วันที่ 16 พฤศจิกายน 2023 โฆษกกระทรวงต่างประเทศ (U.S. Department of State) ได้ออกประกาศว่า สหรัฐฯ จะร่วมมือกับประเทศฟิลิปปินส์ในการศึกษาหาโอกาสที่จะสร้างฟิลิปปินส์เป็นแหล่งอุปทาน semiconductor ของสหรัฐฯ โดยเริ่มจากการประเมินระบบนิเวศวิทยา กรอบการทำงานด้านกฎระเบียบ แรงงาน และโครงสร้างที่จำเป็นของอุตสาหกรรม semiconductor ในฟิลิปปินส์ ผลลัพธ์ที่ได้จากการประเมินในครั้งนี้จะใช้เป็นพื้นฐานในการริเริ่มโครงการความร่วมมือระหว่างกันเพื่อความก้าวหน้าของภาค semiconductor
กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์เป็นพันธมิตรสำคัญในการสร้างหลักประกันว่าห่วงโซ่อุปทาน semiconductor ของโลกจะสามารถก้าวทันการเปลี่ยนเข้าสู่ระบบดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ เน้นให้เห็นถึงศักยภาพที่สำคัญในการขยายอุตสาหกรรม semiconductor ของฟิลิปปินส์ที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ทั้งสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์
ในเดือนสิงหาคม 2022 ประธานาธิบดีไบเดนได้ลงนามในกฎหมาย CHIPS Act of 2022 ที่จัดสรรเงินทุนใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้กระตุ้นอุตสาหกรรมการผลิตและการพัฒนา semiconductors ภายในประเทศสหรัฐฯ นอกจากนี้ CHIPS Act of 2022 ยังจัดทำ ITSI Fund (International Technology Security and Innovation Fund) จัดสรรเงิน 500 ล้านเหรียญฯ (หรือปีละ 100 ล้านเหรียญฯ นาน 5 ปี โดยเริ่มต้นในปีงบประมาณ 2023) ให้แก่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อใช้ส่งเสริมการพัฒนา การประยุกต์ใช้ความมั่นคงและความน่าเชื่อถือของเครือข่ายการสื่อสารทางไกลมาใช้และสร้างหลักประกันให้แก่ความมั่นคงและกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทาน semiconductor
ที่มา: U.S. Department of State: “New Partnership with the Philippines to Explore Semiconductor Supply Chain Opportunities”, Media Note, Office of the Spokesperson, November 16, 2023
ข้อมูลเพิ่มเติม ข้อคิดเห็น และคำแนะนำของ สคต. ลอสแอนเจลิส
1. ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ของสหรัฐฯ เป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการสร้างความมั่นคงให้แก่ ระบบห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ และลดการพึ่งพาประเทศจีนแต่เพียงประเทศเดียว ด้วยการย้ายฐานการผลิตสินค้ากลับสหรัฐฯ (Reshoring) หรือการแสวงหาแหล่งอุปทานใหม่ๆ ในหลากหลายลักษณะ เช่น Nearshoring, Offshoring และ Friendshoring (หรือ Allyshoring ซึ่งคือ การแสวงหาอุปทานจากประเทศพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ) ในกรณีความร่วมมือกับประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นพันธมิตรยาวนานของสหรัฐฯ เข้าข่ายนโยบาย Friendshoring และนโยบายสร้างพันธมิตรกับนานาประเทศในการสร้างอุปทาน semiconductor
2. Semiconductors คือ องค์ประกอบสำคัญในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลากหลายชนิดที่ใช้แพร่หลายในชีวิตประจำวันปัจจุบัน รวมถึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในเทคโนโลยีก้าวหน้าที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในโลก เช่น digital technologies และ AI ดังนั้น ความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรม semiconductor จึงมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จในหลายภาคอุตสาหกรรม สหรัฐฯ จึงถือว่า semiconductors เป็นหัวใจสำคัญในการกระตุ้นความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ สร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก สร้างสหรัฐฯ ให้เป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก ทั้งยังสร้างงานจำนวนมากในสหรัฐฯ รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนจัดทำกฎหมาย CHIPS Act of 2022 (The Creating Helpful Incentives to Produce Semiconductors for America Act) จัดสรรงบประมาณ 52 พันล้านเหรียญฯ เพื่อส่งเสริมการผลิต chip ในสหรัฐฯ ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ (incentives) และเครดิตภาษี (tax credit) อีกจำนวนมากให้แก่บริษัทผู้ผลิต semiconductor ทั้งหมดนี้ เพื่อสนับสนุนการผลิตและการสร้างความมั่นคงให้แก่ตลาด semiconductor สหรัฐฯ
3. IBISWorld ประมาณการณ์มูลค่าอุตสาหกรรมการผลิต semiconductor และ circuit สหรัฐฯ ในปี 2022 ว่าเท่ากับ 64.5 พันล้านเหรียญฯ ลดลงร้อยละ 1.4 ขณะที่ Statista ประมาณการณ์ตลาด semiconductor สหรัฐฯ ว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 73.9 พันล้านเหรียญฯ
4. มูลค่านำเข้าสินค้ากลุ่ม semiconductor ของสหรัฐฯ เติบโตต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2019 มูลค่านำเข้าในปี 2022 เติบโตร้อยละ 30.55 และในระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2023 เติบโตร้อยละ 73.23
มูลค่านำเข้าจากประเทศไทยเติบโตอย่างมากสวนทางกับมูลค่านำเข้าจากฟิลิปปินส์ที่ลดลงต่อเนื่อง
จากเดิมที่เคยเป็นแหล่งอุปทาน semiconductor ลำดับ 12 ของสหรัฐฯ ในปี 2015 เมื่อเกิดวิกฤต COVID-19 และเริ่มเกิดการขาดแคลน semiconductor ในตลาดโลกในปี 2019 ประเทศไทยเลื่อนขึ้นเป็นแหล่งอุปทานอันดับ 6 และในระหว่างปี 2020 – 2022 เลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับ 3 รองจากมาเลเซียและเวียดนาม ทั้งนี้ จากมูลค่านำเข้าระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2023 สูงเป็นอันดับ 2 ที่ 3.2 พันล้านเหรียญฯ รองจากเวียดนาม เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปี 2022 ถึงร้อยละ 160.57 แสดงแนวโน้มว่าเมื่อสิ้นปี 2023 ประเทศไทยจะกลายเป็นแหล่งอุปทาน semiconductor อันดับ 2 ของสหรัฐฯ
ในปี 2015 ประเทศฟิลิปปินส์เป็นแหล่งอุปทาน semiconductor อันดับ 9 ของสหรัฐฯ ในปี 2019 – 2020 เป็นแหล่งอุปทานนำเข้าอันดับ 12 ของสหรัฐฯ ในปี 2021 และ 2022 ลดลงสถานะเป็นอันดับที่ 13 และ 14 ตามลำดับ มูลค่านำเข้าในระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2023 อยู่ในอันดับ 18 ที่ 1.6 ร้อยล้านเหรียญฯ ลดลงร้อยละ 21.41 อาจทำให้ในปี 2023 ฟิลิปปินส์กลายเป็นแหล่งอุปทานอันดับที่ 18 ของสหรัฐฯ
5. สคต. ลอสแอนเจลิสมีความเห็นว่า หากนโยบายความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ในภาคการผลิต Semiconductor ประสบความสำเร็จ มีความเป็นไปได้สูงที่จะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้ากลุ่ม semiconductor บางรายการจากประเทศไทย
อ่านข่าวฉบับเต็ม : สหรัฐอเมริกา วางแผนจะสร้างฟิลิปปินส์เป็นแหล่งอุปทาน semiconductor