หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > สหรัฐฯ นำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากประเทศผู้ผลิตในเอเชียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง – สคต. ชิคาโก

สหรัฐฯ นำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากประเทศผู้ผลิตในเอเชียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง – สคต. ชิคาโก

“ชาวอเมริกันนิยมเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุธรรมชาติและวัสดุนำกลับมาใช้เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน”

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีความต้องการบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมากหลายรายการรวมถึงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศขยายตัวสูง ผู้บริโภคชาวอเมริกันที่ตัดสินใจซื้อบ้านต่างต้องการซื้อสินค้าเฟอร์นิเจอร์เพื่อตกแต่งบ้านพักอาศัยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ในระหว่างปี 2564 – 2565 สหรัฐฯ มีมูลค่านำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 34.12 เป็นมูลค่าตลาดทั้งสิ้น 3.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ สหรัฐฯ เองยังถือเป็นประเทศที่มีมูลค่านำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์มากที่สุดในโลกอีกด้วย

แม้ว่าจีนจะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ครอบครองสัดส่วนตลาดสินค้าเฟอร์นิเจอร์สหรัฐฯ มากที่สุดมาโดยตลอดเป็นระยะเวลานานกว่าทศวรรษ แต่ด้วยปัจจัยด้านการดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ ตามนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ (Safeguard Measure) ด้วยการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น ประกอบกับการดำเนินนโยบายป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่เข้มงวดของรัฐบาลจีนส่งผลทำให้เวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญในตลาดสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ในสหรัฐฯ ได้ในปี 2565 ลค่าตลาดทั้งสิ้น 8.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.28 โดยกลุ่มสินค้าส่งออกที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ไม้ เฟอร์นิเจอร์ห้องนอนจากไม้ และเตียงนอนจากไม้ ในขณะที่จีนกลับมีมูลค่าตลาดลดลงเหลือทั้งสิ้น 7.81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.79 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด

Ms. Jade Russell ตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัท Design Environments ผู้รับเหมาตกแต่งภายในเชื่อว่า ปัจจัยด้านการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการจีนไปตั้งกิจการที่เวียดนามยังมีส่วนสำคัญสะท้อนยอดส่งออกของเวียนดนามในตลาดสหรัฐฯ อีกทั้ง ยังคาดว่า เวียดนามน่าจะมีมูลค่าการส่งออกในตลาดเพิ่มขยายตัวมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

นอกจากนี้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอินเดียยังเป็นประเทศผู้ส่งออกในเอเชียที่มีสัดส่วนส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไปยังสหรัฐฯ สูง ในปี 2565 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์จาก

  • มาเลเซีย มูลค่าทั้งสิ้น 1.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 5) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.20 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.29
  • อินโดนีเซีย มูลค่าทั้งสิ้น 1.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 7) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.04 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.22
  • อินเดีย มูลค่าทั้งสิ้น 759.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 9) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.60 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.41

ทั้งนี้ อินโดนีเซียและอินเดียถือเป็นประเทศผู้ส่งออกในเอเชียที่น่าจับตามองสูงในตลาดเนื่องจากทั้งสองประเทศต่างมีความได้เปรียบประเทศคู่แข่งในด้านจำนวนทรัพยากรสำหรับสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตโดยเฉพาะไม้ธรรมชาติซึ่งมีจำนวนมากภายในประเทศ เช่น ไม้มะฮอกกานี ไม้อะเคเซีย ไม้ยางพารา ไม้สน และไม้สัก เป็นต้น ถึงแม้ว่าปัจจัยด้านภาวะด้านการค้าการลงทุนในประเทศขณะนี้จะยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนขยายกิจการ แต่ด้วยปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำประกอบกับฝีมือแรงงานที่สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการน่าจะส่งผลทำให้ผู้นำเข้าเพิ่มคำสั่งซื้อสินค้าจากกลุ่มประเทศดังกล่าวมากขึ้น

สำหรับประเทศผู้ผลิตในภูมิภาคอเมริกาทั้งแคนาดาและเม็กซิโกเองต่างยังคงมีมูลค่าตลาดส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ สูง โดยในปี 2565 แคนาดา ส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 3) หดตัวลงร้อยละ 3.72  คิดเป็นสัดส่วนตลาดร้อยละ 9.40 เนื่องจากแคนาดาประสบปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตภายใน ประเทศค่อนข้างรุนแรงทำให้ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมได้แม้ว่าจะมีความได้เปรียบทั้งด้านระยะทางการขนส่งและข้อตกลงความร่วมมือทางการค้ากับสหรัฐฯ ก็ตาม ในขณะที่เม็กซิโกกลับได้รับอานิสงส์จากปัจจัยด้านความได้เปรียบดังกล่าวทำให้มียอดส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 4) ขยายตัวร้อยละ 19.56 คิดเป็นสัดส่วนตลาดร้อยละ 8.30 ในสหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกของเม็กซิโกที่ขยายตัว ได้แก่ เก้าอี้ไม้หุ้มเบาะ เฟอร์นิเจอร์ไม้สำหรับห้องครัว เป็นต้น

ในส่วนการส่งออกของไทยนั้น แม้ว่าจะยังมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไปยังตลาดสหรัฐฯ ไม่มากนักคิดเป็นเพียง ร้อยละ 2.12 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดในสหรัฐฯ เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 668.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 20.26 ในปี 2565 แต่หากพิจารณามูลค่าการส่งออกไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ระหว่างปี 2561 – 2565) พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไทยไปสหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 404.59 คิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อปี (Compound Average Growth Rate หรือ CAGR) ร้อยละ 49.88 ต่อปี ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อปีของสหรัฐฯ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 5.73 ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยกลุ่มสินค้าส่งออกศักยภาพของไทยในตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์เหล็กสำหรับสำนักงาน ชั้นวางของเหล็ก เฟอร์นิเจอร์ไม้ เก้าอี้ไม้ โต๊ะกินข้าวไม้ และเก้าอี้สนามไม้ เป็นต้น

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ตลาดสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง กว่า 2 ปีที่ผ่านมาตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงเนื่องจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น การดำเนินนโยบายรักษาอัตราดอกเบี้ยในตลาดใกล้เคียงกับศูนย์ และการดำเนินโครงการให้เงินช่วยเหลือชาวอเมริกันที่ได้รับผลกระทบจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นต้น ปัจจัยดังกล่าวส่งผลทำให้สหรัฐฯ มีความต้องการนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านเพิ่มมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของตลาดและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาด

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านภาวะเงินเฟ้อในตลาดสหรัฐฯ ที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการดำเนินมาตรการด้านอัตราดอกเบี้ยและมาตรการด้านการเงินในตลาดเพื่อควบคุมระดับอัตราเงินเฟ้อในตลาดส่งผลทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีพฤติกรรมชะลอการใช้จ่ายและการซื้อสินค้าขนาดใหญ่รวมถึงบ้านและอสังหาริมทรัพย์ลงส่งผลทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์

สหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในช่วงต้นปี 2566 ส่งผลทำให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์สหรัฐฯ ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2566 หดตัวลงเหลือมูลค่าทั้งสิ้น 4.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 16.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากไทยยังคงสามารถรักษาระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 91.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือลดลงเพียงร้อยละ 1.13 เท่านั้น

ทั้งนี้ คาดว่าปัจจัยด้านการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ สหรัฐฯ ไม่น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อความต้องการนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของสหรัฐฯ ในระยะยาวเนื่องจากปัจจุบันตลาดสหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณกำลังการซื้ออสังหาริมทรัพย์กลับเข้ามาในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากแนวโน้มการปรับตัวลดลงของราคาบ้านในตลาดเนื่องจากปัจจัยด้านอุปทานที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่า ปัจจัยดังกล่าวประกอบกับนโยบายการรักษาอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะช่วยให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ กลับมาฟื้นตัวได้ในปีนี้

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านการปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์ด้านการขาดแคลนวัตถุดิบการผลิต  ปัจจัยแนวโน้มค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ปรับตัวลดลงใกล้เคียงระดับปกติ และปัจจัยการแข็งค่าขึ้นของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐยังล้วนน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้สหรัฐฯ มีความต้องการนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์เพิ่มขึ้นในปีนี้ด้วย

โดยรวมสหรัฐฯ ยังถือว่าเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสูงสำหรับผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์รวมถึงสินค้าของตกแต่งบ้านไทยในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะคู่แข่งในภูมิภาคเอเชีย เช่น เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย ซึ่งมีจำนวนวัตถุดิบและความสามารถของแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมใกล้เคียงกับไทยในขณะที่มีต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะต้นทุนด้านค่าแรงงานในอุตสาหกรรมที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบจึงอาจจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและสัดส่วนตลาดให้กับคู่แข่งได้ในระยะยาว

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรพิจารณาปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการยกระดับอุตสาหกรรมเน้นการออกแบบสินค้าให้มีความน่าสนใจให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในตลาดปัจจุบันซึ่งให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายและการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน เช่น สินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่สนับสนุนระบบบ้านอัจฉริยะ เฟอร์นิเจอร์จากวัสดุธรรมชาติ และเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุนำกลับมาใช้ เป็นต้น ควบคู่ไปกับการควบคุมต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมจึงจะสามารถรักษาตลาดส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านไทยในตลาดสหรัฐฯ ได้ในระยะยาว

นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการค้าปลีก-ส่งสินค้าเฟอร์นิเจอร์ในตลาดสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มที่จะลดปริมาณการเก็บสินค้าคงคลังลงเพื่อลดต้นทุนด้านพื้นที่การเก็บรักษาสินค้า โดยผู้ประกอบการบางส่วนได้หันไปให้ความสำคัญกับการบริหารจัดห่วงโซ่อุปทานมากขึ้น ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยสามารถบริหารจัดการระยะเวลาการผลิตไปจนกระทั่งจัดส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพตรงตามระยะเวลาที่ผู้นำเข้ากำหนดก็น่าจะช่วยให้สินค้าไทยได้รับการสนับสนุนจากผู้นำเข้าในตลาดด้วย

สำนักข่าว Furniture Today

*************************************

ที่มา :

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login