หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > สาธารณรัฐเช็กหมุดหมายของแบรนด์หรู

สาธารณรัฐเช็กหมุดหมายของแบรนด์หรู

ถนน Parížská ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการช้อปปิ้งสินค้าหรูหราในกรุงปราก และเป็นถนนที่มีมูลค่าสูงที่สุดในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ยังคงดึงดูดแบรนด์ระดับไฮเอนด์อย่างต่อเนื่อง จากความต้องการพื้นที่ขายปลีกอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ โดยปี 2024 มีแบรนด์ดังหลายแบรนด์ได้เปิดตัวร้านค้าบนถนนสายนี้ ซึ่งปัจจุบันถนนนี้เป็นที่ตั้งของบูติกมากกว่า 50 แห่ง รวมถึง Louis Vuitton, Gucci, Prada, Chanel และ Bulgari นอกจากนี้ ถนน Parížská ยังต้อนรับบูติกใหม่ๆ เช่น Patrizia Pepe, The Brands, Le Labo, The Ingredients และนาฬิกา Tudor แห่งแรกของเช็ก โดยปลายปีที่ผ่านมาถนนดังกล่าวถูกจองพื้นที่เต็มแล้ว และมีแผนที่จะขยายพื้นที่ออกไป ซึ่งมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ 2 โครงการที่กำหนดให้แล้วเสร็จในปี 2025 ซึ่งมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ 2 โครงการที่กำหนดให้แล้วเสร็จในปี 2025 ได้แก่โรงแรม InterContinental เดิม กำลังถูกปรับเปลี่ยนเป็น Fairmont Golden Prague ซึ่งเป็นโครงการที่จะสร้างร้านค้าใหม่ 7 แห่ง และพื้นที่ค้าปลีก 1,200 ตารางเมตร ในขณะเดียวกัน โครงการ Parížská 25 ของ Kaprain Real Estate จะสร้างพื้นที่ค้าปลีกหรูหราอีก 1,000 ตารางเมตร พร้อมด้วยอพาร์ตเมนต์ที่พักอาศัยระดับไฮเอนด์ 19 แห่ง นอกจากนี้ Cartier ยังเตรียมขยายบูติกในปีนี้ด้วย “ความต้องการของแบรนด์หรูบนถนน Parížská ยังคงแข็งแกร่ง ประกอบกับภายในสิ้นปี 2024 พื้นที่ค้าปลีกที่มีอยู่ไม่มีพื้นที่ว่าง ตอกย้ำถึงความน่าดึงดูดอย่างต่อเนื่องในฐานะจุดหมายปลายทางการช้อปปิ้งสินค้าหรูหราในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก” “เสน่ห์ของถนนสายนี้มาจากทำเลใจกลางเมือง ซึ่งช่วยดึงดูดแบรนด์หรูระดับโลก เช่น Chanel, Balenciaga, Polo Ralph Lauren และ Jimmy Choo” Jan Kotrbáček หัวหน้าทีมการให้เช่าพื้นที่ค้าปลีกในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกของ Cushman & Wakefield กล่าว ไม่เพียงแต่ตลาดค้าปลีกสินค้าหรูหราของปรากกำลังเติบโตบนถนน Parížská แต่แบรนด์ Balmain Hair Couture ได้เปิดบูติกบนถนน Dlouhá เช่นกัน ตามการศึกษาวิจัย European Luxury Retail 2025 ของ Cushman & Wakefield แบรนด์แฟชั่นและเครื่องประดับหรูหรามีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของการเปิดร้านค้าใหม่ทั้งหมดในยุโรป โดยมีทั้งหมด 41 สาขา แบรนด์เครื่องประดับและนาฬิกามีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการเปิดร้านค้าใหม่ 26 แห่ง ซึ่งแซงหน้าตัวเลขของปีก่อนหน้า โดยยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอย่าง LVMH, Richemont และ Kering เป็นผู้นำการเติบโตนี้ โดย LVMH เพียงแห่งเดียวได้เพิ่มร้านค้าถึง 15 แห่ง

 

นอกจากนี้ ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติสาธารณรัฐเช็ก ค่าจ้างเฉลี่ยของสาธารณรัฐเช็กพุ่งแตะระดับใหม่ที่ 49,229 เช็กคราวน์ (57,232 เช็กคราวน์ ในกรุงปราก) ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 7.2 หรือ 3,322 เช็กคราวน์ สิ่งที่น่าสังเกตคือค่าจ้างจริง เติบโตขึ้นร้อยละ 4.2 หลังจากหักอัตราเงินเฟ้อแล้ว ซึ่งถือเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกันที่มีการเติบโตของค่าจ้างจริง แต่อย่างไรก็ตาม ช่องว่างอัตราค่าจ้างระหว่างเพศในเช็กยังคงชัดเจน โดยค่าจ้างเฉลี่ยสำหรับผู้หญิงน้อยกว่าค่าจ้างของผู้ชาย 6,500 เช็กคราวน์ สำหรับค่าจ้างในอุตสาหกรรมที่มีการปรับขึ้นสูงสุด ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ ภาคบริการ และการดูแลสุขภาพ พนักงานในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นสูงสุดในไตรมาสที่ 4 โดยเงินเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปีก่อน ค่าจ้างสำหรับงานด้านวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และเทคนิค เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 งานบริการด้านที่พัก การจัดเลี้ยง และการต้อนรับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 งานด้านสุขภาพและการดูแลทางสังคมมีการปรับขึ้นค่าจ้างร้อยละ 10.1 ในทางตรงกันข้าม ค่าจ้างเติบโตน้อยที่สุดในภาคเหมืองแร่และการขุดหิน ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.2 ภาคการศึกษา การบริหารสาธารณะ และการป้องกันประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 แม้ว่าค่าจ้างเฉลี่ยในสาธารณรัฐเช็กจะเพิ่มขึ้น แต่คนงานในภาคส่วนต่างๆ ได้รับค่าจ้างในระดับที่แตกต่างกัน ค่าจ้างที่สูงที่สุดยังคงอยู่ในภาคข้อมูลและการสื่อสาร ซึ่งเงินเดือนเฉลี่ยเกิน 83,000 เช็กคราวน์ ในทางกลับกัน คนงานในภาคที่พัก อาหาร และการต้อนรับมีรายได้น้อยที่สุด โดยได้รับเงินเดือนเฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 28,000 เช็กคราวน์ แต่อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์สังเกตว่าค่าจ้างจริงยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่สู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทการเงิน Cyrrus Vít Hradil กล่าวว่าค่าจ้างจริงของเช็กยังคงต่ำกว่าจุดสูงสุดที่เห็นในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 ถึงร้อยละ 7.3 โดยปัจจุบันค่าจ้างของเช็กยังคงมีมูลค่าใกล้เคียงกับช่วงปลายปี 2018 ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าการเติบโตของค่าจ้างจริงจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปในปี 2025 แม้ว่าจะในอัตราที่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาก็ตาม ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเช็ก นักวิเคราะห์ของ Komerční banka กล่าวว่าค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะช่วยผลักดันการใช้จ่ายของครัวเรือน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการฟื้นตัวของประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม Dominik Kohut นักวิเคราะห์จากบริษัทตรวจสอบบัญชี PwC เตือนว่าการเติบโตของค่าจ้างไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมกันในทุกกลุ่มรายได้ นอกจากนี้ Jirí Pour นักเศรษฐศาสตร์ของ UniCredit Bank คาดการณ์ว่าการเติบโตของค่าจ้างจริงจะอยู่ระหว่างร้อยละ 3 – 4 ในปีนี้

 

ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.

ตามรายงานล่าสุดจากองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเช็กมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ โดยการเติบโตจะเพิ่มเป็นร้อยละ 2.1 จากร้อยละ 1 เมื่อปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแนวโน้มบวกของเศรษฐกิจเช็ก เมื่อคาดการณ์ไปถึงปี 2026 OECD คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ดียิ่งขึ้น โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 แนวโน้มขาขึ้นนี้บ่งชี้ถึงการกลับมาสู่ภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น หลังจากการเติบโตที่ชะลอตัวลงในช่วงหนึ่ง อัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นปัญหาที่ครัวเรือนของสาธารณรัฐเช็กกังวลมาโดยตลอด คาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อไป ตามรายงานของ OECD คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 2.3 และคาดว่าจะลดลงอีกในปีหน้า ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อไปถึงเป้าหมายของธนาคารแห่งชาติสาธารณรัฐเช็กที่ร้อยละ 2 การขาดดุลการคลังสาธารณะจะค่อยๆ ลดลง โดยรายงานว่าการขาดดุลในปีนี้จะลดลงเหลือร้อยละ 2.6 ของ GDP จากร้อยละ 2.8 ของปีที่ผ่านมา และคาดว่าในปี 2026 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.9 จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจเช็กมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีความท้าทายทางการคลังที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยนายกรัฐมนตรีเช็กให้ข้อสังเกตว่างบประมาณในอนาคตอาจจะต้องรองรับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในมาตรการป้องกันประเทศและความมั่นคง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงลำดับความสำคัญที่เปลี่ยนไปในภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แน่นอนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดัวกล่าวถือเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยในการวางแผนการขยายการส่งออกมายังสาธารณรัฐเช็กเพิ่มเติม ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรติดตามความเคลื่อนไหวด้านการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิดเพื่อสามารถปรับตัวได้ทันตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงศึกษาแนวโน้มตลาด กฎระเบียบทางการค้า และพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ปี 2567 สาธารณรัฐเช็ก นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า 231,767 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศเยอรมนี จีน โปแลนด์ สโลวาเกีย เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ฮังการี และเบลเยียม ตามลำดับ โดยนำเข้าจากประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 1,036.86 ล้านเหรียญสหรัฐ

อ่านข่าวฉบับเต็ม : สาธารณรัฐเช็กหมุดหมายของแบรนด์หรู

Login