เงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2565 เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาเล็กน้อย
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (CPI) เดือนมิถุนายน 2565 เท่ากับ 107.58 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2565 (106.62) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.90 (MoM) ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้นร้อยละ 1.40 (MoM) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 7.66 (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐที่พยายามช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ และผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการตรึงราคาขายปลีกเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยคำนึงถึงการได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างสมดุล ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม หากมองในมิติการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ พบว่าปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงานทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 61.83 และทำให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวร้อยละ 7.66 (YoY) นอกจากนี้ เป็นผลจากหลักการของการคำนวณเงินเฟ้อที่ต้องนำดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนปี 2565ที่ระดับ 107.58 มาคำนวณกับเดือนมิถุนายนปี 2564 ที่ระดับฐานต่ำ (99.93) ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2565 มีผลลัพธ์ในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นที่ร้อยละ 7.66
สินค้าสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 7.66 (YoY)
- กลุ่มพลังงาน มีอัตราการเติบโตของราคาร้อยละ 39.97 จึงส่งผลให้พลังงานมีสัดส่วนถึงร้อยละ 61.83 ของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ ทั้งนี้ สินค้ากลุ่มพลังงานประกอบด้วย น้ำมันเชื้อเพลิง มีอัตราการเติบโตของราคาร้อยละ 39.45 ค่าไฟฟ้าร้อยละ 45.41 และราคาก๊าซหุงต้มร้อยละ 12.63
- กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีอัตราการเติบโตของราคาร้อยละ 6.42 จึงส่งผลให้กลุ่มอาหารมีสัดส่วนร้อยละ 34.27 ของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ และเครื่องประกอบอาหาร สาเหตุที่กลุ่มอาหารมีราคาเปลี่ยนแปลงเนื่องจากพลังงานเป็นต้นทุนแฝงในกระบวนการผลิตสินค้าอาหารทุกขั้นตอน ตลอดจนเป็นต้นทุนโลจิสติกส์ และราคาวัตถุดิบทั้งหมด
- สินค้าอื่น ๆ มีสัดส่วนร้อยละ 3.9 ของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ อาทิ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม) ของใช้ส่วนบุคคล (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน) ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (บุหรี่ เบียร์ สุรา) และค่าโดยสารสาธารณะ ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ขณะที่สินค้าสำคัญอีกหลายรายการราคาปรับลดลง
- กลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลงร้อยละ 2.73 โดยเฉพาะราคาข้าวสาร เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีจำนวนมาก และการจัดโปรโมชันตามห้างสรรพสินค้า
- กลุ่มผลไม้สด ลดลงร้อยละ 2.53 อาทิ เงาะ มังคุด ลองกอง ตามปริมาณผลผลิตที่มีค่อนข้างมาก
- กลุ่มการสื่อสาร ลดลงร้อยละ 0.08 อาทิ ค่าส่งพัสดุไปรษณีย์ และค่าเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ
ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)