หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > สหรัฐฯ เสนอปรับลดประเภทความรุนแรงกัญชาในระดับรัฐบาลกลาง – สคต. ชิคาโก

สหรัฐฯ เสนอปรับลดประเภทความรุนแรงกัญชาในระดับรัฐบาลกลาง – สคต. ชิคาโก

“ปัจจุบันมี 39 รัฐอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์และมี 23 รัฐอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการผ่อนคลายได้อย่างถูกกฎหมาย”

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐฯ (Department of Health and Human Services หรือ HHS) ได้เสนอข้อพิจารณาให้สหรัฐฯ ลดระดับการจัดประเภทความรุนแรงของกัญชาตามกฎหมายจากเดิมที่ถูกจัดอยู่ในประเภทยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูง (High – Risk Drug) ให้เป็นยาเสพติดที่มีความเสี่ยงต่ำ (Low – Risk Drug) อีกทั้ง ยังได้เรียกร้องให้หน่วยงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐฯ (Drug Enforcement Agency หรือ DEA) พิจารณาลดความรุนแรงในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาซึ่งขณะนี้ยังถูกจัดให้เป็นยาเสพติดภายใต้กฎหมายควบคุมยาเสพติด (Controlled Substances Act หรือ CSA) ในระดับรัฐบาลกลางด้วย

 

ภายใต้กฎหมายรัฐบาลกลางสหรัฐฯ กัญชาถูกจัดให้อยู่ในรายการยาเสพติดประเภทที่ 1 (Schedule I Drug) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ซึ่งรายการยาเสพติดดังกล่าวถือเป็นกลุ่มยาเสพติดให้โทษรุนแรงเสี่ยงต่อการเสพติดสูงและไม่อนุญาตให้ใช้เพื่อทางการแพทย์ อีกทั้ง ยังเป็นรายการเดียวกันกับเฮโรอีน และแอลเอสดี (Lysergic Acid Diethylamide หรือ LSD) ที่มีฤทธิ์หลอนประสาทและเป็นอันตรายร้ายแรงต่อผู้เสพ

 

นอกจากนี้ ภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าวซึ่งค่อนข้างเก่าและล้าหลังยังได้จัดให้กัญชาอยู่ในรายการยาเสพติดประเภทที่มีระดับรุนแรงต่อสุขภาพของผู้เสพมากกว่ายาเสพติดร้ายแรงชนิดอื่น เช่น เฟนทานอล โคเคน และเมทแอมเฟตามีน ปัจจุบันจะมีข้อมูลรายงานการศึกษาวิจัยที่น่าเชื่อถือจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า ผลกระทบและอันตรายจากการใช้กัญชามีน้อยกว่ายาเสพติดชนิดอื่น อีกทั้ง กัญชายังมีอรรถประโยชน์ช่วยส่งเสริมสุขภาพผู้ใช้ในปริมาณที่เหมาะสมอีกด้วย

 

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่หน่วยงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐฯ จะพิจารณาปรับลดระดับความรุนแรงของกัญชาไปอยู่ในรายการยาเสพติดประเภทที่ 3 (Schedule III Drug) ซึ่งเป็นกลุ่มยาเสพติดที่มีความเสี่ยงต่ำมีความอันตรายต่อร่างกายและระบบประสาทน้อยกว่าซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับเคตามีนหรือยาเค สเตียรอยด์สังเคราะห์ และฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสังเคราะห์

 

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังไม่มีแผนที่จะถอดถอนกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น การเพาะปลูก แปรรูป และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกัญชาจึงยังคงถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในระดับรัฐบาลกลางอยู่ ในขณะที่การใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์และเพื่อการผ่อนคลาย (Recreational Use) สามารถทำได้อย่างถูกกฎหมายเฉพาะรัฐที่กฎหมายระดับรัฐอนุญาตเท่านั้น โดยปัจจุบันสหรัฐฯ มี 39 รัฐที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์และ 23 รัฐที่อนุญาตให้ใช้เพื่อการผ่อนคลายได้อย่างถูกกฎหมาย

 

แม้ว่าปัจจุบันกฎหมายท้องถิ่นในระดับรัฐหลายแห่ง เช่น แคลิฟอร์เนีย อิลลินอยส์ และนิวยอร์กจะอนุญาตให้สามารถใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์และการผ่อนคลายได้ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติการดำเนินกิจการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชาในสหรัฐฯ นั้น ยังคงค่อนข้างลำบาก หลายกิจการไม่สามารถใช้เข้าถึงผลประโยชน์จากรัฐฯ เช่น ภาษี รวมถึงการบริการจากสถาบันการเงิน เนื่องจากหน่วยงานเหล่านั้นต่างต้องปฏิบัติตามแนวทางของกฎหมายรัฐบาลกลาง ดังนั้น หากสหรัฐฯ สามารถผลักดันการพิจารณาปรับลดประเภทความรุนแรงของกัญชาได้ก็จะมีส่วนสำคัญช่วยให้การดำเนินกิจการและการเคลื่อนย้ายขนส่งสินค้าทำได้สะดวกมากขึ้นซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมกัญชาสหรัฐฯ มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

ในระหว่างที่กระทรวงฯ เสนอพิจารณาปรับประเภทความรุนแรงของกัญชาจะมีการสนับสนุนการศึกษาวิจัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือเพื่อสนับสนุนการเสนอดังกล่าวด้วย โดยคาดว่ากระบวนการพิจารณาดังกล่าวจะเสร็จสิ้นก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

 

กัญชาเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยในกลุ่มชาวอเมริกันมาเป็นเวลานานก่อนที่จะถูกจัดให้อยู่ในรายการยาเสพติดผิดกฎหมายในช่วงยุค 40 ซึ่งต่อมาเริ่มมีการศึกษาประโยชน์ทางการแพทย์และอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ในสหรัฐฯ ได้เป็นครั้งแรกในรัฐแคลิฟอร์เนียในช่วงยุค 90

 

โดยตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมานโยบายการอนุญาตใช้กัญชา ทั้งเพื่อทางการแพทย์และเพื่อการผ่อนคลายในสหรัฐฯ เริ่มผ่อนปรนต่อเนื่องเป็นลำดับ รัฐต่างๆ เริ่มผ่านกฎหมายอนุญาตให้สามารถใช้กัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายทำให้ตลาดอุตสาหกรรมกัญชาสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิต – 19 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของชาวอเมริกันเป็นวงกว้างทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันบางส่วนหันไปเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดความเครียด รวมถึงผลิตภัณฑ์แคนนาบิไดออล (Cannabidiol หรือ CBD) จากกัญชงและกัญชามากขึ้น

 

จากข้อมูลศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ (Center for Disease Control and Prevention หรือ CDC) กระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐฯ (Department of Health and Human Services หรือ HHS) พบว่า ในช่วงระหว่างปี 2562 – 2564 จำนวนผู้ใช้กัญชาในสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 จาก 48.2 ล้านคนเป็น 52.5 ล้านคน อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้อุตสาหกรรมกัญชาสหรัฐฯ ขยายตัวด้วย

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันตลาดอุตสาหกรรมกัญชาสหรัฐฯ (เฉพาะรัฐที่กัญชาถูกกฎหมาย) มีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 3.34 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นมูลค่า 6.72 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2571 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี (Compound Average Growth Rate หรือ CAGR)

 

โดยกลุ่มสินค้ากัญชาที่เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาด ได้แก่ ดอกอบแห้ง (ร้อยละ 43.4) สารสกัดสำหรับบุหรี่ไฟฟ้า (ร้อยละ 20.3) เครื่องดื่ม ขนม และลูกอม (ร้อยละ 9.2) สารสกัดเข้มข้น (ร้อยละ 8.8) และครีมโลชั่น (ร้อยละ 8.8) ตามลำดับ

 

แม้ว่าประเทศไทยเองจะมีกฎหมายภายในประเทศสนับสนุนการเพาะปลูก แปรรูปผลิตภัณฑ์จากกัญชาก็ตาม แต่การผลักดันให้เกิดการส่งออกสินค้าไทยเพื่อสร้างมูลค่าตลาดในสหรัฐฯ ยังอาจจะไม่สามารถทำได้ในขณะนี้เนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมายรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่ยังถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติดไม่อนุญาตการนำเข้า อย่างไรก็ตาม การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ เสนอพิจารณาปรับลดประเภทความรุนแรงกัญชาของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีซึ่งแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ มีแนวโน้มผ่อนปรนการใช้กัญชาและผลิตภัณฑ์จากกัญชาเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งในอนาคตอาจจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยได้ ในชั้นนี้หากผู้ประกอบการไทยรายใดสนใจทำตลาดกัญชาในสหรัฐฯ อาจจะพิจารณาขยายกิจการไทยตั้งในสหรัฐฯ เพื่อเพาะปลูก แปรรูป และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในรัฐที่มีกฎหมายอนุญาตอย่างถูกต้อง เช่น รัฐไอดาโฮ รัฐอิลลินอยส์ รัฐแคนซัส รัฐมิชิแกน รัฐมินนิโซตา รัฐมิสซูรี และรัฐเนบราสกา เป็นต้น  

 

นอกจากนี้ กัญชายังมีความสัมพันธ์ค่อนข้างใกล้ชิดกับอาหารไทยบางรายการ เช่น ก๋วยเตี๋ยวเรือ โดยมีส่วนช่วยเพิ่มรสชาติอาหารได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในรัฐที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการผ่อนคลายได้อย่างถูกกฎหมายและสนใจอาจจะเลือกนำกัญชาไปใช้ร่วมในการปรุงอาหารเพื่อดึงดูดความสนใจในกลุ่มลูกค้าที่สนใจผลิตภัณฑ์จากกัญชาในตลาดได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรศึกษาและระมัดระวังปริมาณสัดส่วนกัญชาในอาหารเพื่อลดโอกาสที่ผู้บริโภคจะได้รับสารจากกัญชาเกินปริมาณที่เหมาะสม

 

“ก๋วยเตี๋ยวเรือผสมกัญชาร้าน Ayara ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคและสื่อในสหรัฐฯ”

 

ที่มา: สำนักข่าว CNBC  และ สำนักข่าว CNBC

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login