หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > สปป.ลาว กำลังพิจารณายกเว้นภาษีกำไร (Profit Vat) 30 ปี เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ

สปป.ลาว กำลังพิจารณายกเว้นภาษีกำไร (Profit Vat) 30 ปี เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ

สปป.ลาว กำลังพิจารณายกเว้นภาษีกำไร (Profit Vat) 30 ปี เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ นโยบายดังกล่าวได้รับการนำเสนอโดยนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และอยู่ระหว่างการพิจารณาในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 2 ของรัฐสภาชุดที่ 9 ในวันที่ 20 มีนาคม 2568 ซึ่งมีนายไชสมพร พรหมวิหาร ประธานสภาแห่งชาติ เป็นประธานในการประชุม

 

นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ได้มีการศึกษาและพัฒนามาตั้งแต่ปี 2561 โดยบริษัท อมตะ ซิตี้ ลาว ซึ่งมีพื้นที่พัฒนาครอบคลุม 3 เมือง ใน 2 แขวง ได้แก่ เมืองนาหม้อ เมืองนาเตย แขวงอุดมไซ และเมืองหลวงน้ำทา แขวงหลวงน้ำทา คาดว่าการก่อสร้างจะเริ่มต้นในปีนี้

 

ตามข้อเสนอของรองนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้กำหนดเงื่อนไขเฉพาะสำหรับผู้พัฒนาและนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ เพื่อรับนโยบายพิเศษนี้ พวกเขาจะต้องเป็นนักลงทุนในพื้นที่ที่ได้ลงนามข้อตกลงกับรัฐบาล ได้แก่ การลงทุนในเมืองนาหม้อ แขวงอุดมไซ และพื้นที่เมืองนาเตย แขวงหลวงน้ำทา ลงทุนในกิจกรรมส่งเสริมพิเศษที่ทางราชการกำหนด 4 ประเภท คือ 1) อุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตรที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลักเพื่อการส่งออก 2) อุตสาหกรรมการผลิตแผงโซลาร์เซลล์และพลังงานหมุนเวียน 3) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน และ 4) อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ การลงทุนจะต้องดำเนินการภายใน 7 ปี นับจากวันที่ดำรัสว่าด้วยนิคมอุตสาหกรรมอมตะ มีผลบังคับใช้

 

ผู้พัฒนาต้องปฏิบัติตามภาระผูกพัน 14 ประการ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 ของดำรัสฉบับรวม และต้องปฏิบัติตามภาระผูกพันเพิ่มเติมอีก 10 ประการ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 14 ดำรัสว่าด้วยนิคมอุตสาหกรรมอมตะ นอกจากผู้ลงทุนจะต้องปฏิบัติตามข้อผูกพัน 11 ประการ ตามมาตรา 26 ของดำรัสฉบับรวมแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันเพิ่มเติมอีก 7 ประการ ตามมาตรา 18 ดำรัสว่าด้วยนิคมอุตสาหกรรมอมตะ อีกด้วย

 

นโยบายยกเว้นภาษีกำไร 30 ปี นั้นมีให้เฉพาะนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม (ผู้ที่มาตั้งโรงงาน) เท่านั้น ส่วนผู้พัฒนาจะได้รับนโยบายส่งเสริมตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายส่งเสริมการลงทุนและจะต้องดึงดูดและระดมเงินทุนจำนวน 4.5 – 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าสู่เขตนิคมอุตสาหกรรมในระยะเวลา 5 – 7 ปีนับจากเริ่มต้นการพัฒนา

 

นายสะเหลิมไซ กมมะสิด เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินนโยบายนี้ “นโยบายยกเว้นภาษีกำไร 30 ปี ถือเป็นนโยบายระดับสูงเมื่อเทียบกับนโยบายที่คล้ายคลึงกันในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน” รองนายกรัฐมนตรีสะเหลิมไซ กล่าว

 

รองนายกรัฐมนตรีสะเหลิมไซ ยังชี้แจงว่า ประเทศเรามีข้อจำกัดหลายประการเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น ที่ตั้งของโครงการทางภูมิศาสตร์ที่ไม่เอื้ออำนวย ในขณะเดียวกันโครงสร้างพื้นฐานยังขาดการพัฒนา และผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ดังกล่าว จำเป็นต้องลงทุนอย่างหนัก ตลาดภายในประเทศของสปป.ลาว ยังมีจำกัด ในขณะที่ความสะดวกในการลงทุนในประเทศของเรานั้นอยู่ในอันดับต่ำมาก (154 จาก 190 ประเทศ) ประเทศของเรายังคงประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงิน แหล่งทุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีจำกัด และแรงงานหนุ่มสาวจำนวนมากย้ายไปทำงานต่างประเทศ ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน ในขณะเดียวกัน การลงทุนจากต่างชาติในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปของเรามีจำกัดมาหลายปี โดยส่วนใหญ่เน้นไปที่ภาคพลังงานและการทำเหมืองแร่

 

ท่านรองนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า “การยกเว้นภาษีรายได้นี้ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลใช้ในการดึงดูดและกระตุ้นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมแปรรูป รวมถึงการสร้างงานและดึงดูดแรงงานกลับเข้ามาในประเทศ ตลอดจนดึงดูดเงินทุนเข้ามาในประเทศเพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงินและเงินตราให้กับประเทศ” ซึ่งหลังจากสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การลงทุนจากต่างชาติในอาเซียนเริ่มฟื้นตัว แต่การลงทุนส่วนใหญ่ไหลเข้าไปยังประเทศที่มีสภาวะภายในประเทศดีกว่า เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงกว่า ขณะที่มาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ ก็มีการปรับปรุงนโยบายและปัจจัยภายในประเทศเพื่อให้สามารถแข่งขันได้เช่นกัน

 

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับประเทศเรา นโยบายการให้ยกเว้นภาษีกำไรสูงสุด 30 ปีในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ถือเป็นนโยบายสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ก็เป็นการชดเชยจุดอ่อนที่เรายังแข่งขันกับเพื่อนบ้านอาเซียนไม่ได้เช่นกัน”

 

โครงการพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่อีกโครงการหนึ่งของ สปป.ลาว คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามรายงานของสื่อมวลชนไทย เมื่อสร้างแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตามการยกเว้นภาษีกำไรเป็นนโยบายที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการลดแหล่งรายได้ที่สามารถนำมาใช้พัฒนาประเทศ การลดความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตในท้องถิ่น และอาจนำไปสู่การละเลยภาคส่วนอื่นๆ และเศรษฐกิจไม่พัฒนาอย่างเต็มที่ เป็นต้น

******************************************

ที่มา Vientiane Times

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว

อ่านข่าวฉบับเต็ม : สปป.ลาว กำลังพิจารณายกเว้นภาษีกำไร (Profit Vat) 30 ปี เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ

Login