หน้าแรกTrade insight > สนค. หนุนอัปเกรดผ้าไหมไทย ป้อนความต้องการของตลาดที่หลากหลาย

สนค. หนุนอัปเกรดผ้าไหมไทย ป้อนความต้องการของตลาดที่หลากหลาย

สนค. หนุนอัปเกรดผ้าไหมไทย ป้อนความต้องการของตลาดที่หลากหลาย

                  สนค. หนุนอัปเกรดผ้าไหมไทย ป้อนความต้องการของตลาดที่หลากหลาย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) หนุนอัปเกรดผ้าไหมไทย ป้อนความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น เผยผ้าผืนไหมย้อมสีธรรมชาติ ชุดผ้าไหม หน้ากากผ้าไหม ผ้าไหมตกแต่งบ้าน และผ้าไหมทำเฟอร์นิเจอร์ มีโอกาสมาก แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มพูนความรู้การนำเทคโนโลยีช่วยเลี้ยงไหม ชี้เป้าแหล่งซื้อขาย ประชาสัมพันธ์ที่มาที่ไป  

 

                  นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการนำผ้าไหมไปสร้างสรรค์ผลงาน ตั้งแต่ผ้าไหมที่สวมใส่ เสื้อผ้า งานตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เป็นสินค้า OTOP และสินค้าส่งออกยอดนิยม ซึ่งแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ โดยนำผ้าไหมมาออกแบบให้ดูทันสมัย ประยุกต์ปรับเปลี่ยนตามแฟชั่น นอกจากจะเป็นการเผยแพร่เอกลักษณ์ความเป็นไทยที่ถ่ายทอดออกมาเป็นเนื้อผ้าแล้ว ยังเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และมีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงไหม ซึ่งเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ผลิตผ้าไหม จะต้องติดตามความต้องการของตลาด และพัฒนาสินค้าผ้าไหมให้ตรงตามความต้องการ ก็จะทำให้ขายสินค้าได้มากขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น

 

                  โดยตัวอย่างผ้าไหมที่ตลาดมีความต้องการ เช่น 1. ผ้าผืนไหมย้อมสีธรรมชาติ เช่น ผ้าผืนไหมทอลายดอกหมากย้อมสีธรรมชาติ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งปัจจุบันทำการย้อมเส้นใยสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ใช้สารเคมี ช่วยเพิ่มมูลค่ากับให้กับงานฝีมือ เนื้อไหมนุ่มเนียน เบา เย็นสบาย แต่อุ่นเมื่ออยู่ในที่เย็น 2. ชุดผ้าไหม ที่มีการนำผ้าไหมมาทำชุดใส่ทั้งออกงานและสวมใส่ในชีวิตประจำวันกันมากขึ้นและใส่ได้ทุกวัย 3. หน้ากากผ้าไหม ที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองและเชื้อโรค และช่วยเสริมความสวยงาม ความหรูหราที่สอดแทรกไปกับความทันสมัย 4. ผ้าไหมกับงานตกแต่งบ้าน เช่น ผนังวอลเปเปอร์ ผ้าม่าน เป็นต้น และ 5. ผ้าไหมใช้กับเฟอร์นิเจอร์ เช่น เบาะรองนั่ง โซฟา หมอนอิง เป็นต้น

 

                  สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผ้าไหมไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งส่งเสริมองค์ความรู้เทคโนโลยีและการเลี้ยงไหมให้ได้มาตรฐานครบวงจร แก่เกษตรกรให้ตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อส่งไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าให้แก่เส้นไหม และจะต้องเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์และการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อเผยแพร่ให้ผู้บริโภคทราบช่องทางการซื้อขายผ้าไหมหรือผลิตภัณฑ์ รวมทั้งต้องช่วยสร้างการเล่าเรื่องที่มาของเส้นไหมจนถึงออกมาเป็นผ้าผืน เพื่อให้ผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศทราบถึงกระบวนการต่าง ๆ ในความพยายามของเกษตรกรตลอดการผลิตจนถึงออกมาเป็นผ้าผืนและผลิตภัณฑ์

 

                  ปัจจุบัน การผลิตไหมของไทย มี 2 แบบ คือ การเลี้ยงไหมแบบครัวเรือนหรือหัตถกรรม และการเลี้ยงไหมแบบอุตสาหกรรม เพื่อนำไปทอผ้าเป็นผ้าไหม โดยมีการเลี้ยงไหมกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ รวม จำนวนเกษตรกรที่เลี้ยงไหมทั้งประเทศ 30,254 ราย (อ้างอิงจากกรมหม่อนไหม ณ เดือนมีนาคม 2564)

                  

                  ประเภทของผ้าไหมไทยแบ่งตามลักษณะการทอ เช่น ผ้าไหมทอมือลายขัด ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมขิด ผ้าไหมจก ซึ่งรู้จักในชื่อของผ้าแพรวา และผ้าไหมยก

 

                  ทางด้านการส่งออก ในปี 2563 ไทยส่งออกไหม (ประเภทสินค้า รังไหม ไหมดิบ เศษไหม ด้ายไหม) ปริมาณ 224.56 ตัน มูลค่า 184.44 ล้านบาท ตลาดหลัก คือ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน ฝรั่งเศส และตุรกี นอกจากนี้ยังส่งออกผลิตภัณฑ์ไหมในรูปแบบของผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยไทยส่งออกผ้าผืนทำจากไหม มีมูลค่า 138.70 ล้านบาท ตลาดสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น ส่วนการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากไหม มีมูลค่า 64.60 ล้านบาท ตลาดสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สิงคโปร์ เป็นต้น  

 

—————————————————–

 

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

กระทรวงพาณิชย์

ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)

Login