หน้าแรกTrade insightดัชนีเศรษฐกิจการค้า > สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนพฤศจิกายน 2563

สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนพฤศจิกายน 2563

สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนพฤศจิกายน 2563 

ภาพรวม

                   ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพฤศจิกายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.41 (YoY) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเป็นการหดตัวในอัตราน้อยที่สุดในรอบ 9 เดือน ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ จากความต้องการทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาฐาน ปีที่ผ่านมาต่ำ ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานยังคงหดตัว แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยหดตัวน้อยที่สุดในรอบ 9 เดือน นอกจากนี้ สินค้าในกลุ่มข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ราคาลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ สำหรับสินค้า ในหมวดอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับความต้องการ การส่งเสริมการขาย และปริมาณผลผลิต   เป็นสำคัญ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไปที่หักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) สูงขึ้นร้อยละ 0.18 (YoY)

                   เงินเฟ้อในเดือนนี้มีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ของภาครัฐ ทั้งมาตรการด้านการท่องเที่ยว และมาตรการสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ส่งผลดีต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ทิศทางของเงินเฟ้อที่ดีขึ้นดังกล่าว สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์และอุปทาน ในประเทศ โดยเฉพาะรายได้เกษตรกร ที่ยังขยายตัวต่อเนื่องตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น การประกันรายได้ การดูดซับผลผลิตออกจากตลาดไปทำพลังงานทางเลือก เป็นต้น รวมทั้งปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่เครื่องชี้ด้านอุปทานมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวน้อยลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนธันวาคม 2563

                   อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนธันวาคม 2563 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาและคาดว่าจะยังคงหดตัว แต่ในอัตราที่น้อยลง โดยสาเหตุสำคัญน่าจะมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ราคาน้ำมัน เริ่มทรงตัวและมีเสถียรภาพมากขึ้น ราคาสินค้าเกษตรและอาหารสดที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่องตามความต้องการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลากหลายรูปแบบที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในภาพรวมเพื่อชดเชยรายได้จาก การท่องเที่ยวและการส่งออกได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เสี่ยงต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าเงินเฟ้อทั้งปี 2563 จะอยู่ที่ร้อยละ -0.87 ± ไม่เกิน 0.02 ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ -1.5 ถึง -0.7
สำหรับปี 2564 สนค. ประมาณการณ์อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระหว่าง 0.7-1.7 โดยมีค่ากลางที่ 1.2 โดยมีปัจจัยสำคัญคือ ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 40-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนที่ 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ร้อยละ 3.5-4.5 

ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการแถลงข่าวเพิ่มเติมได้ที่ click

ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)

Login