หน้าแรกTrade insight > สินค้าอาหารสดในจีนเติบโตสอดรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่

สินค้าอาหารสดในจีนเติบโตสอดรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่

สินค้าอาหารสดในจีนเติบโตสอดรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่

                   นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าการค้าสินค้าอาหารสดในจีนจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2564-2568 โดยจากรายงานของ The Economist Intelligence Unit (EIU) ระบุว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนเปลี่ยนไปจากเดิม มีความต้องการอาหารสดเพิ่มมากขึ้น เช่น นม และสินค้าทางเลือกเพื่อสุขภาพ ซึ่งนอกจากการนำเข้าจากต่างประเทศแล้ว จีนจะผลิตเองในประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ จีนจะสร้างห่วงโซ่อุปทานในประเทศสำหรับสินค้าอาหาร (localize food supply chain) ในบางส่วน รวมทั้งจะสร้างอุตสาหกรรมการเกษตร โดยส่งเสริมพื้นที่เพาะปลูกคุณภาพสูง มีระบบชลประทาน เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีผลผลิตที่มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอสำหรับป้อนสู่ภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ในส่วนของช่องทางการค้า พบว่าการค้าปลีกออนไลน์เป็นช่องทางสำคัญสำหรับสินค้าอาหารสดของจีน ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่คือคนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ และคนในสังคมเมือง

                   ทั้งนี้ EIU คาดการณ์ว่าอัตราการบริโภคต่อคนในสินค้าผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ จะเติบโตเกือบสองเท่าในช่วงปี 2564-2568 เทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้า (ปี 2559-2563) โดยการบริโภคเนื้อสัตว์จะเพิ่มขึ้น 2.1% จากเดิมที่เพิ่มขึ้น 1.2% ในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การบริโภคผักและผลไม้จะเพิ่มขึ้น 1.6% และ 2.4% ตามลำดับ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการบริโภคอาหารสด เกิดจากการที่คนจีนมีรายได้ที่สูงขึ้น นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กินเวลานาน ส่งผลให้ผู้บริโภคนิยมทำอาหารรับประทานเองภายในบ้าน และตระหนักถึงความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น จึงทำให้อาหารสดเป็นที่ต้องการมากขึ้นด้วย สำหรับประเทศที่จะได้ประโยชน์จากความต้องการสินค้าอาหารสดของจีนที่เพิ่มสูงขึ้น อาทิ สหรัฐอเมริกา บราซิล และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ทำข้อตกลงการค้าระยะแรกกับจีนเมื่อต้นปี 2563 ส่งผลให้จีนซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาก

                   ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยก็สามารถได้ประโยชน์จากความต้องการสินค้าอาหารสดของจีนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไทยมีการส่งออกผลไม้สดไปจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ไทยส่งออกผลไม้สดไปจีนเป็นมูลค่า 2,339 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในปี 2564 เพียงแค่ช่วง 6 เดือนแรก ไทยส่งออกเป็นมูลค่าสูงถึง 2,426 ล้านเหรียญสหรัฐ (74,539 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 71% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกใน 6 เดือนแรกสูงกว่าปีก่อนหน้าทั้งปี สำหรับสินค้าผักสดหรือแช่เย็น จากที่ไทยเคยส่งออกไปจีนน้อยมาก โดยจีนไม่ติดอันดับตลาดส่งออกสำคัญของไทยเลย แต่พบว่าช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 จีนกลายเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของสินค้ากลุ่มนี้ มีมูลค่าการส่งออก 36 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,086 ล้านบาท) และตลาดจีนมีสัดส่วน 30% ของมูลค่าการส่งออกผักสดหรือแช่เย็นทั้งหมดของไทย

                   ในส่วนของสินค้าจำพวกเนื้อสัตว์ จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าไก่สดแช่เย็นและแช่แข็งที่สำคัญของไทย โดยการส่งออกไปจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา และในปี 2563 จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการส่งออก 356 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าการส่งออก 168 ล้านเหรียญสหรัฐ (5,118 ล้านบาท) ตลาดจีนมีสัดส่วน 35% ของมูลค่าการส่งออกไก่สดแช่เย็นและแช่แข็งทั้งหมดของไทย ปลาสดแช่เย็นและแช่แข็ง ก็เป็นสินค้าสำคัญจากไทยไปจีน ปี 2563 ไทยส่งออกไปจีนเป็นมูลค่า 58 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ส่งออกเป็นมูลค่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐ (445 ล้านบาท) มีสัดส่วน 16% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าปลาสดแช่เย็นและแช่แข็งทั้งหมดของไทย นอกจากนี้ จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าจำพวกนม เนย ชีส และผักผลไม้ออร์แกนิค ซึ่งไทยมีโอกาสพัฒนาและส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปจีนมากขึ้น

                   ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวสรุปว่าจีนพยายามสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานในประเทศสำหรับสินค้าอาหารสด ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าอาหารสดผ่านช่องทางออนไลน์มีราคาถูกลงด้วย และจะดึงดูดผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยหรือปานกลางให้มาใช้ซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าอาหาร ให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในด้านคุณภาพ และหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา ความปลอดภัยเป็นหัวใจสำคัญสำหรับสินค้าอาหาร โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น และแม้ว่าจีนจะพยายามผลิตอาหารเองในประเทศมากขึ้น แต่พื้นที่บางส่วนยังไม่สามารถใช้เพาะปลูกหรือทำการเกษตรได้ และด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน ถือว่าพื้นที่ทำการเกษตรของจีนยังมีจำกัด ทำให้ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับการส่งออกสินค้าอาหารสดจากไทยไปจีน

ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)

Login