บรรยากาศทางเศรษฐกิจในบริษัทและครัวเรือนต่างๆ ยังคงมืดมนและมีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้การคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Real GDP) ต้องปรับเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.2 ในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ภาวะเศรษฐกิจของเยอรมนีในปัจจุบัน
สถาบัน ifo เห็นว่าเศรษฐกิจเยอรมันในปัจจุบันกำลังเป็นอัมพาต ตัวชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของบริษัทและครัวเรือนต่างๆ (Economic Sentiment Indicator) ตกต่ำและมีความไม่แน่นอนสูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศใหญ่อื่นๆ ในยุโรป อ้างอิงจากตัวชี้วัด เยอรมนีล้าหลังอย่างเห็นได้ชัด เยอรมนีมีผลผลิตทางเศรษฐกิจซบเซาในช่วงครึ่งฤดูร้อนที่ผ่านมา และยังลดลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566
การสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมก่อสร้างหดตัว บริษัทต่างๆ มีความกังวลเกี่ยวกับคำสั่งซื้อหรือความต้องการที่ลดลง นอกจากนี้เดือนธันวาคมที่มีหิมะตกหนักและความเจ็บป่วยในประชากรวัยทำงานที่อยู่ในระดับสูงก็ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเช่นกัน การส่งออก การลงทุนด้านธุรกิจ และการก่อสร้างลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงปลายปี 2566
สิ่งเดียวที่สนับสนุนเศรษฐกิจคือการบริโภคภาคเอกชน อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็วมาเป็นเวลาหนึ่งปีแล้วและแตะระดับ 2.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ขณะเดียวกัน รายได้ค่าจ้างก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่แข็งแกร่ง กำลังซื้อจึงกลับมาและการใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายและนำกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นบางส่วนไปเก็บไว้เป็นการออม อัตราการออมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 11.4 ของรายได้ที่สามารถใช้ได้ สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีก่อนวิกฤตโคโรนาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 10.2
การคาดการณ์เศรษฐกิจเยอรมัน
ตัวชี้วัดในปัจจุบัน ยังคงไม่แสดงถึงแนวโน้มการพลิกสถานการณ์เศรษฐกิจ ความต้องการใช้จ่ายในทุกภาคธุรกิจอยู่ในระดับต่ำ อัตราการเจ็บป่วยของประชากรวัยทำงานอยู่ในระดับสูง และการนัดหยุดงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีได้ซ้ำเติมสถานการณ์ให้ย่ำแย่ลงไป นอกจากนี้การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดงโดยกลุ่มฮูตีทำให้ต้นทุนทางเวลาและค่าขนส่งเพิ่มขึ้น เป็นผลให้เศรษฐกิจเยอรมันต้องไม่ได้รับผลประโยชน์เท่าที่ควร
สถาบัน IFO คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมอย่างค่อยเป็นค่อยไปมีแนวโน้มจะเริ่มในปลายปี 2567 ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาเศรษฐกิจของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะมีการเติบโต โดยสถาบันฯ คาดการณ์ว่า GDP โลกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เป็นร้อยละ 2.3 จากที่เคยคาดการณ์ในฤดูหนาวปี 2566 ไว้ที่ร้อยละ 2.0 อุตสาหกรรมการส่งออกของเยอรมนีมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากสิ่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัวชี้วัดทั่วโลกบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวเห็นได้ชัดเจนโดยเฉพาะในภาคการผลิต ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูร้อน ยังมีแนวโน้มที่จะกระตุ้นความต้องการทางเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในเยอรมนีและในยุโรป
โดยสรุป ผลผลิตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องในไตรมาสปัจจุบันและลดลงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมที่เห็นได้ชัดเจนไม่น่าจะเกิดขึ้นจนกว่าจะถึงครึ่งปีหลัง และ Real GDP จะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.2 ในปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ในปี 2568 ซึ่งหมายความว่าการคาดการณ์การเติบโตในปีปัจจุบันลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของ IFO ในช่วงฤดูหนาวปี 2566 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.2 ในปี 2568 ตรงข้ามกับการคาดการณ์ เศรษฐกิจเยอรมนีกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งฤดูหนาวปี 2566/67 โดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมที่ดูเหมือนจะล่าช้าออกไปเรื่อย ๆ
ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจจะทำให้การจ้างงานช้าลงและส่งผลให้การว่างงานเพิ่มขึ้นในขั้นต้น อัตราการว่างงานในปีนี้ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.9 ซึ่งสูงกว่าปี 2566 ร้อยละ 0.2 และคาดว่าอัตราดังกล่าวจะลดลงเหลือร้อยละ 5.6 ในปี 2568 เท่านั้น แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ ส่งผลให้จำนวนบุคลากรที่มีศักยภาพลดลงตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป ด้วยเหตุนี้ อัตราการเติบโตของการผลิตที่มีศักยภาพจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดเหลือเพียงร้อยละ 0.4 ภายในสิ้นทศวรรษนี้ อัตราเงินเฟ้อจะยังคงลดลงจากเฉลี่ยร้อยละ 5.9 ในปีที่แล้วเป็นร้อยละ 2.3 ในปีนี้และร้อยละ 1.6 ในปีหน้า โดยเฉพาะราคาก๊าซและค่าไฟฟ้าจะถูกลงสำหรับผู้บริโภค ดังนั้นองค์ประกอบด้านพลังงานจึงคาดว่าจะลดอัตราเงินเฟ้อในช่วงระยะเวลาคาดการณ์
ความแม่นยำของการคาดการณ์
ความเสี่ยงสำหรับการคาดการณ์ในปัจจุบันมีมากมาย มีความไม่แน่นอนในระดับสูงโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพัฒนาการของราคาพลังงาน โดยในปัจจุบันสันนิษฐานว่าราคาน้ำมันดิบ ไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติจะพัฒนาไปตามราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้าในช่วงระยะเวลาคาดการณ์ ดังนั้น ราคาที่ลดลงเมื่อเร็วๆ นี้จะยังคงดำเนินต่อไป
ภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากสิ่งนี้ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ต่อไปนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางภูมิศาสตร์การเมืองเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และดังนั้นจึงมีอิทธิพลสำคัญต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจของเยอรมนี ความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่งมาจากนโยบายเศรษฐกิจและการเงินในปัจจุบัน ซึ่งมีการบรรลุข้อตกลงสำหรับงบประมาณปีปัจจุบันและการจำกัดหนี้
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ด้านงบประมาณในปัจจุบัน การพิจารณางบประมาณปี 2568 ที่ยากลำบากของรัฐบาลกลาง จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่การปฏิรูปที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนจะถูกมองข้าม
ที่มา: www.ifo.de
อ่านข่าวฉบับเต็ม : สถาบันวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ ifo คาดการณ์เศรษฐกิจเยอรมันในช่วงฤดูใบไม้ผลิ 2024 เป็นอัมพาต