หน้าแรกTrade insightข้าว > สถานะตลาดสินค้าอาหารแช่แข็งในญี่ปุ่น

สถานะตลาดสินค้าอาหารแช่แข็งในญี่ปุ่น

สถานะตลาดสินค้าอาหารแช่แข็งในญี่ปุ่น

สตท ณ เมืองฮิโรชิมา

 

สินค้าอาหารแช่แข็งเป็นสินค้าหนึ่งซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวของตลาดอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการระบาดของโรคโควิด 19  พบว่าการผลิตได้ขยายตัวทั้งในปี 2021 และ 2022  ส่วนในปี 2023 มูลค่าการผลิตได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 2.1 ในขณะที่ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 4.3   ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการผลิตสินค้าอาหารแช่แข็งสำหรับบริโภคในครัวเรือนกับสินค้าอาหารแช่แข็งสำหรับภาคธุรกิจ (เช่น ร้านอาหาร ฯลฯ)     ในปี 2023  คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49 ต่อ 51 โดยในระยะที่ผ่านมาสังเกตได้ว่าสัดส่วนปริมาณการผลิตสินค้าอาหารแช่แข็งสำหรับบริโภคในครัวเรือนแสดงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยมา   อย่างไรก็ตามสำหรับในปี 2023 พบว่าสินค้าอาหารแช่แข็งได้ปรับราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการซื้อของผู้บริโภคครัวเรือนทำให้การผลิตลดลงมากกว่าสินค้าอาหารแช่แข็งสำหรับภาคธุรกิจ ซึ่งกลับมาฟื้นตัวภายหลังการระบาดของโรคโควิด19 ทุเลาลง ผู้คนกลับเข้าสู่การใช้ชีวิตปกติ และการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยว ทำให้สินค้าอาหารแช่แข็งสำหรับภาคธุรกิจแม้ว่าจะลดลงบ้างแต่ยังมีอัตราการลดลงน้อยกว่าสินค้าอาหารแช่แข็งสำหรับบริโภคในครัวเรือน

สำหรับขนาดตลาดสินค้าอาหารแช่แข็งโดยรวม มีการประมาณการว่า  ในปี 2023 คิดเป็นมูลค่า 1.27 ล้านล้านเยน  (3.63 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.5 และในปี 2024 คาดการว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เป็น 1.29 ล้านล้านเยน (3.69 แสนล้านบาท)

เมื่อพิจารณาการผลิตสินค้าอาหารแช่แข็งแยกตามประเภท พบว่าสินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งมีปริมาณสูงสุด โดยคิดเป็นร้อยละ 89.9 ของปริมาณการผลิตสินค้าอาหารแช่แข็งทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ผลผลิตการเกษตรแช่แข็ง (ร้อยละ 4.1) สินค้าขนมขบเคี้ยวแช่แข็ง (ร้อยละ 3.1) อาหารทะเลแช่แข็ง (ร้อยละ 2.6) และ สินค้าเนื้อสัตว์แช่แข็ง (ร้อยละ 0.3) ตามลำดับ

 

สินค้าอาหารแช่แข็งนำเข้า

กล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหารแช่แข็ง  โดยในปี 2023 สินค้าแช่แข็งประเภทเกษตรกรรม (Farm products) และอาหารแปรรูป (Processed foods) มีสัดส่วนสินค้านำเข้าร้อยละ 46.5 และร้อยละ 37.5 ของปริมาณและมูลค่าความต้องการรวม ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาสัดส่วนของสินค้านำเข้า กลุ่มสินค้าเกษตรกรรมแช่แข็งมีการความต้องการ ปริมาณ 1.18 ล้านตัน มูลค่า 3.23 แสนล้านเยน โดยเป็นสินค้านำเข้าปริมาณ 1.11 ล้านตัน มูลค่า 3.03 แสนล้านเยน คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 94.6 และ94.1 ของปริมาณและมูลค่าความต้องการรวม ตามลำดับ  ในขณะที่สินค้าอาหารแปรรูปแช่แข็งมีความต้องการคิดเป็นปริมาณ 1.61 ล้านตัน มูลค่า 8.40 แสนล้านเยน เป็นสินค้านำเข้าปริมาณ 2.15 แสนตัน มูลค่า 1.63 แสนล้านเยน คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 13.4 และ 19.4

 

ความนิยมสินค้าอาหารแปรรูปแช่แข็งในญี่ปุ่น

ความนิยมบริโภคสำหรับสินค้าอาหารแปรรูปแช่แข็งในตลาดญี่ปุ่นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังแสดงแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของครัวเรือนซึ่งมีเวลาจำกัดในชีวิตประจำวันอันเร่งรีบ และผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้อาหารแช่แข็งเป็นตัวเลือกที่สะดวก ประหยัดเวลา รวมทั้งสามารถเก็บรักษาได้ยาวนานทำให้อาหารแช่แข็งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ช่วยส่งผลให้ความต้องการอาหารแช่แข็งเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากผู้คนต้องใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น จึงมองหาวิธีการเก็บรักษาอาหารที่ปลอดภัยและสะดวกในการเตรียมอาหาร และแม้ว่าจะกลับสู่การใช้ชีวิตปกติแล้วก็ตาม ผู้บริโภคยังคงชินกับความสะดวกสบายและพอใจกับสินค้าอาหารแช่แข็ง

สินค้าอาหารแช่แข็งได้รับความนิยมและจำหน่ายได้ดีในตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากมีปัจจัยส่งเสริมหลายประการ กล่าวคือ

  • สามารถเก็บรักษาได้นาน และลดภาระการเตรียมและปรุงอาหารซึ่งเหมาะกับผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน
  • อาหารแช่แข็งในตลาดญี่ปุ่นปัจจุบันมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก นอกเหนือจากประเภทเนื้อสัตว์แล้ว ยังมีทั้งประเภทอาหารทะเลและผัก รวมทั้งเมนูอาหารต่างประเทศอีกด้วย
  • ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตที่ช่วยให้สามารถคงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไว้ได้แม้ว่าจะเป็นอาหารแช่แข็ง จึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น
  • ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่กระตุ้นความนิยมสินค้าอาหารแช่แข็ง คือ รสชาติ ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า AI Smart Freeze ชึ่งช่วยตั้งอุณหภูมิการแช่แข็งที่เหมาะสมที่สุดกับประเภทและสภาพของวัตถุดิบที่ใช้โดยอัตโนมัติ เช่น อาหารที่ยังคงความร้อนอยู่ภายหลังการปรุงถูกนำไปแช่แข็งโดยทันที อุณหภูมิจะถูกปรับโดยอัตโนมัติให้เหมาะสมกับการทำให้แข็งโดยไม่มีผลต่อวัตถุดิบต่างๆแต่ละตัวที่ใช้ ทำให้อาหารแช่แข็งมีรสชาติดี สลัดภาพพจน์ที่เคยมีมาว่าอาหารแช่แข็งไม่อร่อย
  • นอกจากนั้น ช่องทางจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ที่มีมากขึ้นก็ได้เพิ่มความสะดวกในการซื้อหาได้อย่างดียิ่ง

พฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้าอาหารแช่แข็ง

ได้มีการสำรวจความเห็นผู้บริโภคในญี่ปุ่น เกี่ยวกับสินค้าอาหารแช่แข็ง  โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ความบ่อยครั้งของการบริโภค ร้อยละ 9 และร้อยละ 23.8 ของผู้บริโภคชายและหญิงตามลำดับ มีการบริโภคอาหารแช่แข็งต่อสัปดาห์มากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในกลุ่มผู้บริโภคหญิงบริโภคต่อสัปดาห์โดยเฉลี่ย 1.8 ครั้ง ผู้บริโภคชาย 1.7 ครั้ง โดยเหตุผลที่เพิ่มการบริโภคสำหรับผู้หญิง คือ เนื่องจากได้เห็นโฆษณาทางสื่อเช่น โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ฯลฯ
  • รสชาติ ร้อยละ 2 ของผู้บริโภคหญิง และ 76.2 ของผู้บริโภคชาย พอใจในรสชาติของสินค้าอาหารแช่แข็ง
  • Cost Performance/Time Performance (ความคุ้มค่าของเงินและเวลา) ผู้บริโภคเห็นว่าสินค้าอาหารแช่แข็งอยู่ในอันดับหนึ่ง รวมทั้งขยะที่เหลือจากการบริโภคก็ลดลง           
  • การขึ้นราคาสินค้าอาหารแช่แข็ง ในช่วงระยะการสำรวจ ร้อยละ 71.5 และร้อยละ 62 ของผู้บริโภคหญิงและชาย ตามลำดับ รู้สึกว่าสินค้ามีราคาสูงขึ้น อย่างไรก็ตามมีเพียงร้อยละ 14.7 และ 17.1 ของผู้บริโภคชายและหญิงที่ลดการซื้อลง 

บริษัท Cross Marketing ได้ทำการสำรวจเปรียบเทียบการบริโภคอาหารปรุงเองและอาหารสำเร็จรูปของผู้บริโภคในญี่ปุ่น   พบว่าสำหรับอาหารแช่แข็ง เมื่อเปรียบเทียบแต่ละระดับอายุ เห็นได้ว่าในกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุยิ่งสูงขึ้น มีสัดส่วนผู้บริโภคอาหารแช่แข็งสูงขึ้น

ประเภทอาหารแช่แข็งยอดนิยม 5 อันดับแรกที่บริโภค ได้แก่ ประเภททอด ประเภทเส้น ประเภทข้าว ประเภทย่างและประเภทนึ่ง ตามลำดับ

จากผลการสำรวจข้างต้น แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคญี่ปุ่นส่วนใหญ่นิยมบริโภคสินค้าอาหารแช่แข็ง โดยเห็นว่าเป็นสินค้าอาหารอันดับหนึ่งที่มีความคุ้มค่าทั้งเงินและเวลา และถึงแม้ว่าราคาจะสูงขึ้นแต่ก็ยังคงมิได้ลดการบริโภคลง

 

การนำเข้าสินค้าอาหารแปรรูปหรืออาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง

จากสถิติซึ่งรวมรวมโดย Japan Frozen Foods Association  ในปี 2023  ญี่ปุ่นนำเข้าอาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง  เป็นปริมาณ 2.15 แสนตัน  มูลค่า 1.63 แสนล้านเยน (ประมาณ 4.67 หมื่นล้านบาท) โดยมีปริมาณลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 7.9 แต่ในด้านมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7  เมื่อพิจารณาแหล่งนำเข้า  ปรากฏว่า ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งในด้านมูลค่า คือ 7.39 หมื่นล้านเยน (2.11 หมื่นล้านบาท) แม้ว่าในด้านปริมาณ (9.05 หมื่นตัน) ยังคงเป็นอันดับสองรองจากจีน จะเห็นได้ว่าการนำเข้าจากจีนในปี 2023 ได้ลดลงถึงร้อยละ 17.3 ในด้านปริมาณและลดลงร้อยละ 7.5 ในด้านมูลค่า ในขณะที่การนำเข้าจากไทยลดลงร้อยละ 2.9 ในด้านปริมาณ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ในด้านมูลค่า ทำให้ในปี 2023 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าคิดเป็นร้อยละ 42.0 ในด้านปริมาณ และร้อยละ 46.1 ในด้านมูลค่า ในขณะที่จีนมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 40.7  ในด้านปริมาณ และร้อยละ 36.4  ในด้านมูลค่า  และที่น่าจับตามองคือการนำเข้าจากเวียดนามและอินโดนีเซียซึ่งแม้ว่าปัจจุบันยังมีปริมาณและมูลค่าการนำเข้าน้อย แต่ค่อยๆขยายส่วนแบ่งตลาดนำเข้าเพิ่มขึ้นทีละน้อยเรื่อยมา

 

แนวโน้มที่น่าสนใจของสินค้าอาหารปรุงสำเร็จแช่แข็งในญี่ปุ่น

บริษัท Ajinomoto Co., Ltd. ได้ออกวางจำหน่าย “Shiro Chahan”หรือ White Fried Rice หนึ่งในสินค้าอาหารแช่แข็งแบรนด์ Fresh Frozen Ajinomoto  โดยเป็นข้าวผัดแช่แข็งใส่เนื้อหมูย่าง สินค้าข้าวผัดแช่แข็งไม่ใช่สินค้าประเภทใหม่ แต่แตกต่างจากข้าวผัดแช่แข็งทั่วไปคือ ได้ลดปริมาณเกลือลงถึงร้อยละ 40 แต่ยังคงรสชาติความอร่อยไว้ได้ ด้วยการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีพิเศษซึ่งพัฒนาโดยบริษัทเอง  ปรากฏว่ากว่าร้อยละ 60 ของผู้ซื้อเป็นผู้บริโภคในวัยเกินกว่า 50 ปีซึ่งมักเลือกรับประทานอาหารที่ลดปริมาณเกลือเพื่อสุขภาพ

 

บริษัท Nippun Co., Ltd ได้ออกวางจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จแช่งแข็งประเภท One Plate Frozen Food  ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในตลาดญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อสินค้าว่า “Yokubari Gozen” (https://www.nippn.co.jp/BrandB/frozen/nippn/yokubariplate/ซึ่งประกอบด้วย

ข้าวและกับข้าวในถาดอาหารแบ่งช่องแยกกัน อาหารปรุงสำเร็จแช่แข็งส่วนใหญ่ในตลาดญี่ปุ่นมักเป็นประเภท เช่น ข้าวผัดหรือข้าวซึ่งราดกับข้าวไว้แล้ว อาทิ Tonkatsu Rice หรือ ข้าวหน้าหมูทอด ฯลฯ หรือมิเช่นนั้นก็เป็นเฉพาะกับข้าวซึ่งหากจะรับประทานพร้อมข้าว ก็ต้องหุงข้าวเองหรือซื้อเป็นข้าวสำเร็จรูปและทำการอุ่นข้าวต่างหาก       สินค้าในลักษณะ One Plate นี้จึงสะดวกต่อการเตรียม  สินค้าของบริษัทฯ มีกับข้าวให้เลือกสรรหลากหลายชนิดและคำนึงถึงสารอาหารที่มีประโยชน์ พบว่าสินค้าดังกล่าวได้รับความนิยมนอกจากในกลุ่มผู้บริโภควัย 30 ปีที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็วในการเตรียมอาหาร และยังเหมาะอย่างยิ่งกับผู้สูงอายุซึ่งสามารถใช้ไมโครเวฟอุ่นอาหารได้เพื่อเลี่ยงการต้องใช้เตาแก๊สหุงหาอาหาร ในขณะเดียวกันได้รับสารอาหารที่จำเป็นสำหรับสุขภาพผู้สูงอายุ อีกทั้งไม่จำเป็นต้องเก็บล้างภาชนะภายหลังบริโภคอีกด้วย ราคาสินค้าก็ไม่แพง คือโดยเฉลี่ย แพ็คละประมาณ 400 เยน

 

บทสรุปและข้อคิดเห็น

จากข้อมูลข้างต้น กล่าวได้ว่า สินค้าอาหารแช่แข็งของไทยสามารถเจาะเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นและขยายตัวได้เป็นอย่างดีตลอดมาตามลำดับ จนได้กลายเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งสำหรับสินค้าประเภทอาหารแปรรูปหรืออาหารปรุงสำเร็จ โดยมีมูลค่านำเข้าสูงกว่าสินค้าจากจีน แม้ว่าด้านปริมาณจะน้อยกว่า ซึ่งแสดงว่าสินค้าไทยมีมูลค่าต่อหน่วยสูงกว่าสินค้าจีน  อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งในญี่ปุ่นคาดการว่าตลาดยังมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคซึ่งต้องการความสะดวกและรวดเร็วในการจัดเตรียมอาหารเพื่อรับประทาน และสามารถจัดเก็บได้นานและนำออกมาใช้บริโภคได้ทันทีเมื่อต้องการ  ในขณะเดียวกันผู้ผลิตในญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อทำให้สินค้าอาหารแช่แข็งมีรสชาติอร่อย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคญี่ปุ่นหันมานิยมการบริโภคอาหารแช่แข็งเพิ่มขึ้น การที่ญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสูงซึ่งมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ทั้งผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตตามลำพังและที่อยู่ในสถานดูแลคนชรา จึงเป็นกลุ่มผู้บริโภคสำคัญที่น่าจับตามองสำหรับสินค้าอาหารแช่แข็ง  ดังนั้น ผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยซึ่งต้องการบุกตลาดและขยายตลาดสำหรับสินค้าของตนไปยังญี่ปุ่น จึงต้องศึกษาและติดตามแนวโน้มความนิยมและพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อปรับสินค้าให้ตรงตามความต้องการและตามกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย นอกจากนั้นจะต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัย และพยายามพัฒนาเพิ่มความหลากหลายของประเภทสินค้าให้มากขึ้น

กรกฏาคม 2567

 

ที่มาข้อมูล

  • Japan Frozen Food Association (https://www.reishokukyo.or.jp/)
  • รายงาน “Research on Food Y2024: Ready-made meals and home cooked meals” (食に関する調査2024 内食・中食編 | リサーチ ) โดย Cross Market Co., Ltd. 10 พค. 2024  (https://www.cross-m.co.jp/news/release/20240510/)
  • รายงานเรื่อง “The reason for the increasing demand of Frozen Food(冷凍食品の需要増加の理由とは ) โดยเวปไซต์ Shunkashutou 5 เมย.2024 (https://shunkashutou.com/column/oz_frozen-food-demand/)
  • รายงานเรื่อง “One-Plate Frozen Food: a set of side-dish and rice. The rapid growth to 10 thousand million yen. (おかずとご飯がセット『ワンプレート冷凍食品』100億円規模に急成長 ) โดย Kansai TV News  18 เมย. 2024 (https://www.ktv.jp/news/feature/240417-oneplate/)
  • รายงานเรื่อง “The press release by Ajinomoto Reito shokuhin: Supporting the high demand of senior for frozen food” (冷凍食品需要の高いシニア層の食卓をサポート! 味の素冷凍食品株式会社のプレスリリース ) 9 มค. 2024 (https://prtimes.jp/main/html/rd/p/000000056.000027220.html)
  • รายงาน “The Domestic Research on Processed Food such as processed agricultural, farm and seafood products and frozen food”(冷凍食品、農畜水産加工品など加工食品の国内市場を調査) โดย Fuji Keizai Group 29 พย. 2023 (https://www.fuji-keizai.co.jp/file.html?dir=press&file=23127.pdf&nocache)
  • รายงานเรื่อง “Frozen Food Market : a record high while household consumption decreased in 9 years” (冷凍食品市場 ホットに過去最高 家庭向けは9年ぶり減) โดย Nihon Keizai Newspaper 19 เมย. 2024 https://www.nikkei.com/nkd/industry/article/?DisplayType=1&n_m_code=051&ng=DGXZQOUC175KI0X10C24A4000000

 

 

อ่านข่าวฉบับเต็ม : สถานะตลาดสินค้าอาหารแช่แข็งในญี่ปุ่น

Login