บริษัท Sanofi บริษัทผู้ผลิตเวชภัณฑ์ยาสัญชาติฝรั่งเศสกำลังวางแผนที่จะสร้างโรงงานแห่งใหม่ในเมือง Höchst (ไกล้เมือง Frankfurt) โดยตั้งเป้าที่จะลงทุนประมาณ 1.3 – 1.5 พันล้านยูโร เมื่อหนังสือพิมพ์ Handelsblatt ได้ทราบข้อมูลดังกล่าว (จากวงในรัฐบาล) ปรากฏว่า ปัจจุบันSanofi มีโรงงานที่ผลิตอินซูลินอยู่แล้วในเมืองเดียวกัน โดยการลงทุนครั้งนี้จะเป็นการเปิดทางให้กับโรงงานแห่งใหม่เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายออกมา แต่ก็มีข่าวจากวงในว่า ได้มีมติเป็นเอกฉันท์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ว่า ยังไงก็น่าที่จะขยายโรงงานแห่งใหม่ในเยอรมนี ซึ่งปัจจุบันได้มีการเตรียมการด้านก่อสร้างในเมือง Höchst ไว้แล้วด้วย และเมื่อสอบถามไปยังบริษัท Sanofi ก็ได้รับคำตอบว่า บริษัทฯ ไม่ขอออกแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการใดโครงการหนึ่งโดยเฉพาะ ในตอนแรกบริษัทยังไม่มีความแน่ใจ และมีความข้องใจกับโรงงานในเมือง Höchst ที่จะกลายเป็นฐานการผลิต และเคยพิจารณาที่จะย้ายฐานการผลิตอินซูลินไปยังโรงงานใดโรงงานหนึ่งในฝรั่งเศสแทน สำหรับการตัดสินใจเลือกเยอรมนีเป็นฐานการผลิตนั้น ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ส่งสัญญาณเชิงบวกสำหรับเยอรมนีที่ในปัจจุบันกำลังประสบปัญหาด้านภาพลักษณ์ในฐานะที่เป็นฐานการผลิตของหลายภาคอุตสาหกรรม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาภาคเอกชนเยอรมันหันไปลงทุนเงินในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ (นักลงทุนต่างชาติลดการลงทุนในเยอรมนีเรื่อย ๆ) ด้านสถาบันเศรษฐศาสตร์เยอรมนี (IW – das Institut der deutschen Wirtschaft) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในปี 2023 กระแสเงินลงทุนสุทธิ (Net Capital Outflow) ของประเทศอยู่ที่ 94 พันล้านยูโร ซึ่งก็ไม่ใช่กับทุกอุตสาหกรรม ในบางภาคอุตสาหกรรมก็ดีขึ้นมากโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ยา มีการลงทุนครั้งใหญ่จำนวนมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ด้านนาย Robert Habeck รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สภาวะอากาศกล่าวในขณะที่เขาเข้าเยี่ยมชมร้านขายยาหลายแห่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า “อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ยาเป็นตัวอย่างที่ดีแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจในประเทศของเรายังมีศักยภาพอยู่”
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจลงทุนของบริษัทเพียงรายเดียว โดยเฉพาะกรณีของ Sanofi ก็ไม่สามารถซ่อนความจริงที่ว่า เยอรมนีประสบปัญหาขาดการลงทุนในประเทศมาเป็นเวลานาน ตัวเลขที่สถาบัน IW แสดงให้เห็นว่า การไหลออกของกระแสเงินลงทุนโดยตรงสุทธิเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2021 และ 2022 และลดลงเพียงเล็กน้อยในปี 2023 เมื่อเทียบกับในระดับสากล มีเพียงประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นที่มีการไหลออกของเงินลงทุนสูงกว่า นอกจากนี้ เยอรมนียังตกลงจากการจัดอันดับในหลาย ๆ ด้านอีกด้วย ล่าสุดในแง่ของปัจจัยด้านฐานการผลิต และตั้งโรงงาน มหาวิทยาลัยเอกชนในสวิส IMD ลดอันดับให้เยอรมนีตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 24 จาก 67 อันดับ ซึ่งต่ำกว่าปีที่ผ่านมา 2 อันดับ โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เยอรมนีถูกลดอันดับลงก็คือ ภาระทางด้านภาษีและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รัฐบาลกลางเยอรมันตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี โดยนาย Olaf Scholz นายกรัฐมนตรีสังกัดพรรคสังคมนิยมเพื่อประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD – Sozialdemokratische Partei Deutschlands) นาย Robert Habeck รัฐมนตรีว่าการเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สภาวะอากาศสังกัดพรรคยุค 90 พันธมิตรสีเขียว (Bündnis 90/Die Grünen) และนาย Christian Lindner รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสังกัดพรรคเพื่ออิสรภาพและประชาธิปไตย (FDP – Freie Demokratische Partei) กำลังเร่งทำนโยบายผลักดันเศรษฐกิจเชิงรุกที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นการลงทุน และเพิ่มการเติบโตระยะกลางในประเทศเยอรมนีอยู่ จากแวดวงของรัฐบาลทำให้ทราบว่า มีการสรุปแผนเชิงรุกหลัก ๆ อย่างไม่เป็นทางการเรียบร้อยแล้ว และสามารถนำเสนอควบคู่ไปกับแผนงบประมาณของประเทศได้ ตามรายงานคาดว่า น่าจะมีการขยายการคำนวณ “ค่าเสื่อมราคาเชิงถดถอย” ให้กว้างขึ้น โดยนโยบายนี้จะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถหักเงินลงทุนจากภาษีได้อย่างรวดเร็วขึ้น และมากขึ้นนั้นเอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูตัวเลขสถิติโดยละเอียดแล้วยังแสดงให้เห็นว่า เยอรมนียังคงสามารถรักษาฐานะความเป็นฐานการผลิตที่เหมาะกับลงทุนอยู่ โดยในปี 2023 มูลค่าของโครงการลงทุนจากต่างประเทศที่วางแผนไว้ทั้งหมดในเยอรมนีอยู่ที่ 35 พันล้านยูโรโดยประมาณ หรือเพิ่มขึ้น 37.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และถือเป็นสถิติใหม่เลยทีเดียว โดยหน่วยงานสนับสนุนการค้าและการลงทุนเยอรมัน (GTAI – Germany Trade & Invest) เป็นผู้เก็บข้อมูลดังกล่าว ซึ่งสถิตินี้เป็นตัวเลขเกี่ยวกับการลงทุนตั้งโรงงานแห่งใหม่ใหม่ หรือการขยายบริษัทเท่านั้น นาย Robert Hermann ผู้บริหารหลักของ GTAI กล่าวเมื่อนำเสนอตัวเลขดังกล่าวว่า “สำหรับเรานี่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า เยอรมนียังคงมีความน่าดึงดูดใจอย่างมากสำหรับนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าจะมีความท้าทายสูงขึ้นก็ตาม” ในทางกลับกัน IW ไม่เพียงแต่นำการลงทุนแบบดั้งเดิมในโรงงานหรืออุปกรณ์ใหม่มาคำนวณเท่านั้น แต่สำหรับ IW แล้วการลงทุนยังรวมไปถึงการเคลื่อนย้ายเงินสด และสินเชื่อด้วย ดังนั้นความแตกต่าง เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าตัวเลขจากสถาบันใดจะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประเทศในฐานะฐานการผลิตได้มากกว่ากัน สิ่งหนึ่งที่ไม่เป็นข้อโต้แย้งก็คือ การลงทุนในแต่ละอุตสาหกรรมมีความแตกต่างที่สำคัญแตกต่างกัน สำหรับอุตสาหกรรมยาไม่เพียงแต่บริษัท Sanofi เท่านั้นที่เป็นสัญญาณเชิงบวกในฐานะฐานการผลิตในประเทศ บริษัท Eli Lilly จากประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็กำลังสร้างโรงงานแห่งใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักใกล้กับเมือง Mainz ที่มีมูลค่าสูงถึง 2.3 พันล้านยูโร บริษัท Daiichi-Sankyo ผู้ผลิตยารักษาโรคมะเร็งจากประเทศญี่ปุ่นก็คาดการณ์ว่า น่าจะลงทุนสูงถึงหนึ่งพันล้านยูโรในโรงงานผลิตในเมือง Pfaffenhofen ในภาคเหนือของรัฐ Bayern
จาก Handelsblatt 2 สิงหาคม 2567
อ่านข่าวฉบับเต็ม : สัญญาณที่ดีต่อกรณีที่เยอรมนีจะเป็นฐานการผลิตยา