เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ (Ministry of Health: MOH) และคณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion Board: HPB) แถลงข่าวการเตรียมประกาศมาตรการในการบังคับใช้ฉลากโภชนาการ Nutri-Grade สำหรับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ เกลือบรรจุหีบห่อ ซอสและเครื่องปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และน้ำมันปรุงอาหาร ซึ่งคล้ายกับฉลากที่ใช้สำหรับเครื่องดื่มที่มีรสหวาน โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงสุขภาพของชาวสิงคโปร์ และลดความเสี่ยงจากโรคที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการ เช่น โรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง ซึ่งเกิดจากการบริโภคโซเดียมและไขมันอิ่มตัวในปริมาณมาก
ชาวสิงคโปร์บริโภคโซเดียมเฉลี่ยประมาณ 3,620 มก. ต่อวัน ซึ่งเกือบเป็นสองเท่าของปริมาณโซเดียมที่แนะนำต่อวัน (2,000 มก.) นอกจากนี้ ชาวสิงคโปร์ยังบริโภคไขมันอิ่มตัว 36% ของไขมันทั้งหมด ซึ่งเกินคำแนะนำที่ไม่ควรเกิน 30% จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชากรแห่งชาติปี 2566 พบว่า 1 ใน 6 (15%) ของชาวสิงคโปร์อายุระหว่าง 18 ถึง 74 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูงและต้องรับประทานยาตามใบสั่งแพทย์ และ 15.3% ของชาวสิงคโปร์มีไขมันในเลือดสูงและต้องรับประทานยาเช่นกัน
มาตรการฉลาก Nutri-Grade เพื่อลดน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวในเครื่องดื่ม เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 โดยเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพที่สุดจะได้รับการจัดระดับ “A” ในขณะที่เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลและ/หรือไขมันอิ่มตัวสูงสุดจะได้รับการจัดระดับ “D” แม้ว่าเครื่องดื่มจะไม่มีน้ำตาล แต่ยังสามารถได้รับการจัดระดับ “C” หรือ “D” ได้ หากมีปริมาณไขมันอิ่มตัวสูงเครื่องดื่มที่ได้รับการจัดระดับ C หรือ D จะต้องมีฉลากที่ด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ และห้ามโฆษณาสำหรับเครื่องดื่มเกรด D สำหรับการขยายมาตรการฉลาก Nutri-Grade ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมและไขมันอิ่มตัวนั้นจะยังคงคุณลักษณะสำคัญของฉลาก Nutri-Grade รวมถึงการห้ามโฆษณา
ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา MOH และ HPB ได้ร่วมมือกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ค้าปลีก และ
ผู้จัดจำหน่ายมากกว่า 80 ราย เกี่ยวกับมาตรการความเป็นไปได้ในการลดการบริโภคโซเดียมและไขมันอิ่มตัว โดยในภาคค้าปลีก ผู้ผลิตหลายรายเริ่มปรับสูตรใหม่แล้ว สำหรับภาคอาหารและเครื่องดื่ม การแก้ไขปัญหาปริมาณโซเดียมและไขมันอิ่มตัวในอาหารเป็นเรื่องที่ท้าทายกว่า เนื่องจากส่วนผสมที่เติมลงไประหว่างการปรุงอาหารมีความหลากหลาย ผู้บริโภคต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนรสนิยมและยอมรับอาหารโซเดียมต่ำ และผู้ประกอบการจะต้องเลือกใช้วัตถุดิบที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น นอกจากนี้ HPB จะดำเนินการปรึกษาหารือเพิ่มเติมกับภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับรายละเอียดการนำไปปฏิบัติใช้ระหว่างเดือนกันยายนถึงช่วงต้นปีหน้า เพราะโซเดียมมีความซับซ้อนกว่าน้ำตาลหรือไขมันอิ่มตัว จึงต้องพิจารณาส่วนผสมประเภทต่าง ๆ ก่อน แล้วจึงประเมินว่าเกณฑ์ใดที่เหมาะสม และแต่ละหมวดหมู่สินค้าจะต้องมีเกณฑ์ของตัวเอง
จากรายงานของ HPB ในเดือนมิถุนายน 2567 ระบุว่า การนำผลิตภัณฑ์เกลือ ซอสปรุงรส และเครื่องปรุงเพื่อสุขภาพไปใช้งานยังคงอยู่ในระดับต่ำในกลุ่มผู้บริโภคและผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่ม ปัจจุบันมีผู้ผลิตเกลือโซเดียมต่ำ 5 ราย ซึ่งครอบคลุมตลาดครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสและเครื่องปรุงมีโซเดียมต่ำมีสัดส่วนเพียง 1/4 นอกจากนี้ ร้านอาหารที่ใช้เกลือ ซอสปรุงรส หรือเครื่องปรุงที่มีตราสัญลักษณ์ Healthier Choice[1] มีเพียง 3% และร้านอาหารที่ใช้น้ำมันปรุงอาหารเพื่อสุขภาพมีเพียง 12% เท่านั้น
เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้สินค้าดังกล่าวให้แพร่หลายขึ้น HPB ได้จัดทำตราสัญลักษณ์ทางเลือกเพื่อสุขภาพ หรือ Healthier Choice สำหรับสถานประกอบการอาหารและเครื่องดื่มที่นำเสนอเมนูเพื่อสุขภาพภายใต้โครงการ Healthier Dining Programme โดยในเดือนมีนาคม 2567 ผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่ม ศูนย์อาหาร (Hawker Centres) และร้านกาแฟมากกว่า 3,100 แห่ง และแผงขายอาหารมากกว่า 9,000 แห่ง ได้เข้าร่วมโครงการนี้ โดยนำเสนออาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างน้อยหนึ่งรายการ ปัจจุบัน HPB ได้ร่วมมือกับศูนย์อาหาร 40 แห่ง เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับความสำคัญของการลดปริมาณโซเดียม โดยให้ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำเพื่อทดลองใช้ในการปรุงอาหาร และตั้งเป้าหมายจะขยายไปเป็น 60 แห่งในปีนี้ และอีก 50 แห่ง ในปี 2568 ซึ่งครอบคลุมศูนย์อาหารทั้งหมด 110 แห่ง
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
รัฐบาลสิงคโปร์ได้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีมาอย่างยาวนาน ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น การรณรงค์ลดการบริโภคน้ำตาล/ไขมันต่ำผ่านฉลากโภชนาการ Nutri-Grade การใช้ตราสัญลักษณ์ Healthier Choice ของ HPB หรือโครงการ Healthier SG ของรัฐบาลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ ประชาชนสิงคโปร์ยังให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้นเช่นกัน
จากความพยายามในการลดการบริโภคโซเดียมในสิงคโปร์ และความต้องการเพิ่มความหลากหลายและขยายสัดส่วนสินค้าโซเดียมต่ำในตลาด ส่งผลให้ความต้องการสินค้ากลุ่มซอสปรุงรส น้ำสลัด เครื่องปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบโซเดียมต่ำ และน้ำมันปรุงอาหารแบบไขมันอิ่มตัวต่ำในสิงคโปร์มีมากขึ้น จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดสินค้ากลุ่มนี้มายังสิงคโปร์
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจตลาดสิงคโปร์ควรศึกษาความต้องการและแนวโน้มของตลาดเป้าหมายเพื่อพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงวิธีการข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์[2] เพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐานเพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป
แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ :
https://www.channelnewsasia.com/singapore/nutrigrade-label-salt-sauces-sodium-saturated-fat-4560471?cid=internal_sharetool_iphone_22082024_cna
[1] สำหรับตราสัญลักษณ์ทางเลือกเพื่อสุขภาพ (Healther Chioice) จะยังคงมีอยู่เพราะจะครอบคลุมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น มีธัญพืชไม่ขัดสี หรือมีแคลเซียมสูง โดยจะทำงานร่วมกับฉลาก Nutri-Grade และเป็นการสมัครตามความสมัครใจ ในขณะที่ Nutri Grade ในเกรด C และ D จะเป็นภาคบังคับ
[2] กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์ – https://www.sfa.gov.sg/food-import-export/commercial-food-imports
อ่านข่าวฉบับเต็ม : สิงคโปร์เตรียมประกาศมาตรการฉลากเพื่อลดการบริโภคโซเดียมและไขมันอิ่มตัว