หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > สรุปสถานการณ์ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับสหรัฐอเมริกา ตุลาคม 2023

สรุปสถานการณ์ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับสหรัฐอเมริกา ตุลาคม 2023

มูลค่าตลาดเครื่องประดับสหรัฐฯ:
มูลค่าตลาดเครื่องประดับสหรัฐฯแตกต่างกันไปตามวิธีการเก็บข้อมูลของแต่ละองค์กร สรุปได้ว่า มูลค่าตลาดเครื่องประดับสหรัฐฯอยู่ระหว่างประมาณ 60 – 70 พันล้านเหรียญฯ หรือ ประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าตลาดโลก และสหรัฐฯเป็นตลาดเครื่องประดับใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน ตามหลังมาด้วยอินเดีย ฮ่องกง และญี่ปุ่นที่ติดอันดับ 3, 4 และ 5 ของโลก ตามลำดับ และประมาณการณ์ว่าร้อยละ 14.2 ของมูลค่าตลาดเครื่องประดับโดยรวมของสหรัฐฯเป็นมูลค่าตลาดการค้าเครื่องประดับทางระบบออนไลน์ของสหรัฐฯ และคิดเป็นร้อยละ 38.18 ของมูลค่าการค้าเครื่องประดับทางระบบออนไลน์ทั่วโลก

ตลาดเครื่องประดับสหรัฐฯในปี 2023
ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 ผู้ค้าเครื่องประดับรายใหญ่ของสหรัฐฯหลายรายระบุยอดขายลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าระหว่างร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 12 และคาดการณ์ว่าการเติบโตของตลาดเครื่องประดับสหรัฐฯมีแนวโน้มสูงที่จะเริ่มอ่อนตัวลงในช่วงฤดูการค้าปลายปี 2023

การใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคสหรัฐฯเพื่อการบริโภคเครื่องประดับ:
ในปี 2021 คนอเมริกันใช้จ่ายเงินซื้อเครื่องประดับโดยเฉลี่ยประมาณ 136.33 เหรียญฯต่อคนต่อปี และครัวเรือนสหรัฐฯใช้จ่ายเงินซื้อเครื่องประดับโดยเฉลี่ย 434.3 เหรียญฯต่อครัวเรือนต่อปี
ข้อมูลของ Bureau of Economic Analysis (BEA) ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯประมาณการณ์มูลค่าการบริโภคสินค้าเครื่องประดับของคนอเมริกันในปี 2022 ว่าเท่ากับ 94.38 พันล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2021 ร้อยละ 2.81 เป็นอัตราเติบโตต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2020 และราคาขายปลีกเครื่องประดับมีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยร้อยละ 2 ต่อปี

แหล่งการค้าและการบริโภคสำคัญในสหรัฐฯ
รัฐแคลิฟอร์เนียมีธุรกิจค้าเครื่องประดับประมาณ 6,486 ราย Los Angeles Jewelry District ได้ชื่อว่าเป็น jewelry district ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ มีธุรกิจเครื่องประดับเกือบห้าพันราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจค้าส่ง เป็นหนึ่งในแหล่งค้าเพชรที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯจนได้ชื่ออีกชื่อว่าเป็น Los Angeles Diamond District

รองลงมาคือนิวยอร์คมีประมาณ 5,444 ราย และมี Jewelry District/Diamond District ที่ถือเป็นศูนย์กลางการค้าเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลกและในสหรัฐฯ

ฟลอริด้ามีประมาณ 4,671 ราย  และมี Jewelry District ที่มีร้านค้ามากกว่า 400 ราย

ช่องทางกระจายสินค้าเครื่องประดับในสหรัฐฯ

ช่องทางร้านค้าปลีกเครื่องประดับ เกือบทั้งสิ้นเป็น specialty store หรือร้านค้าปลีกที่เน้นขายเฉพาะครื่องประดับ และอาจจะเป็นเฉพาะแบรนด์ จำนวนร้านค้าปลีกสินค้าเครื่องประดับในสหรัฐฯแสดงแนวโน้มลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2018 ในอัตราประมาณร้อยละ 2.4 ต่อปี ประมาณการณ์ว่าในปี 2023 สหรัฐฯมีธุรกิจค้าปลีกสินค้าเครื่องประดับระหว่าง 45,792 – 61,892 แห่ง ลดลงจากปี 2022 ระหว่างร้อยละ 2.1 – 2.4

ร้านค้าเครื่องประดับสำคัญในสหรัฐฯ เรียงตามลำดับมูลค่าการขายในปี 2022 ได้แก่

1.  Signet Jewelers Ltd. 7.29 พันล้านเหรียญฯ

2.  Walmart 3.38 พันล้านเหรียญฯ
3.  Compagnie Financiere Richement 3.37 พันล้านเหรียญฯ
4.  Amazon.com Inc. 3 พันล้านเหรียญฯ
5.  LVMH Moet Hennessy Louis Vuitton 2.83 พันล้านเหรียญฯ

6.  Costco Wholesale Corp. 2.08 พันล้านเหรียญฯ

7.  Macy’s Inc. 1.70 พันล้านเหรียญฯ
8.  Nonatum Capital Partners 918 ล้านเหรียญฯ
9.  Pandora 806 ล้านเหรียญฯ
10.  Bucherer Group 791 ล้านเหรียญฯ

ช่องทางกระจายสินค้าเครื่องประดับที่กำลังมีการเติบโตต่อเนื่องคือ ช่องทางการขายทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีขนาดใหญ่ติดอันดับโลก Statista Market Insight และ ecommerceDB ประมาณการณ์รายได้การค้าสินค้าเครื่องประดับในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สหรัฐฯระหว่างปี 2021 – 2022 อยู่ที่ประมาณ 3.13 และ 3.31 พันล้านเหรียญฯตามลำดับและคาดว่าในปี 2023 จะมีรายได้ประมาณ 3.57 พันล้านเหรียญฯ website ขายสินค้าเครื่องประดับที่ได้รับความนิยมในสหรัฐฯ เรียงตามลำดับรายได้ในปี 2022 ได้แก่
1. www.bluenile.com 509.9 ล้านเหรียญฯ
2. www.brilliantearth.com 385 ล้านเหรียญฯ
3. www.zales.com 355.9 ล้านเหรียญฯ
4. www.jamesallen.com 350.3 ล้านเหรียญฯ
5. www.kay.com 326.5 ล้านเหรียญฯ
เป็นที่สังเกตได้ว่า 4 ใน 5 ธุรกิจข้างต้น คือ Blue Nile, Zales, JamesAllen และ Kay เป็นแบรนด์ของบริษัท Signet Jewelers

ช่วงเวลาสำคัญของการค้าเครื่องประดับในสหรัฐฯ
ช่วงเวลาสูงสุดของการค้าเครื่องประดับทั่วไปในสหรัฐฯคือช่วงเทศกาลสิ้นปี ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึง ธันวาคม รองลงมาคือช่วงวัน Valentine’s และวันแม่ สำหรับเครื่องประดับสำหรับใช้ในงานหมั้น/งานแต่งงาน ช่วงเวลาสูงสุดของการค้าคือช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม ก่อนหน้าช่วงเวลาที่คนอเมริกันนิยมจัดงานแต่งงานในระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน

ลักษณะผู้บริโภคเครื่องประดับในสหรัฐฯ
ข้อมูลล่าสุดจาก Zippia ระบุลักษณะผู้บริโภคเครื่องประดับในสหรัฐฯในปี 2021 ไว้ ดังนี้
1. ร้อยละ 50.5 เป็นเพศหญิง ที่เหลือเป็นเพศชาย
2. ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว (ร้อยละ 62.8) รองลงมาคือคนอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิกและลาติน (ร้อยละ 14.5) คนอเมริกันเชื้อสายเอเซีย (ร้อยละ 11.7)
3. อายุเฉลี่ยประมาณ 46 ปี กลุ่ม Millennial โดยเฉลี่ยใช้จ่ายเงินซื้อเครื่องประดับประมาณ 203 เหรียญฯต่อปี หรือสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของคนอเมริกันทั้งสิ้นร้อยละ 157.9

ชนิดของสินค้าเครื่องประดับที่นิยมบริโภคในสหรัฐฯ
การสำรวจการใช้เครื่องประดับที่สตรีอเมริกันนิยมใช้อยู่เป็นประจำ จัดทำโดย Diamond Nexus พบว่า

ความท้าทายปัจจุบันในตลาดการค้าเครื่องประดับสหรัฐฯ
(1) แรงกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจที่มาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าสถานการณ์เงินเฟ้อจะลดระดับความรุนแรงลงแต่ยังคงเติบโตกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 2 ข้อมูลล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2023 อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 3.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.6 อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนที่ร้อยละ 5.5 เปรียบเทียบกับร้อยละ 3.25 ของระยะเวลาเดียวกันในปี 2022 ปัจจุบันธนาคารกลางสหรัฐฯกำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระหว่างร้อยละ 5.25 – 5.50 และคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 5 นานไปจนสิ้นปี 2024 มีแนวโน้มว่า หากสภาวะเงินเฟ้อยังคงเติบโตต่อเนื่อง ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเครดิตการ์ดเพิ่มสูงขึ้นอีกจากอัตราล่าสุดในปัจจุบันเฉลี่ยที่ร้อยละ 24.45 สถานการณ์เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยกำลังส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคทุกระดับเศรษฐกิจและไปลดโอกาสการขายสินค้าเครื่องประดับ แม้กระทั่งการขายในช่วงเทศกาลปลายปีที่ปกติเป็นช่วงเวลาสูงสุดของการขาย

(2) ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากสภาวะเงินเฟ้อแล้ว ยังมีสาเหตุมาจาก

(2.1) ความเสียหายที่มาจากร้านค้าถูกปล้น ปัจจุบันการปล้นร้าน ค้าเครื่องประดับในสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้น เฉพาะในปี 2022 มีการปล้นร้านเครื่องประดับรวมทั้งสิ้นมากกว่าสองพันครั้ง สูงเป็นประวัติการและสูงกว่าจำนวนการปล้นในปี 2021 ร้อยละ 31 ร้านค้าสูญเครื่องประดับรวมกันคิดเป็นเงินประมาณ 129.4 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2021 ร้อยละ 84

(2.2) ตลาดแรงงานตึงตัวอย่างมากและค่าจ้างแรงงานที่พุ่งสูงขึ้น ปัจจุบันอัตราว่างในสหรัฐฯอยู่ในระดับต่ำมากที่ร้อยละ 3.8 ส่งผลให้เกิดการแย่งแรงงานและการเสนออัตราค่าจ้างแรงที่สูงกว่าระดับต่ำที่กฎหมายกำหนดที่อยู่ระหว่าง 7.25 – 17 เหรียญฯต่อชั่วโมงแตกต่างกันในแต่ละมลรัฐ มลรัฐขนาดใหญ่ที่เป็นตลาดการค้าสินค้าเครื่องประดับที่สำคัญ คือ แคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ค และฟลอริดา มีอัตราค่าแรงระดับต่ำสูงเกินกว่าอัตราขั้นต่ำโดยเฉลี่ยของประเทศคือ ร้อยละ 15.50, 15.00 และ 12.00 เหรียญฯตามลำดับ

(3) ความต้องการแต่งงานของคนอเมริกันลดลงหรือชะลอออกไป ในปี 2023 อัตราการแต่งงานในสหรัฐฯคือ 6 คนต่อ 1,000 คน แต่ละปีจะมีคู่สมรสโดยเฉลี่ยประมาณ 2.8 ล้านคู่ ในปี 2022 ลดลงเหลือ 2.5 ล้านคู่ และคาดการณ์ว่าในปี 2023 จะลดลงเหลือระหว่าง 2.1 – 2.2 ล้านคู่ มีรายงานว่าคนอเมริกันรุ่น Millennials ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะซื้อสินค้าเครื่องประดับมากที่สุดเป็นกลุ่มที่มีความสนใจจะแต่งงานน้อยที่สุด ส่งผลกระทบต่อการค้าเครื่องประดับที่เป็นแหวนหมั้น/แหวนแต่งงานเป็นการลดโอกาสการขาย ในปี 2021 รัฐที่มีอัตราการแต่งงานสูงสุดเรียงตามลำดับคือ เนวาด้า ฮาวาย มอนตาน่า ยูท่าห์ และอาร์คันซอร์ รัฐที่มีอัตราการแต่งงานต่ำสุดเรียงตามลำดับคือ หลุยเซียน่า แมสซาจูเซท อิลินอยส์ มินิโซต้า และ เดลาแวร์ อย่างไรก็ดีบริษัท Signet ผู้ค้าเครื่องประดับรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯและยอดขายเครื่องประดับสำหรับงานแต่งงานคิดเป็นร้อยละ 50 ของยอดขายรวมทั้งสิ้น คาดการณ์ว่าในปี 2024 อัตราการแต่งงานจะเพิ่มสูขึ้นเป็นระหว่าง 2.4 – 2.5 ล้านคู่

(4) สงครามและความขัดแย้งในภาคพื้นต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสู้รบในอิสราเอลที่เป็นแหล่งอุปทานส่งออกเพชรที่สำคัญสูงสุดของโลกและของสหรัฐ และการออกกฎหมายสหรัฐฯห้ามนำเข้า blood diamond จากแหล่งผลิตในอาฟริกา เช่น Sierra Leone, Angola, Ivory Coast, Liberia, Guinea และ Guinea-Bissau

งานแสดงสินค้าเครื่องประดับที่สำคัญในสหรัฐฯ
1. Tucson Gem & Jewelry Show, www.jogsshow.com จัดที่ Tucson Expo Center, Tucson, Arizona เป็นงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในระดับผู้ค้าส่งที่เปิดให้ผู้บริโภคทั่วไปเข้าชมและซื้อสินค้าได้ กำหนดการจัดงานครั้งต่อไป
Tucson Winter Gem & Jewelry Show วันที่ 24 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2024
Tucson Fall Gem & Jewelry Show วันที่ 29 สิงหาคม – 14 กันยายน 2024

2. Jewelry Circular Keystone (JCK) Las Vegas https://lasvegas.jckonline.com  งานแสดงสินค้าเครื่องประดับสำหรับภาคธุรกิจ ไม่เปิดให้ผู้บริโภคทั่วไปเข้าชม จัดที่ The Venetian Expo, Las Vegas, Nevada กำหนดการจัดงานครั้งต่อไป วันที่ 31 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2024

การค้าสินค้าเครื่องประดับระหว่างประเทศของสหรัฐฯ
มูลค่านำเข้ารวมในปี 2022 ประมาณ 98 พันล้านเหรียญฯลดลงจากปี 2021 ร้อยละ 0.23 ในระยะ 8 เดือนแรก(มกราคม – สิงหาคม 2023) มูลค่านำเข้าประมาณ 63 พันล้านเหรียญฯลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2022 ร้อยละ 7.14

การนำเข้าสินค้ากลุ่มอัญมณีมีค่าและเครื่องประดับจากในปี 2022 ประมาณ 2 พันล้านเหรียญฯเติบโตร้อยละ 16.96 และในระยะ 8 เดือนแรกของปี 2023 มูลค่านำเข้าจากไทย 1.1 พันล้านเหรียญฯ ลดลงร้อยละ 11.58 สินค้าสำคัญที่สหรัฐฯนำเข้าจากไทยในปี 2022 และ 2023 เรียงตามลำดับมูลค่านำเข้า (ล้านเหรียญฯ) แสดงให้เห็นว่าการนำเข้า อัญมณีมีค่าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องประดับ มีการเติบโตมากกว่าการนำเข้าเครื่องประดับสำเร็จรูป ดังนี้

กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเครื่องประดับ โดยสรุป
1. การนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่า 2,500 เหรียญฯและสูงกว่านั้น จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการนำเข้าอย่างเป็นทางการ Formal Entry โดยต้องมีเอกสารประกอบการนำเข้าคือ
(1) Commercial Invoice จากผู้ส่งออก
(2) Packing List
(3) Bill of Lading (B/L, BOL) สำหรับการขนส่งทางทะเล
(4) Air Waybill (AWB) สำหรับการขนส่งทางอากาศ
(5) Entry Manifest (CBP Form 7533)

2. ผู้นำเข้าไม่ต้องมีใบอนุญาตนำเข้า (import license) แต่ต้องวางพันธบัตร (bond) ไว้กับ U.S. Customs and Border Protection (CBP)

3. สินค้าต้องมีการปิดฉลากและการโฆษณาภายใต้กฎระเบียบของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ หน่วยงาน Federal Trade Commission (FTC) และ Transportation Security Administration ด้วยการระบุสินค้าตามคำจำกัดความของ FTC เช่น precious, semi-precious, imitation, cultured pearls, imitation pearl และอื่นๆ

4. การทำธุรกิจการค้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับกับสหรัฐฯ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบเรื่อง Anti-Money Laundering (AML) หรือ Patriot Act โดยสรุปคือ ในแต่ละปี ถ้ามีการนำเข้าเครื่องประดับที่ร้อยละ 50 ของมูลค่าสินค้ามาจากอัญมณีหรือโลหะ หรือ การซื้อขายสินค้าอัญมณีและหรือโลหะมีค่าที่มีมูลค่า 50,000 เหรียญฯหรือมากกว่านั้น การค้าดังกล่าวจะถูกเพ่งเล็งโดยอัตโนมัติว่าเข้าข่าย AML ผู้ค้าจะต้องศึกษาวิธีปฏิบัติที่จะทำให้การค้าดังกล่าวไม่เป็น AML

5. เพชร ไข่มุก อัญมณีมีค่า ที่ยังไม่ได้ร้อยเข้าตัวเรือนเป็นเครื่องประดับ และมาจากประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าที่เป็นปกติกับสหรัฐฯ (normal trade relations) ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ในกรณีที่ถูกนำไปเข้าตัวเรือนเป็นเครื่องประดับสำเร็จรูปแล้ว ต้องเสียภาษีนำเข้าระหว่างร้อยละ 3 – 13.5 ขึ้นอยู่กับรายละเอียดสินค้า ศึกษาอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯได้ที่ https://hts.usitc.gov/ โดยไปที่ chapter 71 ตรวจอัตราภาษีในช่อง Rate of Duty, General

ในกรณีที่ช่อง Special มีคำว่า Free (A …) หมายถึงสินค้ารายดังกล่าวได้รับสิทธิพิเศษ GSP ไม่ต้องเสียภาษี ในกรณีที่เป็น Free (A*…) ต้องตรวจสอบว่า สินค้ารายดังกล่าว ประเทศไทยยังคงได้รับสิทธิ GSP หรือถูกถอนสิทธิ
GSP ไปแล้ว

ที่มา:
1. CWC: “Jewelry Market Statistics (2023)
2. Instore: “Jewelry Retailers Share What They Believe to Be their Biggest Upcoming Challenges for 4th Quarter”, by instore staff, October 11, 2023
3. CNN: “After 2023 wraps up, get ready for a spike in marriage proposals”, by Parija Kavilanz, September 17, 2023
4. CWC: “Jewelry Market Statistics (2023), September 14, 2023
5. The Israel Diamond Industry: “State of the Major Report: Signet Remains the Biggest Superseller in the US”, September 9, 2023
6. ECDB: “Top 5 Jewelry Stores in the United States: Growth, Markets and Development, by Cihan Uzunoglu, September 26, 2023
7. Diamond Nexus: “Infographic: Most Popular Jewelry Styles”
8. National Jeweler: “Signet’s QF2 Same-Store Sales Fall 12%”, by Lenore Fedow, August 31, 2023
9. Forbes: “Jewelry Market Must Prepare For A Steep Drop and Signet Jewelers Is Ready”, by Pamela N. Danziger, March 21, 2022

ที่มา :

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login