อีกหนึ่งปรากฏการณ์ของหนังไทยที่ได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลักในไต้หวัน เมื่อภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง “สัปเหร่อ” สามารถกวาดรายได้จากการเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ที่ประเทศไทยแตะ 100 ล้านบาทในเวลาเพียง 6 วัน และถึง 200 ล้านบาทใน 11 วัน ก่อนที่จะทำสถิติทะลุ 500 ล้านบาท จนกลายเป็นหนังไทยที่ทำรายได้สูงสุดในรอบทศวรรษ หลังจากที่เข้าฉายได้เพียงสองสัปดาห์เศษตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และคาดกันว่าหนังผีบ้านๆ เรื่องนี้ จะสามารถทำรายได้ทะลุ 600 ล้านบาทในอีกไม่นาน และมีโอกาสสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นหนังไทยที่ทำรายได้จากการเข้าฉายสูงสุดด้วย ทำให้สื่อมวลชนไต้หวันสนใจรายงานข่าวด้วยความทึ่งในหนัของไทยที่ใช้เงินลงทุนในการถ่ายทำเพียงประมาณ 10 ล้านบาทเท่านั้น แต่สามารถทำรายได้สูงอย่างไม่น่าเชื่อ
ที่ผ่านมา หนังผีไทยที่ทำรายได้มากที่สุดจากการเข้าฉายในประเทศไทย คือ เรื่อง “พี่มาก…พระโขนง” ที่ทำรายได้สูงถึง 560 ล้านบาทซึ่งเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดจากการเข้าฉายในประเทศไทยด้วย รองมาได้แก่ “นางนาก” ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องว่าทำให้เกิดการปฏิวัติของวงการหนังผีไทย ทำรายได้ 150 ล้านบาท เช่นเดียวกับหนังผีไทยอีกหลายเรื่องที่มีชื่อเสียง เช่น ลัดดาแลนด์ ห้าแพร่ง ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ เป็นต้น ซึ่งภาพยนตร์ที่กล่าวถึงนี้ต่างเคยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในไต้หวันแล้ว โดยสื่อไต้หวันวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ทำให้ “สัปเหร่อ” ได้รับความนิยมจากคนดู ทั้งๆ ที่ไม่มีดาราดังที่มีชื่อเสียงมาร่วมแสดง มาจากการที่บทภาพยนตร์สามารถสะท้อนวิถีชีวิต ความเจ็บปวด และความกดดันของเหล่าชนชั้นรากหญ้าในชนบทของไทยออกมาได้อย่างลึกซึ้ง พร้อมทั้งยังสะท้อนให้คนดูรับรู้และรู้สึก รวมทั้งย้อนคิดถึงความตายตามครรลองของวิถีแห่งความเป็นจริง นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ของหนังผีไทยที่มีการสอดแทรกมุกตลก และทำให้คนดูรู้สึกผ่อนคลายจากความเครียดและความหลอนจากการชมหนังผีได้อย่างลงตัว ซึ่งต้องชื่นชมที่ผู้กำกับภาพยนตร์สามารถสร้างจังหวะของหนังและสร้างอารมณ์ให้กับคนดูได้อย่างราบรื่นตลอดทั้งเรื่อง อีกประการหนึ่ง ต้องขอบคุณอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้เหล่าผู้ชมที่เข้าไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว ได้พากันโพสต์+แชร์เพื่อชวนเพื่อนๆ ไปชม จนทำให้ผู้คนเกิดความอยากรู้อยากเห็นและกลายเป็นกระแสการไปชม “สัปเหร่อ” ขึ้นในประเทศไทย ทำให้ “สัปเหร่อ” กลายเป็นยาดีที่ช่วยกระตุ้นให้วงการภาพยนตร์ไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากที่ซบเซาไปพักใหญ่ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ในช่วงที่ผ่านมา มีภาพยนตร์ของไทยมาเข้าฉายอย่างต่อเนื่องในไต้หวัน โดยหนังผีและซีรี่ย์ Y เป็นประเภทหนังที่ได้รับการยอมรับจากตลาดไต้หวันเป็นอย่างมาก ซึ่ง “ฉลาดเกมส์โกง” “พี่มาก…พระโขนง” และ “แฝด” เป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้จากการเข้าฉายสูงสุด 3 อันดับแรกจากการเข้าฉายในไต้หวัน ส่วนในปีนี้มีทั้งภาพยนตร์แนวโรแมนติกคอมเมอดี้ เช่น “บุพเพสันนิวาส 2” “รักแรก โคตรลืมยาก” และ “เธอกับฉันกับฉัน” รวมถึงภาพยนตร์ในแนวสยองขวัญ เช่น “ปลุกพยนต์” “บ้านเช่าบูชายัญ” เป็นต้น ถือเป็นการเสริมสร้างพลัง Soft Power ของไทยในตลาดให้ค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้น
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
ไต้หวันถือเป็นหนึ่งในตลาดภาพยนตร์ไทยในต่างประเทศที่มีการยอมรับและนำเข้าหนังไทยมาเข้าฉายในโรงภาพยนตร์อย่างสม่ำเสมอ โดยหนังซีรี่ย์ Y และหนังผี ถือเป็นหนังประเภทหลักที่พบเห็นได้บ่อยในไต้หวัน ซึ่งตามประเพณีไต้หวัน จะมีช่วงเทศกาลเดือนผีในช่วงเดือน 7 ตามปฏิทินจีน (ประมาณเดือนสิงหาคมของทุกปี) นับเป็นช่วงที่หนังผีไทยมาเข้าฉายเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ “ฉลาดเกมส์โกง” ซึ่งแม้จะไม่ใช่หนังผีหรือหนังซีรี่ย์ Y ที่ชาวไต้หวันนิยมดู ก็สร้างปรากฏการณ์ด้วยการเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกในไต้หวันที่ทำรายได้จากการเข้าฉายมากกว่า 100 ล้านบาท ทำให้เริ่มมีภาพยนตร์ไทยแนวอื่นเข้ามามากขึ้น เช่น น้องพี่ที่รัก ใจฟูสตอรี่ ในขณะที่วงการภาพยนตร์ไทยก็มีความร่วมมือกับไต้หวันมากขึ้น เช่น บทภาพยนตร์ของเรื่องรักแรก โคตรลืมยาก เป็นการซื้อบทภาพยนตร์จากภาพยนตร์ไต้หวันที่โด่งดังเป็นอย่างมาก เรื่อง You are the Apple for My Eyes
ที่ผ่านมา เนื่องจากไต้หวันและจีนมีข้อตกลงทางการค้าร่วมกันตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทำให้ภาพยนตร์ไต้หวันสามารถเข้าฉายในจีนแผ่นดินใหญ่โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องโควต้าภาพยนตร์ต่างประเทศ ทำให้มีภาพยนตร์ไต้หวันไปเข้าฉายในประเทศจีนและทำรายได้สูงๆ เป็นจำนวนไม่น้อย เช่น Our Times, A Man in Love ดังนั้น การร่วมมือกับไต้หวันในการถ่ายทำภาพยนตร์จึงเสมือนเป็นทางลัดในการเข้าสู่ตลาดจีนซึ่งมีขนาดใหญ่ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ หนังไทยที่สามารถเข้ามาสร้างความนิยมในตลาดไต้หวันได้ จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผลงานของไทยมีผู้นำเข้าภาพยนตร์ของจีนมาซื้อไปเข้าฉายในจีนได้ง่ายขึ้นเช่นกัน ดังเช่นความสำเร็จของ “ฉลาดเกมส์โกง” ซึ่งสร้างชื่อเสียงจากการเข้าฉายในไต้หวันก่อน จากนั้นจึงถูกนำไปเข้าฉายในประเทศจีนต่อ
สคต. ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ได้ใช้โอกาสที่ภาพยนตร์ไทยได้รับการยอมรับมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดไต้หวัน โดยเชื่อมโยงผู้นำเข้าสินค้าไทยให้รู้จักกับผู้สร้างภาพยนตร์ที่ถ่ายทำโดยใช้เนื้อเรื่องที่เกี่ยวข้องและมีการถ่ายทำในประเทศไทย รวมถึงใช้ดาราไทยเป็นนักแสดงนำ เพื่อนำสินค้าไทยมานำเสนอผ่านบทภาพยนตร์ ถือเป็นการต่อยอดใช้ประโยชน์จาก Soft Power ของไทยให้เกิดผลทางด้านการค้าต่อไป
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)