หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > สถานการณ์เศรษฐกิจการค้าการลงทุน: บริษัทนักลงทุนยักษ์ใหญ่เข้าลงทุนในบริษัทเครื่องสำอางสวีเดน

สถานการณ์เศรษฐกิจการค้าการลงทุน: บริษัทนักลงทุนยักษ์ใหญ่เข้าลงทุนในบริษัทเครื่องสำอางสวีเดน

บริษัทนักลงทุนยักษ์ใหญ่ L Catterton ที่มี LVMH อยู่เบื้องหลังตัดสินใจซื้อหุ้นเพื่อเข้าลงทุนในบริษัทเครื่องสำอางเพื่อดูแลเส้นผม Maria Nila จากสวีเดน

บริษัท Maria Nila ก่อตั้งขึ้นในปี 2542 ชูจุดเด่นผลิตภัณฑ์ราคาที่ไม่แพง เป็นผลิตภัณฑ์การดูแลเส้นผมวีแกน ซึ่งได้รับความนิยมทั้งในหมู่ผู้บริโภค และร้านเสริมสวย ในปี 2565 บริษัทฯ สามารถทำรายได้ได้กว่า 45 ล้านยูโร ซึ่งหลังจากการเข้าลงทุนซื้อหุ้นของ L Catterton นี้ ผู้บริหาร CEO คนเดิมจะยังคงดำรงตำแหน่งเดิม ทั้งนี้ เงื่อนไขของข้อตกลงอื่นๆ ไม่ได้รับการเปิดเผย โดย CEO ได้กล่าวว่า การลงทุนนี้เป็นการลงทุนเพื่อเร่งการเติบโตในระดับสากลของบริษัทฯ โดยปัจจุบันมีสินค้าจำหน่ายใน 45 ประเทศ การเข้าลงทุนในครั้งนี้จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถเร่งการพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์ และแบรนด์ รวมทั้งขยายไปยังตลาดสำคัญๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเพิ่มเติม

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมความงามสวีเดนฟื้นตัวหลังการล็อกดาวน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และเนื่องจากความท้าทายมากขึ้น นักลงทุนจึงมองหาแบรนด์ที่มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ที่สามารถแสดงความภักดีของลูกค้าอย่างแท้จริงนอกเหนือจากยอดการติดตามบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งบริษัท L Catterton จากเพิ่มการลงทุนในแบรนด์ความงามหลายแบรนด์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เข้าถือหุ้นในแบรนด์เครื่องสำอาง Dibs Beauty (เมษายน 2566) แบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวจากอิตาลี Irene Forte (กรกฎาคม 2566) และแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม Maria Nila จากสวีเดนเป็นรายล่าสุด (กันยายน 2566)

โดยทั่วไป ยอดขายผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมในสวีเดนพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เนื่องจากลูกค้าไม่สามารถเดินทางเข้ารับบริการจากร้านเสริมสวยได้ในช่วงล็อกดาวน์ จึงจำเป็นต้องซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมต่างๆ มาดูแลเส้นผมเอง และพบว่า ผู้บริโภคเลือกซื้อแบรนด์สินค้าที่ร้านเสริมสวยเลือกใช้ เช่น Wella Company ซึ่งเป็นที่รู้จักในด้านแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมระดับมืออาชีพ

ตัวแทนของบริษัท L Catterton ให้ข้อมูลว่า บริษัทฯ ต้องการเป็นพันธมิตรกับแบรนด์ที่แตกต่างอย่างแท้จริง และมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และพบว่าแบรนด์ Maria Nila ที่เป็นธุรกิจครอบครัว เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของสวีเดนที่หยั่งรากลึก Maria Nila มีเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์ มีจุดยืนที่โดดเด่น และผลิตภัณฑ์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูง สะท้อนกับความต้องการของผู้บริโภค

บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ข้อเสนอแนะ โอกาสและแนวทาง และความคิดเห็นของสคต. ณ กรุงโคเปนเฮเกน:
• ปัจจุบันสวีเดนมีประชากรรวม 10.54 ล้านคน ในปี 2565 มูลค่าการขายปลีกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ที่ประมาณ 4.2 พันล้านโครนสวีเดน (ประมาณ 379 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมระดับมืออาชีพจากร้านเสริมสวยเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสูงที่สุด มูลค่าการขายปลีกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.3 พันล้าน โครนสวีเดน (ประมาณ 117 ล้านเหรียญสหรัฐ)
• ในปี 2565 ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมจากบริษัท L’Oréal Sverige AB เป็นผู้นำตลาดสวีเดน (Company Share) โดยครองส่วนแบ่งตลาด ค้าปลีกร้อยละ 20.3 รองลงมาได้แก่ Henkel Norden AB, Maria Nila AB, Unilever Sverige AB, Procter & Gamble Sverige AB, Björn Axén AB, SACHAJUAN Haircare AB, Lumene Oy, Lernberger Stafsing AB และ Scandinavian Cosmetics AB ตามลำดับ
• หากดูในด้านแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมที่ใหญ่ที่สุดในตลาด ในปี 2565 ผลิตภัณฑ์จาก Maria Nila มีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดที่ร้อยละ 10.1 รองลงมาได้แก่ Schwarzkopf, Head & Shoulders, Elvital, Kérastase, L’Oréal Paris, Barnängen, Björn Axén, Sachajuan, Garnier Respons และ Sunsilk
• ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมที่เริ่มเป็นที่นิยมในตลาดสวีเดนมากขึ้น ได้แก่ กลุ่ม Clean formulations เช่น ผลิตภัณฑ์วีแกน ผลิตจากส่วนผสมจากธรรมชาติ และใช้สมุนไพรออร์แกนิก และปลอดสารพิษ (non-toxic, natural ingredients) เช่น ปลอดสาร sulphates และ parabens นอกจากนี้ ช่องทางการซื้อขายออนไลน์ยังเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคนิยมมากขึ้นด้วย
• แบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมระดับมืออาชีพที่ร้านเสริมสวยเลือกใช้มีจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้นนอกจากการซื้อสินค้าผ่านช่องทางร้านขายของชำดั้งเดิม
• ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2566 (มกราคม – มิถุนายน) สวีเดนทำการค้าระหว่างประเทศรวม 179.05 พันล้านเหรียญสหรัฐ (-12.92%) โดยมีเยอรมนี นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์เป็นคู่ค้าสำคัญ 3 อันดับแรก ทั้งนี้ สวีเดนส่งออกไปยังทั่วโลกรวม 91 พันล้านเหรียญสหรัฐ (-10%) โดยส่งออกไปยังนอร์เวย์ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกามากที่สุด และสวีเดนนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกรวม 87 พันล้านเหรียญสหรัฐ (-14%) โดยนำเข้าสินค้าจากเยอรมนี นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์ เป็นสำคัญ (สวีเดนนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเป็นอันดับที่ 34)
• ในช่วง 7 เดือนแรกปี 2566 (มกราคม – กรกฎาคม) ไทยส่งออกกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์ รักษาผิวไปยังตลาดสวีเดนรวม 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 200 เป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 33 ของไทยในตลาดสวีเดน

Vogue Business

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login