สนค.ชี้ “อาหารฮาลาล-มังสวิรัติ-ออร์แกนิก-ฟังก์ชัน” กำลังเป็นเทรนด์สำคัญของโลก
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) รับนโยบาย “จุรินทร์” ศึกษาโอกาสผลักดัน “อาหารไทย อาหารโลก” ชี้ “อาหารฮาลาล-มังสวิรัติ-ออร์แกนิก-อาหารฟังก์ชัน-อาหารผู้สูงอายุและผู้ป่วย” กำลังเป็น เทรนด์สำคัญของโลก แนะผู้ผลิต ผู้ส่งออกเร่งทำตลาด
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ดำเนินการศึกษาโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารของไทย ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันแผนงาน “อาหารไทย อาหารโลก” ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญปี 2564 ของกระทรวงพาณิชย์ โดยพบว่าสินค้าอาหารที่มีโอกาสในการขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหารฮาลาล อาหารมังสวิรัติ อาหารออร์แกนิก อาหารฟังก์ชัน อาหารผู้สูงอายุและผู้ป่วย ซึ่งอาหารเหล่านี้ กำลังเป็นที่ต้องการและเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก ผู้ผลิตและผู้ส่งออกควรจะให้ความสำคัญในการศึกษาแนวโน้มตลาด และวางแผนในการทำตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น
สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของอาหารฮาลาล มาจากจำนวนประชากรและศักยภาพทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศมุสลิม โดยการศึกษาของ Pew Research Center พบว่า ระหว่างปี 2553–2593 ประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามมีแนวโน้มเติบโตเร็วกว่าศาสนาอื่นๆ และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 73 เป็น 2.8 พันล้านคนในปี 2593 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.67 ของประชากรโลกทั้งหมด ขณะที่ DinarStandard ระบุว่าในปี 2562 ชาวมุสลิมจะมีการใช้จ่ายสำหรับอาหารฮาลาลทั้งสิ้น 1.17 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดฮาลาลจึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพและน่าสนใจ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันไทยยังเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายสำคัญของโลก โดยมีการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาล ทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียน อย่างตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน รวมทั้งตลาดตะวันออกกลาง (Middle East) ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรเป็นชาวมุสลิมจำนวนมาก โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปยังประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง คิดเป็นร้อยละ 3.2 ต่อสัดส่วนการส่งออกสินค้าอาหารทั้งหมดของไทย
ส่วนอาหารมังสวิรัติ เป็นกลุ่มสินค้าอาหารที่กำลังเป็นเทรนด์ในสังคมยุคปัจจุบันที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคทางฝั่งตะวันตก ที่มีการรับประทานมังสวิรัติทั้งแบบกลุ่ม Vegetarians ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ แต่ยังคงรับประทานนม เนย ชีส และไข่ได้ตามปกติ และกลุ่ม Vegans ที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์และอาหารที่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตใด โดยจากการสำรวจของ Euromonitor’s Health and Nutrition Survey พบว่า ในปี 2563 ผู้บริโภคที่เป็น Vegetarians และ Vegans คิดเป็นร้อยละ 4 และร้อยละ 6 ของประชากรโลกตามลำดับ และจากสถิติดังกล่าว แม้ว่าตลาดอาหารมังสวิรัติจะไม่ได้ใหญ่นัก แต่ถือว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากมีแนวโน้มเติบโตขึ้นต่อเนื่องทุกปี อีกทั้งยังเป็นตลาดเฉพาะ (Niche Market) ที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง
ขณะที่อาหารแนวใหม่ที่กำลังเป็นเทรนด์สำคัญของโลก ปัจจุบันผู้บริโภคมีความต้องการอาหารที่หลากหลายและให้ความสำคัญกับการเติมเต็มความต้องการเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารออร์แกนิก อาหารฟังก์ชั่น (Functional Food) อาหารสำหรับผู้สูงอายุ และอาหารสำหรับผู้ป่วย เป็นต้น หากไทยสามารถตอบสนองและเข้าใจถึงความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคได้ จะช่วยขยายโอกาสทางการค้าให้กับไทยได้อีกมาก
นายภูสิตกล่าวว่า แผนงาน “อาหารไทย อาหารโลก” ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารของไทยออกสู่ตลาดโลก แต่ยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมอาหารของไทย และสามารถช่วยผลักดันให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านอาหารของโลก ด้วยปัจจัยอย่างการที่ไทยเป็นผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่ มีความเชี่ยวชาญในการผลิตอาหาร อาหารไทยเป็นที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่สำคัญ แผนงานนี้ ยังเป็นกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานราก และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย
ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)