อียิปต์ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 สงครามในยูเครน ภาวะเงินเฟ้อสูงทั่วโลก ราคาสินค้าพลังงานสูงขึ้น และปัจจัยอื่นๆ รวมถึงการบริหารจัดการด้านการเงินการคลังของอียิปต์ที่ถูกบีบด้วยภาวะการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ภาระหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้เงินทุนก่อสร้างมหาศาล (เช่น การก่อสร้างเมืองใหม่ การสร้างรถไฟความเร็วสูง การสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์) และการใช้เงินอุดหนุนเพื่อพยุงค่าเงินปอนด์อียิปต์ และลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อดุลการชำระเงินของอียิปต์
กระทรวงการคลังอียิปต์คาดการณ์ว่า อียิปต์จะขาดดุลงบประมาณประมาณ 824.4 พันล้านปอนด์อียิปต์ (ประมาณ 26.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีงบประมาณ 2566/2567 ที่เริ่มต้นแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 723 พันล้านปอนด์อียิปต์ ในปี 2565/2566 และ 486.5 พันล้านปอนด์อียิปต์ ในปี 2564/2565 นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายโดยรวมของรัฐบาลอียิปต์มีแนวโน้มสูงขึ้นเป็น 2.07 ล้านล้านปอนด์อียิปต์ ในปีงบประมาณนี้ เพิ่มขึ้นจาก 1.81 ล้านล้านปอนด์อียิปต์ ในปีงบประมาณ 2565/2566
ทั้งนี้ การขาดดุลงบประมาณของอียิปต์ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงแปดปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน มีภาระหนี้สาธารณะกว่า 90% ของ GDP และภาระการจ่ายดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศรวมกันของอียิปต์สูงถึง 52.3% ของรายได้ในปีงบประมาณ 2566/2567 โดยปัจจัยดังกล่าว กอปรกับการลดลงของเงินลงทุนจากภายนอก และภาวะการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ (ดอลลาร์สหรัฐ) ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องย้อนกลับไปยังอัตราเงินเฟ้อและภาวะค่าเงินปอนด์อียิปต์อ่อนค่าด้วย
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของอียิปต์ปรับตัวขึ้นเป็น 35.7% ในเดือนมิถุนายน 2566 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานแตะที่ 41% ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงเมื่อเข้าปี 2567
อย่างไรก็ดี สำหรับเงินปอนด์อียิปต์ได้ลดค่าลงเกือบครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปีที่ 2565 โดยปัจจุบัน อัตราแลกเปลี่ยนทางการของเงินปอนด์อียิปต์ ซึ่งรัฐบาลอียิปต์ได้พยายามพยุงไว้ อยู่ที่ 30.90 ปอนด์อียิปต์ต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งที่ในตลาดนอกระบบเงินปอนด์อียิปต์อ่อนค่าลงไปอยู่ที่ระดับ 40 ปอนด์อียิปต์ต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งมีอยู่ในระบบอย่างจำกัดอยู่แล้วไหลออกนอกประเทศมากยิ่งขึ้น ทำให้ภาวะการขาดแคลนดอลลาร์สหรัฐในอียิปต์ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อการชำระเงินค่าสินค้านำเข้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวยังไม่หมดไป บางกรณีผู้ส่งออกยังรอการพิจารณาอนุมัติการชำระเงินดอลลาร์สหรัฐจากธนาคารกลางอียิปต์เพื่อปล่อยสินค้าที่ติดอยู่ที่ท่ามานานกว่า 1 ปี บางรายจำเป็นต้องพิจารณาทางเลือกอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบจากอายุสินค้าที่ลดลง และค่า demurrage ที่เพิ่มขึ้น เช่น การ re-export หรือการเรียกสินค้ากลับประเทศไทย เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
——————————————–
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)