หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > สินค้าอาหารลดเกลือ เกลือต่ำ กำลังเป็นที่ต้องการ

สินค้าอาหารลดเกลือ เกลือต่ำ กำลังเป็นที่ต้องการ

 

เกลือเป็นสารอาหารที่ขาดไม่ได้ในการดำรงชีวิต แต่ในทางกลับกันหากบริโภคมากเกินไปก็อาจเกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ เช่น ความดันสูง ฯลฯ แต่เพียงแค่ลดปริมาณบริโภคเกลืออย่างเดียว ก็อาจทำให้รสชาติอาหารจืดชืด บริษัทผู้ผลิตอาหารและผู้ผลิตวัตถุดิบจึงพยายามวิจัยและพัฒนา “วัตถุดิบ เครื่องปรุงที่อร่อยแม้ลดปริมาณเกลือ” หรือ “สินค้าอาหารแปรรูปที่แม้จะลดเกลือแต่ก็ยังคงความอร่อย” เพื่อลบภาพ “สินค้าอาหารลดเกลือไม่อร่อย” ให้ผู้บริโภคเปลี่ยนความคิดว่า “อาหารลดเกลืออร่อย” ผู้ผลิตต่างๆจึงพยายามที่จะพัฒนาสินค้ากันอย่างจริงจัง นอกจากนี้ National Cerebral and Cardiovascular Center ยังมีการรับรองอาหารที่ใช้ปริมาณเกลือน้อยแต่อร่อย ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองเป็นที่สนใจของผู้บริโภคอีกด้วย
จากการสำรวจสุขภาพและโภชนาการของประชาชนโดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ พบว่า ในปี 2562 (2019) คนญี่ปุ่นบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละ 10.1 กรัม (ผู้ชายเฉลี่ย 10.9 กรัม ผู้หญิงเฉลี่ย 9.3 กรัม) ค่าเฉลี่ยแทบไม่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2558 (2015) (กราฟ 1) และตัวเลขค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ (ตามตาราง)


กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการได้ตั้งเป้าปริมาณการบริโภคเกลือของ ประชากรอายุ 20 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 7.0 กรัม ในปี 2567 ซึ่งเป็นเป้าหมายภายใต้โครงการ “ญี่ปุ่นสุขภาพดี 21” เป็นแผน 12 ปี โดยระยะ 3 จะเริ่มขึ้นในปี 2567 กระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าตัวเลขมาตรฐานปริมาณการบริโภคเกลือของคนญี่ปุ่น ในฉบับปี 2553 ไว้ว่า ผู้ชาย 9 กรัม ผู้หญิง 7.5 กรัม ฉบับปี 2558 ผู้ชาย 8 กรัม ผู้หญิง 7 กรัม ฉบับปี 2563 ผู้ชาย 7.5 กรัม และผู้หญิง 6.5 กรัม ทั้งนี้ องค์การอนามั้ยโลก (WHO) ได้ตั้งเป้าหมายค่าการบริโภคโซเดียมสำหรับคนที่อายุ 20 ปีขึ้นไปให้บริโภคไม่เกิน 5 กรัมต่อวันซึ่งต่ำกว่าญี่ปุ่น
เห็นได้ว่า มาตรฐานปริมาณการบริโภคเกลือต่อวันเมื่อเทียบกับความเป็นจริงแล้วนั้น ปริมาณที่บริโภคจริงค่อนข้างมากกว่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย Kagawa Nutrition University ให้ความเห็นว่า การลดปริมาณการบริโภคเกลือได้อย่างต่อเนื่องนั้น สิ่งสำคัญคือ “ความอร่อย” หากต้องการลดปริมาณการบริโภคเกลือของผู้บริโภคให้ได้อย่างต่อเนื่อง การวิจัยพัฒนา “วัตถุดิบที่อร่อยแม้ลดเกลือ” ของผู้ผลิตจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ ปัจจุบัน มีการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบและกรรมวิธีการผลิตอย่างหลากหลายเพื่อเติมเต็มรสชาติให้คงความอร่อย
เชื่อกันว่า คนญี่ปุ่นช่วงอายุ 40 – 59 ปี 1 ใน 3 คน และคนที่อายุมากกว่า 60 ปี 1 ใน 2 คนเป็นโรคความดันสูง โดยมีสาเหตุจากการบริโภคเกลือมากเกินไป จากความอ้วน จากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย ฯลฯ นอกจากนี้ ในอดีตคนญี่ปุ่นเป็นเส้นเลือดในสมองตีบหรืออุดตันจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่า มีสาเหตุจากการบริโภคเกลือในปริมาณที่สูงเกินไป การป้องกันโรคความดันสูงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อปกป้องชีวิตของประชาชน แต่ด้วยวิถีการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปตามโลกตะวันตกและสังคมที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคความดันสูงมีแนวโน้มสูงขึ้น

จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ พบว่า ปี 2555 (2012) อายุเฉลี่ยของประชากรชายเท่ากับ 81.47 ปี และประชากรหญิงเท่ากับ 87.57 ปี เห็นได้ว่า อายุเฉลี่ยของประชากรสูงขึ้น แต่หากพิจารณาความแตกต่างของตัวเลขอายุสุขภาพ (ปี 2019) นั้น ผู้ชายต่างกัน 8.73 ปี ผู้หญิงต่างกัน 12.07 ปี ซึ่งตัวเลขความแตกต่างไม่ได้ลดลงเท่าไหร่นักในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (กราฟ 2)
ปัจจุบัน ว่ากันว่า “ชีวิต 100 ปี” แต่หากมองในด้านคุณภาพชีวิต (Quality of Life) และ Well being แล้วนั้น เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องลดค่าความแตกต่างระหว่างอายุเฉลี่ยและอายุสุขภาพให้แตกต่างน้อยลง การลดความแตกต่างระหว่างอายุเฉลี่ยและอายุสุขภาพนั้น จะช่วยลดภาระค่าหมอ ค่ารักษาพยาบาล และภาระของประกันสังคม
“อาหารลดเกลือที่อร่อย” นอกจากด้านการป้องกันโรคความดันสูง ด้าน Well being และด้าน SDGs ที่ช่วยลดภาระสิ่งแวดล้อมแล้วนั้น การบริโภคเกลือปริมาณมากเกินไปยังเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญในด้านความยั่งยืนของระบบประกันสังคม การแก้ปัญหาดังกล่าว จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สังคมโดยรวมไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล ภาคเอกชนอย่างผู้ผลิตอาหาร ร้านอาหาร ฯลฯ ต้องร่วมมือกันและพยายามแก้ไขต่อไป

 

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
คนญี่ปุ่นขึ้นชื่อในเรื่องความใส่ใจในสุขภาพและอายุยืน รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามผลักดันและส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี ป้องกันการเกิดโรคที่มีความเสี่ยงต่างๆ โดยร่วมมือกันทั้งในภาครัฐและเอกชน ปัญหาการบริโภคเกลือในปริมาณที่มากเกินไปของคนญี่ปุ่นนับเป็นปัญหาระดับชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกสินค้าอาหารสำคัญของญี่ปุ่น หากผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตอาหารแปรรูปหรือวัตถุดิบที่ตรงกับความต้องการและแนวทางการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น ก็อาจได้รับความสนใจจากผู้ซื้อมากยิ่งขึ้นและเป็นโอกาสในการขยายตลาดและมูลค่าการส่งออกสู่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป

————————————–
ฉบับที่ 43 ประจำวันที่ 22 – 28 กรกฎาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
————————————–

แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ The Japan Food Journal ฉบับวันที่ 21 กรกฎาคม 2566
กราฟและตารางประกอบข่าวจากเว็บไซต์ https://news.nissyoku.co.jp/
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์ https://news.nissyoku.co.jp/
https://www.marusanai.co.jp/
https://www.asahi-gf.co.jp/company/newsrelease/2023/0317/

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login