หน้าแรกTrade insightเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า > สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 23%

สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 23%

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นถึง 23% หรือ 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ดุลการค้าสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ขาดดุลอยู่ที่ 74,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนับว่ามากที่สุดในรอบ 6 เดือน  การขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการของสหรัฐฯ ที่ลดลงถึง 3.6% มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 มีมูลค่าอยู่ที่ 2.49 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่การนำเข้าสหรัฐฯ ในเดือนเมษายนนั้น เพิ่มขึ้น 1.5% มีมูลค่าอยู่ที่ 3.236 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ 

ทั้งนี้ หากปรับตามอัตราเงินเฟ้อนั้น พบว่าการขาดดุลการค้าในเดือนเมษายนนั้น จะเพิ่มเป็น 95,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนับว่าเป็นการขาดดุลที่มากที่สุดนับแต่เดือนมิถุนายน 2565

สำหรับการส่งออกนั้น ลดลงมากโดยเฉพาะในภาคสินค้า โดยลดลงถึง 9,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ พบว่า การส่งออกของสินค้าอุตสาหกรรมลดลงถึง 6,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคลดลง 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยลดลงมากโดยเฉพาะสำหรับสินค้าในกลุ่มยาและสินค้าสุขภาพ ซึ่งลดลง 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ อัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งลดลง 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในส่วนของการนำเข้านั้น พบว่าสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นถึง 5,2000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเฉพาะสำหรับสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และสำหรับสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ เพิ่มขึ้น 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ สำหรับสินค้าในกลุ่มอุตสากหกรรม พบว่าสหรัฐฯ นำเข้าเพิ่มขึ้น 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้น 1,800 เหรียญสหรัฐฯ โดยเฉพาะสำหรับโทรศัพท์มือถือและเครื่องใช้ในบ้าน ซึ่งเพิ่มขึ้นรวม 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม แม้การนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน การนำเข้าของภาคบริการลดลงถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

จากรายงานของ Bloomberg พบว่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าอุปสงค์ภายในประเทศของสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวทั้งสำหรับสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ สถิติการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในไตรมาสที่สองที่ผ่านมานั้น ยังบ่งชี้การใช้จ่ายที่แข็งแกร่งภายในสหรัฐฯ จากแรงหนุนของภาคแรงงานที่ยังคงดี 

อนึ่ง ตัวเลขการค้าล่าสุดของสหรัฐฯ ซึ่งขาดดุลเพิ่มขึ้นนั้น จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)   ของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่สองลดลงเล็กน้อย จากการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์จาก Capital Economies บริษัทให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของสหรัฐฯ คาดว่า GDP ของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ 0-1% สำหรับไตรมาสที่ 2 

ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงนั้น ยังคงไม่สามารถระบุแน่ชัดว่าอุปสงค์และการใช้จ่ายภายในประเทศของสหรัฐฯ จะยั่งยืนหรือไม่ ผู้ประกอบการไทยจึงควรที่จะติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรมุ่งที่จะเจาะตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ มีอุปสงค์ภายในประเทศ เพิ่มขึ้น เช่น สินค้าในกลุ่มยานยนต์และอะไหล่ สินค้าอุตสาหกรรมหนัก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใข้ในบ้าน

Bloomberg, U.S. Census Bureau

 สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login