สหรัฐฯ ประกาศบังคับใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้ายานยนต์ร้อยละ 25 ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2568 เป็นต้นไป โดยเป็นการดำเนินการตามมาตรา 232 ของกฎหมายส่งเสริมการค้าที่มุ่งใช้การกำหนดอัตราภาษี หรือข้อจำกัดทางการค้ากับประเทศที่สหรัฐฯ เสียดุลการค้าสูง รวมถึงญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี แม้จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ หากแต่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีอิชิบะ ยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว
สินค้าที่จะได้รับผลกระทบ รวมถึงรถยนต์นั่ง, รถ SUV และรถกระบะ (บางประเภท) รวมถึงชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง (เกียร์) และระบบขับเคลื่อน ทั้งนี้ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลง USMCA (สหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา) จะได้รับการยกเว้นภาษีในระยะแรก และจะพิจารณาปรับตามสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในสหรัฐฯ ทั้งนี้ เดิมอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์นั่งอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และรถบรรทุก ร้อยละ 25 ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะทำให้ภาษีรถยนต์นั่งปรับสูงขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 27.5 และรถบรรทุกร้อยละ 50
การขึ้นภาษีนำเข้าดังกล่าวกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกยานยนต์และส่วนประกอบไปยังสหรัฐฯ โดยในปี 2567 มูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงถึง 6.261 ล้านล้านเยน หรือร้อยละ 28.3 ของการส่งออกรวมของญี่ปุ่นไปยังตลาดนี้ อีกทั้งยังกระทบกับการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ของยานยนต์ญี่ปุ่นที่ผลิตในโรงงานที่เม็กซิโก และแคนาดาอีกด้วย นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าว ยังเป็นการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นพิจารณาขยายฐานการผลิตในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยอาจหยิบยกประเด็นการเป็นผู้ลงทุน FDI รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับต้น เพื่อต่อรองการใช้อัตราภาษีใหม่
ทั้งนี้ มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) จะเพิ่มรายได้ให้สหรัฐฯ กว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หากแต่มีข้อสังเกตุเกี่ยวกับศักยภาพในการฟื้นตัวในระยะยาวของอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ เนื่องจากแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลง โดยมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และพลังงานสะอาด
———————————————————————————————–
ที่มา: https://www.nikkei.com/article/DGXZQOGN25CDK0V20C25A3000000/
https://www3.nhk.or.jp/news/html/20250327/k10014761851000.html
อ่านข่าวฉบับเต็ม : สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้ายานยนต์ เมษายน 68 กระทบญี่ปุ่น