กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา เปิดเผยว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 กัมพูชาส่งออกไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 8,144 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.89 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 38.25 ของปริมาณการส่งออกของกัมพูชารวม 21,292 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกสินค้า อันดับ 1 ของกัมพูชา ส่วนการนำเข้า กัมพูชานำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 223 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯลดลงร้อยละ 23.97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565
สินค้าหลักที่กัมพูชาส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์เสื้อผ้า เครื่องอุปกรณ์การเดินทาง กระเป๋าถือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า และรองเท้า ในขณะที่ สินค้าหลักที่กัมพูชานำเข้าจากสหรัฐฯ ได้แก่ ยานพาหนะ เครื่องจักรและเครื่องใช้เครื่องจักรกล เครื่องมือทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์ยา
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ตลาดส่งออกหลักสำหรับสินค้าเสื้อผ้า รองเท้า และอุปกรณ์การเดินทาง ของกัมพูชา ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และแคนาดา
นาย Hor Sereyvath ประธานสมาคมนักลงทุนด้านนวัตกรรมและการพัฒนาของกัมพูชา เปิดเผยว่า ตลาดสหรัฐฯ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสินค้าของกัมพูชา ซึ่งขณะนี้ สมาคมฯได้มีแผนการเยือนสหรัฐฯ สำหรับผู้ประกอบการและผู้ผลิตชาวกัมพูชา เพื่อสำรวจโอกาสทางการค้าและ
การแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจกับสหรัฐฯ การเรียนรู้กฎหมายและขั้นตอนในการส่งออก และการทำความเข้าใจโอกาสและความท้าทายในการส่งออกสินค้าจากกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ
สิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี GSP ที่สหรัฐฯ ให้กัมพูชา ได้หมดอายุตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2563 และยังไม่มีการต่ออายุแต่อย่างใด ซึ่งภาคเอกชนกำลังรอคอยการตัดสินใจจากรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อต่ออายุสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี GSP ทั้งนี้ สิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี GSP ได้ช่วยให้สินค้าของกัมพูชาส่งออกไปยังสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม นาย Penn Sovicheat, Secretary of State of the Ministry of Commerce ของกัมพูชา กล่าวว่า ตลาดสหรัฐฯ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกที่สำคัญที่สุดสำหรับสินค้าของกัมพูชา ไม่ว่าสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี GSP จะได้รับการต่ออายุหรือไม่ก็ตาม
โอกาส/ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย
สิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี (GSP) ของสหรัฐฯ ทำให้กัมพูชาสามารถส่งออกสินค้ามากกว่า 5,000 รายการไปยังตลาดสหรัฐฯ โดยปลอดภาษีศุลกากร อย่างไรก็ตาม ระบบสิทธิพิเศษฯ ได้หมดอายุไปแล้ว ตั้งแต่ปลายปี 2563 ซึ่งทำให้ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และอื่นๆ ต้องเสียภาษีศุลกากรในการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา และปัจจุบันยังไม่สามารถคาดได้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯ
จะต่ออายุสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี GSP ให้กัมพูชา ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสินค้าเสื้อผ้า รองเท้า และอุปกรณ์การเดินทาง ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อรักษาผลประโยชน์ของธุรกิจกับ
การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ต่อไป
—————————
ที่มา: Phnom Penh Post
ธันวาคม 2566
อ่านข่าวฉบับเต็ม : สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออก อันดับ 1 ของกัมพูชา