายุเป็นตลาดอาหารแมวเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพ เนื่องจากตอบสนองความต้องการด้านสารอาหารและความกังวลเรื่องสุขภาพของสัตว์เลี้ยงสูงอายุโดยเฉพาะ ปัจจัยที่ส่งผลต่ออาหารแมวกลุ่มนี้ ได้แก่ การดูแลสัตว์เลี้ยงเหมือนสมาชิกในครอบครัว ความ

ตระหนักในโภชนาการของสัตว์เลี้ยง และจำนวนสัตว์เลี้ยงสูงอายุที่เพิ่มขึ้น เจ้าของแมวสูงวัยจำนวนมากขึ้นเริ่มมองหาอาหารสัตว์ที่มีโภชนาการเฉพาะทางที่ปรับให้เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยง เช่นเดียวกับมนุษย์ที่มีช่วงชีวิตยืนยาวมากขึ้น สัตว์เลี้ยงก็มีช่วงชีวิตที่ยืนยาวขึ้นเช่นกัน ผู้สูงวัยจำนวนมากมักจะมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน รวมถึงแมว และมักจะเต็มใจลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของสัตว์เลี้ยงเมื่ออายุมากขึ้น ในขณะที่คนรุ่นใหม่เริ่มดูแลป้องกันสัตว์เลี้ยงมากขึ้น รวมถึงการให้อาหารเฉพาะทางตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างอาหารแมวสูงอายุ

แมวสูงวัยมักประสบกับการเปลี่ยนแปลงของระบบเผาผลาญ การย่อยอาหาร สุขภาพฟัน การเคลื่อนไหว และการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาหารแมวสูงอายุมักจะออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยการให้สารอาหารที่สมดุล และปรับเปลี่ยนระดับโปรตีน ไขมัน เส้นใย วิตามิน และแร่ธาตุ เช่น แบรนด์ AIXIA ได้เปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์ Nursing Care Kenko Pouch สำหรับแมวที่เบื่ออาหารได้ง่าย มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว หรือกินอาหารได้ไม่ดี อาหารแมวสูงอายุได้รับการออกแบบมาให้ย่อยง่ายกว่า โดยมีเนื้อสัมผัสที่นุ่มนวลกว่าเพื่อรองรับปัญหาทางทันตกรรมหรือกระเพาะอาหารที่บอบบาง อาหารแมวสูงอายุยังได้ขยายโอกาสไปยังหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ขนม อาหารเสริม และอาหารเปียกสำหรับแมวสูงอายุโดยเฉพาะ เนื่องจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงในสิงคโปร์ต่างศึกษามากขึ้นเกี่ยวกับความต้องการเหล่านี้ จะส่งผลให้แบรนด์ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะได้ประโยชน์จากความต้องการซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น

สินค้ากลุ่มขนมแมวและ Mixers (ท้อปปิ้งเพิ่มผสมลงไปกับอาหารแมว) มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนเป็นขนมแมวประเภทส่วนผสมเดียว และการเพิ่มส่วนผสมที่มีประโยชน์มากขึ้นที่คล้ายกับอาหารมนุษย์ ความนิยมในขนมที่มีส่วนผสมเดียวมีปัจจัยมาจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีความกังวลเรื่องสุขภาพจากการแปรรูปของขนมแมวแบบดั้งเดิม ทำให้เจ้าของแมวมองหาขนมที่มีส่วนผสมธรรมชาติมากขึ้นและผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยที่สุด เพราะจะดีต่อสุขภาพมากกว่า ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวมีให้เห็นในขนมสุนัขเช่นกัน เช่น เมื่อต้นปี 2566 แบรนด์ CattyMan ได้เปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์ไก่ตากแห้ง ปลาคอด และปลาแซลมอน ต่อมาในกลางปี 2023 ได้เปิดตัวขนมแมวหลายประเภทแบบไม่ใช้สารปรุงแต่ง เช่น Chicken Rolled Soft Bread Bites, Extra Fine Tuna Treats และ Soft Mini Tuna Chips แบรนด์ PetCubes ซึ่งเป็นผู้นำด้านอาหารสุนัขแบบเปียกระดับพรีเมียม ได้เปิดตัวขนมที่มีส่วนผสมเดียวจากจิงโจ้หลายรายการในเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งเหมาะสำหรับทั้งแมวและสุนัข

พรีไบโอติกเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจด้านสุขภาพของมนุษย์ ถึงผลกระทบของไมโครไบโอมในลำไส้ที่มีต่อสุขภาพโดยรวมและความเป็นอยู่ที่ดี เทรนด์ดังกล่าวได้ขยายไปสู่ในกลุ่มสินค้าขนมแมว เช่น แบรนด์ชั้นนำขนมแมวและ Mixers ได้เปิดตัว Ciao Sugoi Crunchy Plus Prebiotics ในสิงคโปร์ในปี 2566 โดยผลิตภัณฑ์มีแบคทีเรีย กรดแลคติกที่ช่วยรักษาสุขภาพของลำไส้ ภูมิคุ้มกัน และการย่อยอาหาร แม้ว่าผลิตภัณฑ์ผลิตออกมาในรูปแบบมื้ออาหาร แต่ด้วยบรรจุภัณฑ์ซองขนาด 22 กรัม ทำให้ผู้บริโภคนิยมที่จะใช้เป็นท้อปปิ้งอาหารหรือขนมมากกว่า ขนมแมวยังมีการทำการตลาดให้เป็นสินค้าทางเลือกที่ดีกว่า (Better-for-you) โดยกำหนดเป้าหมายให้ตรงกับความต้องการที่หลากหลายในรูปแบบขนมว่างหรือขนมไว้ใช้สร้างความสัมพันธ์กับแมว เช่น แบรนด์ Kit Cat เปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนม Kit Cat Purrfect Pocket ในเดือนกันยายน 2566 โดยตั้งเป้าไปที่กระบวนการทำงานต่างๆ ให้เป็นขนมสำหรับการดูแลทันตกรรม ผิวหนังและขน และการควบคุมการเกิดปัญหาก้อนขน

3. ส่วนแบ่งทางการตลาดของแบรนด์สินค้าแมวในสิงคโปร์

ในปี 2566 แบรนด์ Fancy Feast มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดอยู่ที่ 13.4% และแบรนด์ Kit Cat อยู่ที่11.6% ตามมาด้วยแบรนด์ Schesir และ Whiskas อยู่ที่ 8.1% และ 7.5% ตามลำดับ

4. การประกาศยกเลิกข้อห้ามการเลี้ยงแมวใน HDB และ ข้อกำหนดในการเลี้ยงแมว The Cat Management Framework

คณะกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัย (Housing Development Board : HDB) ได้ยกเลิกข้อห้ามการเลี้ยงแมวในห้องแฟลต HDB และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 หน่วยงาน Animal & Veterinary Service : AVS ได้ประกาศ The Cat Management Framework ซึ่งเป็นข้อกำหนดในการเลี้ยงแมว โดยจะอนุญาตให้เลี้ยงแมวได้สูงสุด 2 ตัว ในห้องแฟลต HDB และไม่เกิน 3 ตัว สำหรับบ้านพักส่วนตัว โดยเจ้าของต้องได้รับใบอนุญาตและไมโครชิปแมวทั้งหมด สำหรับผู้ที่แมวมากกว่าที่กำหนดในห้องแฟลต HDB และบ้านพักส่วนตัวจะได้รับอนุญาตให้เลี้ยง  แมวที่มีอยู่ทั้งหมดได้ หากได้รับการอนุญาตภายในช่วงการเปลี่ยนแปลง (ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2567-31 สิงหาคม 2569) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2567 เป็นต้นไป การออกใบอนุญาตดังกล่าวจะสามารถใช้งานผ่านระบบออนไลน์ของ AVS และไม่มีค่าใช้จ่ายภายในช่วงการเปลี่ยนแปลง แต่หลังจากนั้น จะมีค่าใช้จ่าย 15 เหรียญสิงคโปร์สำหรับใบอนุญาตหนึ่งปีสำหรับแมวที่ทำหมัน และ 90 เหรียญสิงคโปร์สำหรับแมวที่ยังไม่ทำหมัน เทียบเท่าค่าใช้จ่ายในการออกใบอนุญาตเลี้ยงสุนัข นอกจากนี้ AVS ยังมีโครงการสนับสนุนการทำหมันแมวและการทำไมโครชิปสำหรับแมวให้กับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2569 เป็นต้นไป การเก็บแมวที่ไม่มีใบอนุญาตจะถือเป็นความผิด โดยเจ้าของแมวจะถูกปรับสูงสุด 5,000 เหรียญสิงคโปร์ สำหรับการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการออกใบอนุญาต (ก่อนหน้านี้ ผู้เลี้ยงแมวอย่างผิดกฎหมายในแฟลต HDB อาจถูกปรับสูงสุด 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์) ซึ่งคาดว่าเมื่อกฎดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จำนวนแมวต่อครัวเรือนอาจเพิ่มขึ้นทีละน้อยในปี 2567

ภายใต้กรอบดังกล่าว ยังมีโครงการจัดการแมวจรจัด โดยขยายโครงการ Trap-Neuter-Rehome / Release-Manage จากสุนัขจรจัดไปเป็นแมวจรจัด สิงคโปร์มีแผนการจัดการประชากรแมวในชุมชนอยู่แล้ว เช่น โครงการฆ่าเชื้อแมวจรจัด โดย AVS จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำหมันส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้ว แมวในชุมชนจะได้รับอนุญาตให้เดินเตร่ได้อย่างอิสระ และการดูแลรักษามักได้รับการดูแลจากผู้ให้อาหาร หากกฎระเบียบนี้มีการบังคับใช้ จำนวนแมวจรจัดในสิงคโปร์อาจลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ กฎระเบียบเกี่ยวกับสวัสดิภาพของแมวเลี้ยงก็เริ่มเข้มงวดมากขึ้นในเรื่องการขายและการเพาะพันธุ์แมวเชิงพาณิชย์ ปัจจุบันมีการยกระดับมาตรฐานให้ทัดเทียมกับสุนัขมาตั้งแต่ปี 2566 เช่น บริษัท/ร้านขายสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ จะถูกจำกัดให้รับแมวเลี้ยงจากฟาร์มที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น และนำเข้าจากแหล่งที่ได้รับการอนุมัติล่วงหน้าจาก AVS และต้องได้รับการตรวจสอบทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าร้าน/บริษัทได้ปฏิบัติตามกฎชุดใหม่ จำนวนเจ้าของแมวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปีที่มีการระบาดโควิด-19 ส่งผลให้เจ้าของบางรายที่ต้องการหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่สูงในการซื้อจากร้านขายสัตว์เลี้ยงที่ได้รับอนุญาตหรือหลีกเลี่ยงขั้นตอนที่จำเป็น เช่น การติดตั้งฉากกั้นหน้าต่าง ได้ทำการซื้อผ่านช่องทางอื่น เช่น การนำเข้าอย่างผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่ากฎระเบียบใหม่อาจทำให้ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงแมวสูงขึ้น แต่เมื่อพิจารณาจากขั้นตอนเพิ่มเติมที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติตามข้อกำหนดแล้ว จะส่งผลให้สวัสดิภาพของแมวก็จะดีขึ้น

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความคิดเห็นสคต.

ถึงแม้ว่าตลาดสัตว์เลี้ยงในสิงคโปร์จะมีขนาดเล็ก แต่จากเทรนด์การดูแลสัตว์เลี้ยงเหมือนสมาชิกในครอบครัวและความยินดีที่จะจ่ายสินค้าระดับพรีเมี่ยมส่งผลให้มูลค่าทางการตลาดของสัตว์เลี้ยงในสิงคโปร์น่าสนใจเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจตลาดสิงคโปร์ควรศึกษาวิธีการข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานด้านสัตว์เลี้ยงในสิงคโปร์ (Animal & Veterinary Service หรือ AVS)[1]  เพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐานและติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป

งานแสดงสินค้าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้ประกอบการสามารถพิจารณาในการขยายสินค้า โดยงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ เช่น Pet Expo ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.petexposg.com หรือผู้ประกอบการสามารถใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซในการทดลองตลาดสิงคโปร์ได้เช่นกัน โดยแพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยม ได้แก่ Lazada, Shopee, Qoo10 หรือแพลตฟอร์มจากร้านค้าขายปลีกอย่าง KOHEPETs.com และ petloverscentre.com เป็นต้น

[1] https://www.nparks.gov.sg/avs/pets/bringing-animals-into-singapore-and-exporting/animal-feed/general-information-and-classification

ที่มาข้อมูล : Euromonitor   / StraitTimes

 

 

อ่านข่าวฉบับเต็ม : สินค้าอาหารแมวในสิงคโปร์

Login