หน้าแรกTrade insightอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล > สินค้ากลุ่มวัสดุอุปกรณ์ระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯ กำลังขาดแคลน

สินค้ากลุ่มวัสดุอุปกรณ์ระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯ กำลังขาดแคลน

เนื้อหาสาระข่าว: บริษัทผู้ผลิตและพัฒนาระบบพลังงานสะอาดกำลังประสบปัญหาขาดแคลนวัสดุ อุปกรณ์ รวมถึงวัตถุดิบที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของระบบกักเก็บพลังงาน (Power Grid) ที่ได้จากการผลิตกระแสไฟฟ้า และระบบอุปกรณ์แปลงไฟฟ้า (Transformer) ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และทำให้ระยะเวลาในการดำเนินการของแต่ละโครงการนั้นล่าช้าออกไป

โครงการทั้งหลายที่เกี่ยวกับการผลิตและกระจายการเข้าถึงแหล่งพลังงานสะอาด อาทิ พลังงานไฟฟ้าซึ่งปัจจุบันในสหรัฐฯมีแหล่งที่มาของพลังงานดังกล่าว ได้แก่ 1. การผลิตกระแสไฟฟ้าจากระบบโซลาเซลล์ จากแหล่งการผลิตที่เรียกว่าโรงงานผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาฟาร์ม (Solar Farm) และ 2. การผลิตการแสไฟฟ้าจากกังหันลม โดยทั้งหมดถือเป็นตัวชูโรงของโครงการการเปลี่ยนผ่านของภาคส่วนพลังงาน (Energy Transition) ไปสู่สังคมที่พึ่งพาพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืน หนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลไบเดน

องค์ประกอบของปัญหาการขาดแคลนวัสดุ อุปกรณ์ และวัตถุดิบที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในช่วงนี้ คือความล่าช้าในการจัดส่งระบบอุปกรณ์แปลงไฟฟ้า ซึ่งตัวขนาดของอุปกรณ์จะสัมพัทธ์กับระยะเวลาในการจัดส่ง โดยปัญหาในปัจจุบันพบว่าการจัดส่งมีความล่าช้าออกไปกว่าปกติถึง 3 เท่า (จากปกติ 50 สัปดาห์ แต่ในปัจจุบันล่าช้าถึง 150 สัปดาห์) และการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ในระบบการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากนโยบายและมาตรการกีดกันทางการค้า และการนำเข้าชิ้นส่วน และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ของรัฐบาลเอง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาคือการที่บริษัทผู้ผลิตและพัฒนาระบบพลังงานสะอาดรายใหญ่ต่างพากันกว้านซื้อและกักตุนวัสดุอปุกรณ์ในระบบอุปกรณ์แปลงไฟฟ้า และส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น บริษัท Silicon Ranch ที่ได้ลงทุนกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปกับการกว้านซื้อวัสดุอปุกรณ์ในระบบอุปกรณ์แปลงไฟฟ้า และตัวอุปกรณ์สวิตช์เกียร์ (switchgears) ในขณะที่บริษัทที่ไม่ได้ทำการสั่งซื้อล่วงหน้าก็จะต้องรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้นมหาศาล และระยะเวลาการจัดส่งสินค้าที่ไม่ต่ำกว่าสามปีเป็นอย่างน้อย

สำหรับภาคส่วนการผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับการกักเก็บพลังงานไฟฟ้านั้นก็กำลังประสบปัญหาความล่าช้าในกระบวนการเช่นกัน ซึ่งปัญหาที่ท้าทายที่สุดในบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาระบบพลังงานสะอาดเผชิญอยู่ตอนนี้คือการจัดซื้อและจัดหาระบบหม้อแปลงไฟฟ้า, วัสดุอุปกรณ์สำหรับสถานีไฟฟ้าย่อย (Substation), อุปกรณ์ทางวิศวกรรมไฟฟ้าพื้นฐานทั่วไป, วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตตัวหม้อแปลงไฟฟ้า และเหล็กไฟฟ้า (Electric Steel) โดยทั้งหมดเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการ (Demand) ต่อกลุ่มสินค้าวัสดุอุปกรณ์ระบบพลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยยะสำคัญภายในสหรัฐฯ

ผลกระทบในภาพรวมนั้นทำให้ในปัจจุบันศักยภาพการขยายกำลังในการสร้างฐาน และการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในสหรัฐฯ นั้นล่าช้ากว่าที่ควรจำเป็นจากแผนเดิม โดยข้อมูลจากหน่วยงานด้านข้อมูลพลังงานของสหรัฐฯ (U.S. Energy Information Administration) และ สมาคมพลังงานสะอาดแห่งสหรัฐฯ (American Clean Powers Association) ชี้ให้เห็นว่าในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมาภาพรวมกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 1,510 เมกะวัตต์ จากที่วางแผนเอาไว้ที่ 9,400 เมกะวัตต์ภายในหนึ่งปี อย่างไรก็ตามเป้าหมายระยะยาวคือการเพิ่มศักยภาพการผลิตดังกล่าวให้ไปถึง 30,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2025

บทวิเคราะห์: การเพิ่มสูงขึ้นของความต้องการในการสร้างและขยายกำลังในการสร้างฐานและการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา มีที่มาจากบัญญัติใน พรบ.เพื่อลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญกล่าวถึงการเพิ่มอัตราเครดิตภาษี (Tax Credit) หรือเครดิตที่สามารถใช้แทนการชำระภาษีสูงถึง 30% การลงทุนในกิจการพลังงานสะอาดรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ โดยข้อมูลจากกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ (U.S. Department of Treasury) ระบุว่า ภายหลังการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวนับจนถึงเดือนตุลาคมปีนี้ สามารถทำให้เกิดการลงทุนในกิจการพลังงานสะอาดไปแล้วรวมมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในส่วนมาตรการกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2021 ในการแบนการนำเข้าสินค้าวัสดุอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์ทั้งหมดจากบริษัทสัญชาติจีน สืบเนื่องจากข้อครหาเกี่ยวกับมาตรฐานทางสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลจีนต่อชาวอุยกรูในมณฑลซินเจียง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัสดุ อุปกรณ์ และชิ้นส่วนเกี่ยวกับโซลาเซลล์ที่สำคัญของประเทศจีน ตามด้วยมาตรการกีดกันทางการค้ากับรัสเซียภายหลังเหตุการณ์สงครามในยูเครน และล่าสุดกับการกำหนดมาตรการการนำเข้าสินค้ากลุ่มเดียวกันจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคัดกรองแหล่งที่มาของวัตถุดิบไม่ให้มีที่มาจากประเทศจีนอย่างเด็ดขาด

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: การขาดแคลนวัสดุ อุปกรณ์ ชิ้นส่วน และวัตถุดิบจำเป็นต้องใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดภายในสหรัฐฯ โดยเหตุผลที่ได้กล่าวไปทั้งหมดนั้น ส่วนหนึ่งถือว่าเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของระบบการผลิตไฟฟ้าจากโซลาเซลล์ทั้งหมด เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกหลักอย่างรัสเซีย และจีนสามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้อย่างจำกัดและมีความเข้มงวดมากขึ้น หรืออาจไม่ได้เลย

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาความซับซ้อนของรายละเอียดของระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัสดุในการผลิตโซลาเซลล์จากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ซึ่งมีข้อกำหนดตั้งแต่ก่อนที่จะนำเข้ามายังสหรัฐฯ ว่าผู้ผลิตที่ต้นทางมีการใช้วัตถุดิบส่วนหนึ่งส่วนใดซึ่งนำเข้าจากประเทศจีนหรือไม่ ซึ่งรายละเอียดของวัสดุ/วัตถุดิบที่อยู่ในรายการที่ได้รับการตรวจสอบก่อนนำเข้ามายังสหรัฐฯ ประกอบด้วย 1) ผลึกซิลิคอนหรือคริสตัลไลน์ ซิลิคอน (crystalline silicon photovoltaic cells) ซึ่งมีส่วนประกอบของโซลาเวเฟอร์ (wafers) จากประเทศจีน 2) โมดูล (modules) ลามิเนต (laminates) หรือแผง (panels) ซึ่งมีส่วนประกอบของผลึกซิลิคอนซึ่งมีส่วนประกอบของโซลาเวเฟอร์จากประเทศจีน 3) โมดูล ลามิเนตหรือแผง ซึ่งมีส่วนประกอบมากกว่า 2 ส่วนขึ้นไปของวัสดุต่อไปนี้ ได้แก่ เงิน (silver paste) กรอบอะลูมิเนียม (aluminum frame) กระจก (glass) แผ่นโซลาเซลล์ (back sheet) แผ่นเอทิลีนไวนิลอะซิเตท (ethylene vinyl acetate sheets) กล่องเชื่อมต่อพลังงานแสงอาทิตย์ (junction boxes) จากประเทศจีน ทั้งนี้ โซลาเวเฟอร์ซึ่งผลิตจากประเทศอื่น แต่มีส่วนประกอบของโพลีซิลิคอน (polysilicon) จากประเทศจีน จะไม่ถือว่าเป็นโซลาเวเฟอร์จากประเทศจีน

ที่มา: สำนักข่าว Reuters
เรื่อง: “U.S. renewable, grid battery projects battle transformer shortage”
โดย: Nicole Jao
สคต. ไมอามี /วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login