เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 สำนักข่าว WAM ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์รายงานว่า Dr. Thani bin Ahmed Al Zeyoudi รัฐมนตรีแห่งรัฐประจำกระทรวงเศรษฐกิจสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รับผิดชอบด้านการค้าต่างประเทศ และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมตกลงที่จะเปิดการเจรจาข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคีเพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือในด้านเทคโนโลยี ในรูปแบบของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม Comprehensive Economic Partnership Agreement :CEPA) ระหว่างสองประเทศ มุ่งเน้นเปิดทางให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ และการลงทุนอย่างเสรีและเป็นประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งการเจรจารอบแรกจะจัดขึ้นที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2566
Dr. Thani Al Zeyoudi กล่าวว่าการเจรจาเหล่านี้เป็นอีกก้าวสําคัญในการเติบโตของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่แสดงบทบาทในฐานะผู้ขับเคลื่อนการค้าโลก และเน้นถึงความสัมพันธ์ที่กําลังพัฒนาระหว่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับไทย โดยระบุว่าการเจรจาดังกล่าวเป็นความก้าวหน้าตามขั้นตอนหลังจากการเปิดตัวสภาธุรกิจสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์-ไทย (UAE-Thai Business Council) ครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ประเทศไทยเป็นพันธมิตรทางการค้าและการลงทุนที่สําคัญของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยไทยเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความยินดีในการเติบโตทางการค้าทวิภาคีที่แข็งแกร่งของสองประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเชื่อว่า CEPA จะมอบโอกาสมากมายในภาคส่วนต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว ความมั่นคงด้านอาหาร ไอที โลจิสติกส์ และบริการทางการเงิน การเจรจาเหล่านี้เป็นอีกก้าวสําคัญในการเติบโตและเน้นถึงบทบาทของสองประเทศในฐานะผู้ขับเคลื่อนการค้าโลก
เศรษฐกิจของประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.8 ในปี 2566 โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่สําคัญของประเทศ นอกจากนี้ยังมีภาคบริการที่ได้รับการพัฒนาอย่างดี ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 58.3 ของ GDP ข้อตกลง CEPA ระหว่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และไทยจะต่อยอดการค้าที่ไม่ใช่น้ำมัน (non-oil trade) ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วระหว่างสองประเทศ
การเจรจา CEPA กับไทยเป็นการเจรจาล่าสุดภายใต้วาระการค้าต่างประเทศที่ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งพยายามที่จะเพิ่มการค้าต่างประเทศและเศรษฐกิจของประเทศเป็นสองเท่าภายในปี 2574
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีข้อตกลง CEPA กับ 4 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย อิสราเอล อินโดนีเซีย และตุรกี ทั้งนี้สองฉบับแรกมีผลบังคับใช้แล้ว และการลงนามในข้อตกลงอีกสองฉบับจะตามมาในภายหลัง ขณะนี้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กําลังเจรจากับตลาดที่มีความสําคัญเชิงกลยุทธ์มากขึ้นในระดับภูมิภาคและระดับโลกเพื่อสร้างข้อตกลงที่คล้ายคลึงกัน
ความเห็นของ สคต. ณ เมืองดูไบ
การจัดทำความตกลงฉบับนี้ เป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับแรกที่ไทยทำกับประเทศในตะวันออกกลาง โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยในตะวันออกกลาง ถือเป็นตลาดศักยภาพของไทย มีบทบาทเป็นศูนย์กลางการค้า การธนาคาร และการคมนาคมในตะวันออกกลาง ตลอดจนเป็นแหล่งขนถ่ายและส่งต่อสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค ในปี 2565 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 1 ในตะวันออกกลาง
การจัดทำความตกลง CEPA กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในครั้งนี้ จะช่วยให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้มากขึ้น โดยมูลค่าการค้าปี 2565 ระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประมาณ 730,000 ล้านบาท ซึ่งการส่งออกของไทยมีมูลค่า 119,000 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่าความตกลง CEPA ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศไม่ต่ำกว่า 10% ในทันที
สำหรับการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปี 2566 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 159,964 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มูลค่า 28,882 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.0 สินค้าสำคัญที่ส่งออก เช่น รถยนต์และอะไหล่ เครื่องประดับอัญมณี เครื่องปรับอากาศ ไม้และผลิตภัณฑ์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ยางรถยนต์ ปลากระป๋อง เครื่องจักร และตู้เย็นตู้แช่ เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้ามูลค่า 131,082 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.8 สินค้าหลักที่นำเข้า ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมัน สินแร่โลหะ ทองคำและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
————————————–
WAM / www.thaigov.go.th
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)