หน้าแรกTrade insight > สนค. เผยเทรนด์การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการลดปล่อยก๊าซคาร์บอน

สนค. เผยเทรนด์การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการลดปล่อยก๊าซคาร์บอน

สนค. เผยเทรนด์การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการลดปล่อยก๊าซคาร์บอน เริ่มเร่งรัดให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว พร้อมเสนอแนะให้ส่งเสริมการส่งออก ภายใต้แนวคิด BCG Zero Carbon เพื่อให้สอดรับกับกระแสด้านสิ่งแวดล้อมของโลก

                    สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผย 2 เทรนด์สำคัญ การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการลดปล่อยก๊าซคาร์บอน เริ่มเร่งรัดให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว พร้อมเผยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายการสินค้าส่งเสริมการส่งออกตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG และเชิญชวนให้หน่วยงานภาครัฐส่งเสริมการส่งออก ภายใต้แนวคิด “BCG Zero Carbon” เนื่องจาก สนค. เล็งเห็นว่า ประเด็นสิ่งแวดล้อม จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อรูปแบบและทิศทางการค้าสินค้าไทยในบริบทการค้าแนวใหม่ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัวตั้งแต่กระบวนการผลิต ให้สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าได้ เบื้องต้น สนค. เสนอ 3 กลุ่มสินค้าศักยภาพควรเร่งผลักดัน ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารที่มีมูลค่าสูง กลุ่มสินค้าพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ และกลุ่มสินค้าสุขภาพและการแพทย์

                    นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า กระแสการเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) และการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ของทั่วโลก เป็น 2 เทรนด์สำคัญมาแรงที่เร่งรัดให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเร็วขึ้นและต่างจะมีผลต่อรูปแบบและทิศทางการค้าระหว่างประเทศอย่างชัดเจนในบริบทการค้าแนวใหม่ โดยเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกต่างมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างแน่วแน่ (รวมถึงไทย) ซึ่งการค้าในช่วงเวลาต่อจากนี้ ประเทศผู้นำเข้าปลายทางจะคำนึงถึงกระบวนการผลิตสินค้า และกำหนดกฎระเบียบ ซึ่งจะอยู่ในลักษณะเป็นมาตรการหรืออุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures/Barriers) อย่างจริงจังในเวลาอันใกล้นี้

                    ประเด็นแรก การเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) เห็นเด่นชัดมากขึ้นจากที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลายธุรกิจนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการในองค์กร ขณะเดียวกัน พฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในการทำงาน WFH และการดำรงชีวิตประจำวัน ทำให้สินค้าอุปกรณ์ไอทีเข้ามามีบทบาทอย่างเห็นได้ชัด และคาดว่าตลาดโลกจะมีความต้องการสินค้าที่มีนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งทำให้ไทยจะต้องพัฒนาและสร้างอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงนี้ และผลักดันรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ให้สอดรับกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกัน การเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ช่องทางการค้าปรับเปลี่ยนไปสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งในขณะนี้ในเวทีการค้าระหว่างประเทศก็หันมาให้ความสนใจการเจรจาในประเด็นด้านการค้าอีคอมเมิร์ซมากขึ้นเช่นกัน เพื่อให้เป็นช่องทางการค้าที่ปลอดภัย และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าสู่ตลาดผ่านช่องทางดังกล่าวได้อย่างมีอุปสรรคให้น้อยที่สุด

                    ประเด็นที่ 2 การมุ่งสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ถือเป็นกระแสสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากในขณะนี้ เนื่องจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีการใช้ทรัพยากรของโลกอย่างสิ้นเปลือง และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ จนทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ จึงประกาศเจตนารมณ์ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน รวมถึงไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065) นอกจากนี้ ไทยยังจะผลักดันวาระการประชุมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG (ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว) ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกในปี 2565 ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การมีเป้าหมายบรรลุ Net Zero Carbon ของประเทศต่างๆ ทำให้ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว หันมามีมาตรการที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งในขณะนี้ สหภาพยุโรปมีแนวทางชัดเจนที่จะใช้มาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) อย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่ถึง 5 ปีข้างหน้า โดยต้องมีการแสดงเอกสารปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของสินค้า หรือที่เรียกว่า “ใบรับรองการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือ CBAM certificates” และเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการผลิตสินค้าที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเกินกว่าที่กำหนด

                    ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ได้มีนโยบายที่จะสนับสนุนและผลักดันภาคการค้าระหว่างประเทศของไทยให้สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ อีกทั้งยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย สนค. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าของประเทศ ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์) ให้ศึกษาและจัดทำรายการสินค้าส่งเสริมการส่งออกที่เป็นไปตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศ ซึ่ง สนค. ได้เล็งเห็นแล้วว่า ทิศทางการส่งเสริมสินค้าส่งออกในบริบทการค้าแนวใหม่ควรจะผลักดันและสนับสนุนการผลิตและส่งออกสินค้า ภายใต้แนวคิด “BCG Zero Carbon” และอาจพัฒนาไปสู่การเป็น BCG Climate Positive ให้เกิดขึ้นในระยะยาวได้ (กล่าวคือ การเป็นประเทศที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก) เพื่อให้สามารถสอดรับได้ทั้งโมเดลเศรษฐกิจ BCG และการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศที่อาจจะมีผลต่อการส่งออกไทยในอนาคต

                    นายรณรงค์ฯ กล่าวเสริมอีกว่า การจัดทำรายการสินค้าส่งเสริมการส่งออก ภายใต้แนวคิด BCG Zero Carbon จะนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการวางแนวทางผลักดันและส่งเสริมสินค้าส่งออกไทย ผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดภายใต้แผนงาน/โครงการของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ การเจรจาจับคู่ธุรกิจ การเจรจาการค้าในเวทีต่างๆ การส่งเสริมแบรนด์สินค้า การอบรมพัฒนาผู้ประกอบการในหัวข้อต่างๆ ที่จำเป็นต้องรู้ก่อนส่งออก ฯลฯ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สนค. ยังได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือแนวทางการจัดทำรายการสินค้าส่งเสริมการส่งออกตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐที่เป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายจากกระทรวงต่างๆ หน่วยงานที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดให้แก่ภาคเอกชน และหน่วยงานภาคเอกชน เข้าร่วมหารือเพื่อพิจารณารายการสินค้าส่งออกดังกล่าว โดยหน่วยงานต่างๆ ได้ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการนำไปปรับปรุงรายการสินค้าที่ สนค. ได้ร่างไว้เป็นฉบับเริ่มต้น และเมื่อ สนค. ได้ปรับปรุงรายการสินค้า รวมทั้งหารือกับหน่วยงานภายในกระทรวงพาณิชย์อีกครั้งเรียบร้อยแล้ว จะนำเสนอต่อผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ให้มอบหมายหน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ทั้งนี้ ในเบื้องต้น สนค. ได้มีข้อเสนอรายการสินค้าที่ควรผลักดันและส่งเสริมสินค้าตามแนวคิด BCG Zero Carbon ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร อาทิ อาหารฟังก์ชั่น โปรตีนทางเลือก อาหารแนวใหม่ (Novel food) Functional ingredients สินค้าเกษตรมูลค่าสูง อาหารสัตว์เลี้ยง กลุ่มสินค้าพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ อาทิ พลาสติกชีวภาพ ไบโอดีเซล บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สารสกัดสำหรับใช้ทำน้ำหอม เครื่องสำอาง กลุ่มสินค้าสุขภาพและการแพทย์ อาทิ สารสกัดจากพืชและสมุนไพรที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมยา ยาสมุนไพร เป็นต้น

                    นายรณรงค์ฯ กล่าวปิดท้ายว่า การดำเนินงานของ สนค. จะช่วยให้หน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์นำไปใช้เป็นข้อมูลกำหนดโครงการ แผนงาน ของแต่ละหน่วยงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่จะมีส่วนช่วย ให้ภาคเอกชนไทยสามารถดำเนินธุรกิจเป็นไปตามทิศทางการพัฒนาของประเทศ และยังสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศคู่ค้า เพื่อลดการเผชิญอุปสรรคทางการค้า อีกทั้งยังรักษาส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยในตลาดโลกไว้ได้

ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)

Login