หน้าแรกTrade insight > สนค. แนะโอกาสขายสินค้า ป้อนร้านดิสเคาน์เตอร์ในสหภาพยุโรป

สนค. แนะโอกาสขายสินค้า ป้อนร้านดิสเคาน์เตอร์ในสหภาพยุโรป

สนค. แนะโอกาสขายสินค้า ป้อนร้านดิสเคาน์เตอร์ในสหภาพยุโรป

                    สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แนะผู้ส่งออกไทยศึกษาตลาดค้าปลีกในสหภาพยุโรป หลังพบร้านค้าปลีกรูปแบบดิสเคาน์เตอร์ มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ชี้ต้องปรับตัว มีบรรจุภัณฑ์ขนส่งง่าย แข็งแรง รองรับการค้าออนไลน์ สินค้าต้องเล็กลงเพื่อให้ขายในตู้อัตโนมัติได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฉลากชัดเจน ตรวจสอบได้ผ่าน QR Code หรือ Bar Code พร้อมใช้ช่องทางออนไลน์เจาะตลาด

                    นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ศึกษารูปแบบและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของร้านค้าปลีกในสหภาพยุโรป ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นการสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ ๆ ให้ผู้ส่งออกของไทย โดยผลการศึกษา พบว่า ร้านค้าปลีกในสหภาพยุโรปได้มีการเปลี่ยนเป็นรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ดิสเคาน์เตอร์” (Discounter) มากขึ้น โดยเน้นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคสำหรับชีวิตประจำวันที่มีคุณภาพในราคาถูกที่สุดเป็นหลัก ด้วยหลักการบริหารและจัดการรูปแบบใหม่ และทำให้ร้านค้าปลีกแบบเดิม ๆ มีแนวโน้มจะปรับเปลี่ยนเป็นแบบ Discounter เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน

                    สำหรับปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้ร้านค้าปลีกทั่วไปก้าวไปสู่การเป็นดิสเคาน์เตอร์มากขึ้น เพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง แต่ร้านแบบดิสเคาน์เตอร์มีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง เพราะมีวิธีการบริหารจัดการที่ดีกว่า มีการปรับตัวรวดเร็ว นำช่องทางออนไลน์มาใช้ มีการเสนอขายสินค้าอย่างเป็นระบบ ใช้การสื่อสารที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ พร้อมส่วนลดที่ดึงดูดผู้บริโภค ช่วยขยายฐานลูกค้าได้อย่างมาก และในอนาคตอาจเปลี่ยนไปเป็นร้านค้าออนไลน์เต็มรูปแบบในที่สุด แต่ร้านรูปแบบอื่น ยังอาศัยการขายแบบเก่าที่เน้นให้คนเข้ามาเดินเลือกซื้อ ไม่มีระบบขนส่งสินค้า ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าร้านแบบดิสเคาน์เตอร์มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น โดยในรอบ 10 ปี (2010-2020) มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 9% ต่อปี

                    ขณะเดียวกันร้านแบบดิสเคาน์เตอร์ ยังตอบโจทย์ผู้บริโภคในเรื่องการส่งมอบ “คุณค่า” ของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ความคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป ความสะดวก คุณภาพและความสดใหม่ของสินค้า ตลอดจนการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น

                    นายภูสิตกล่าวว่า โอกาสในการผลักดันการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ร้านค้าแบบดิสเคาน์เตอร์ สินค้าจะต้องอยู่ในรูปแบบที่ขนส่งได้ง่าย เพราะการซื้อขายออนไลน์ต้องอาศัยการขนส่งเป็นสำคัญ บรรจุภัณฑ์ไม่ควรมีขนาดใหญ่เกินไป หรือยากต่อการวางรวมกับสินค้าอื่น แต่ต้องมีความแข็งแรงที่วางซ้อนกันได้ และต้องปรับขนาดผลิตภัณฑ์ให้เล็กลง เพื่อให้สามารถขายในตู้ขายอัตโนมัติได้ เพราะเป็นช่องทางใหม่ที่จะทำให้สินค้าขายออกได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะสินค้าอาหารกึ่งสำเร็จรูป หรือสินค้าที่ใช้ในครัวเรือนทั่วไป

                    นอกจากนี้ ผู้ผลิตควรปรับนโยบายการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดูแลสวัสดิภาพของสัตว์ และมีธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อประเด็นดังกล่าว และยังช่วยป้องกันการกีดกันทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนฉลากจะต้องมีข้อมูลที่แสดงความน่าเชื่อถือ คุณค่าของผลิตภัณฑ์ และมีฐานข้อมูลที่จำเป็นและตรวจสอบได้ผ่าน QR Code หรือ Bar Code โดยเทคโนโลยีบล็อกเชน ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค

                    ส่วนช่องทางการส่งเสริมสินค้าไทย ควรใช้ช่องทางไทยเทรดดอทคอม (Thaitrade.com) โดยเชื่อมโยงกับระบบการค้าออนไลน์ของบรรดาห้างค้าปลีก และเข้าไปในช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สินค้าไทยกระจายได้หลากหลายช่องทาง การตั้งแฟลกชิปสโตร์ (Flagship Store) เช่นเดียวกับร้านท็อปไทย (TopThai) ที่ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ของจีน  

                    สำหรับร้านค้าปลีกแบบดิสเคาน์เตอร์ มีลักษณะการบริหารงาน 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ขายในดิสเคาน์เตอร์มีความเข้มข้นมากกว่าร้านค้าปลีกทั่วไป เพราะผู้บริโภคจะต้องเชื่อมั่นได้ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ จัดจำหน่ายได้เร็ว และมีปริมาณมาก เพื่อจะได้ไม่สิ้นเปลืองต้นทุนด้านผลิตภัณฑ์ มีการบริหารสต็อกและการจัดส่งผลิตภัณฑ์ที่ดี 2. มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทเฮ้าส์แบรนด์ (House Brand) ที่หลากหลายขึ้น ซึ่งเป็นสินค้าที่เป็นแบรนด์ของห้างเอง ไม่ได้เน้นเฉพาะสินค้าราคาถูกที่สุดเพียงไม่กี่แบรนด์ เพื่อให้สามารถนำเสนอคุณค่าแก่ผู้บริโภคในราคาต่ำที่สุดได้ 3. ไม่มีบริการ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่าง เช่น รถเข็น หรือถุงบรรจุผลิตภัณฑ์ เพื่อควบคุมต้นทุนการดำเนินงานให้ต่ำที่สุด และ 4. มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ อาทิ การบริหารสาขา มีระบบโลจิสติกส์เป็นของตัวเอง และมีระบบการชำระเงินในรูปแบบออนไลน์ เป็นต้น

ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)

Login