หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > สภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสที่สองของสหรัฐฯ

สภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสที่สองของสหรัฐฯ

เนื้อหาสาระข่าว: สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ (Bureau of Economic Analysis: BEA) ได้เผยข้อมูลสถานการณ์บัญชีเดินสะพัดล่าสุดในไตรมาสที่สองของสหรัฐฯ พบว่าบัญชีเดินสะพัดอยู่ในสถานะขาดดุลต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปี แม้ว่าจะขาดดุลลดลงในระดับน้อยมาก โดยลดลงจาก 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 212.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงไปเพียง 1.1% จากไตรมาสแรก ซึ่งทาง BEA ได้แจกแจงว่าการปรับตัวลดลงของสถานะขาดดุลครั้งนี้ เป็นผลมาจากการขยายตัวของภาคการบริการ และปริมาณรายได้ขั้มปฐมภูมิ (Primary Income) ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมาทดแทนรายได้ส่วนที่ขาดดุลไปจากภาคการส่งออก – นำเข้าของสหรัฐฯ

สำหรับภาคการส่งออกสินค้าและบริการของสหรัฐฯ นั้น รายได้จากภาคการส่งออกลดลงกว่า 7.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลงมาอยู่ที่ 1.15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เช่นเดียวกันกับภาคการนำเข้าของสหรัฐฯ ลดลงกว่า 10.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลงมาอยู่ที่ 1.36 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในไตรมาสที่สอง

โดยหากเราแยกต่างหากเฉพาะกับสินค้าและบริการ จะพบว่าในภาคการส่งออกสินค้าอย่างเดียวนั้นลดลงไป 29 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดมาอยู่ที่ 497.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่การนำเข้าสินค้าอย่างเดียวนั้นลดลงไป 17.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลงมาอยู่ที่ 772.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการลดลงของปริมาณสินค้าประเภทวัตถุดิบ และวัสดุในภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ทางปิโตรเคมี

สำหรับในภาคการบริการอย่างเดียว พบว่าการส่งออกของภาคบริการเพิ่มขึ้นกว่า 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 247.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สะท้อนให้เห้นถึงการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยว และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่การนำเข้าของภาคธุรกิจลดลงกว่า 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลงมาอยู่ที่ 175.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นการปรับตัวลดลงของภาคการคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการคมนาคมทางทะเล

บทวิเคราะห์ และข้อเสนอแนะ: ข้อมูลที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกมายังสหรัฐฯ อยู่ที่อัตราการนำเข้าทั้งภาคสินค้า และภาคบริการของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงในไตรมาสที่สองที่ผ่านมา โดยการปรับตัวลดลงดังกล่าว อาจมีที่มาจากปัจจัยสภาพเศรษฐกิจภายในของสหรัฐฯ และอาจจะมีปัจจัยอื่นๆ เป็นตัวแปรสำคัญร่วมด้วย ซึ่งทำให้เกิดสภาวะการนำเข้าที่ชะลอตัวในช่วงไตรมาสที่ผ่านมานี้ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากข้อมูลสถิติในตารางด้านล่างจะพบว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปี (ก่อนเข้าสู่ไตรมาสที่สาม) ในปี 2022 นั้นอัตราการนำเข้าค่อนข้างทรงตัว แต่ทว่าในปี 2021 อัตราการนำเข้านั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยจากข้อมูลเชิงสถิติที่ได้กล่าวไปในข้างต้น อาจใช้เป็นข้อมูลประกอบพิจารณาแนวโน้ม และความน่าจะเป็นของทิศทางอัตราการนำเข้าของสหรัฐฯ หลังจากนี้ โดยอาจพิจารณาปัจจัยร่วมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือการปรับตัวเพิ่มขึ้นของรายได้ขั้นปฐมภูมิ ซึ่งหมายถึงรายได้และกำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นภายในสหรัฐฯ ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญสหรับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสำคัญส่งท้ายปี

*********************************************************

ที่มา: U.S. Bureau of Economic Analysis
เรื่อง: U.S. International Transactions, 2nd Quarter 2023
โดย: U.S. Bureau of Economic Analysis
สคต. ไมอามี /วันที่ 22 กันยายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login